"เวียดนาม" โกยแซงหน้าอินเดีย อานิสงส์ "ศึกการค้า" สหรัฐ-จีน
หลังจากสหรัฐอเมริกาเปิดศึกการค้ากับจีนมาหลายปี และไม่มีท่าทีจะผ่อนปรนลง แถมยังขยายวงมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐต้องลดความเสี่ยง ด้วยการกระจายหรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นในเอเชีย ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคนี้ต่างแสวงหาโอกาสที่จะได้รับอานิสงส์จากการที่สหรัฐอเมริกาขัดแย้งกับจีน หนึ่งในนั้นก็คือ "อินเดีย"
อินเดียพยายามจะเพิ่มการเติบโตของภาคการผลิตด้วยการฉวยโอกาสจากความขัดแย้งดังกล่าว แต่ผลการศึกษาล่าสุดของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ บริษัทที่ปรึกษาเศรษฐกิจอิสระ พบว่าประโยชน์ที่อินเดียได้รับต่ำกว่าที่คาด เพราะสหรัฐไม่ได้นำเข้าสินค้าอินเดียเพิ่มขึ้นมากอย่างที่หวัง โดยระหว่างปี 2017-2023 สหรัฐนำเข้าสินค้าอินเดียเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% ทำให้ส่วนแบ่งตลาดไปอยู่ที่ 2.7% และนำเข้าจากจีนลดลงราว 8% ทำให้ส่วนแบ่งลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 14%
ส่วนผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดกลับกลายเป็น “เวียดนาม” ซึ่งมีส่วนแบ่งโดยรวมเพิ่มขึ้น 1.7% ไปอยู่ที่ 3.7% เช่นเดียวกับไต้หวัน เกาหลีใต้ ก็ได้รับประโยชน์มากกว่าอินเดีย เพราะสหรัฐนำเข้าเพิ่มขึ้น 1% และ 0.7% ตามลำดับ
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นงานยากของนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” ที่พยายามจะขยายภาคการผลิตของอินเดียให้มีสัดส่วนมากขึ้นในจีดีพีของประเทศ หลังจากสัดส่วนดังกล่าวแน่นิ่งอยู่ที่ 17% ของจีดีพีมาเกิน 10 ปีแล้ว
อเล็กซานดรา เฮอร์มานน์ นักเศรษฐศาสตร์ของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ชี้ว่า จนถึงขณะนี้ความขัดแย้งระหว่าง “สหรัฐ-จีน” ช่วยทำให้อินเดียส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งนั่นเป็นเพราะจุดแข็งการส่งออกของอินเดียส่วนใหญ่ยังพึ่งพา “เศรษฐกิจแบบเก่า” ทำให้ศักยภาพการเติบโตน้อย ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด ทำให้ความหวังของอินเดียที่ว่า ถ้าสหรัฐขัดแย้งกับจีนมากขึ้น และสหรัฐเก็บภาษีสินค้าจีนมากขึ้น จะเป็นโอกาสส่งออกของอินเดียริบหรี่ลง
ทั้งนี้ อินเดียสามารถส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหรัฐได้มากก็จริง แต่ก็นำเข้าชิ้นส่วนจากจีนพุ่งขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์บางอย่างนำเข้าจากจีนสูงถึง 67% บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของอินเดียมีมูลค่าเพิ่มเพียงเล็กน้อย
นอกจากนั้น ถึงแม้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) จะไหลออกจากจีนอย่างมาก แต่อินเดียกลับไม่สามารถดึงดูดเอฟดีไอจากทั่วโลกได้มากเท่าที่ควร
ด้านนางนิรมาลา สิทธาระมาน รัฐมนตรีคลังของอินเดีย ซึ่งไปบรรยายในหัวข้อ “ความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจและคาดการณ์ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมโลก” ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา รวมทั้งการบรรยายที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในหัวข้อ “โอกาสการลงทุนในอินเดีย” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เธอยืนยันว่า แม้สภาพแวดล้อมโลกจะมีความท้าทาย แต่อินเดียอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากโอกาสการเติบโตใหม่ เพราะการที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มทบทวน “ห่วงโซ่อุปทาน” ใหม่ อินเดียก็หวังจะเป็นหุ้นส่วนหลักของหลายประเทศที่จะกระจายความเสี่ยงสินค้าและบริการ
รัฐมนตรีคลังอินเดียกล่าวว่าจะเพิ่มศักยภาพภายในประเทศและสร้างความยืดหยุ่นให้กับอินเดีย เพื่อลดผลกระทบจากแรงกระแทกภายนอก “ทศวรรษที่แล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจโลกขับเคลื่อนโดยการค้าพหุภาคีวงกว้าง แต่ในระยะข้างหน้า ดิฉันคิดว่าการเติบโตของโลกจะถูกกำหนดโดยความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจเชิงกลยุทธ์ และอินเดียก็อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านนี้”
เธอย้ำว่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมโลกที่ซับซ้อนนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคของอินเดียยังแข็งแกร่ง จึงจะเป็นรากฐานที่แข็งแรงสำหรับการสร้างความเติบโตในอนาคต จะเห็นว่าเมื่อปี 2013 เศรษฐกิจอินเดียอยู่อันดับ 10 ของโลก แต่ปัจจุบันอยู่อันดับ 5 ซึ่งไอเอ็มเอฟก็คาดการณ์ว่าอินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกภายในปี 2027 และในอีก 5 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจอินเดียจะมีส่วนในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น 2%
นอกจากนี้ อินเดียก็ได้ปฏิรูปนโยบายการค้าอย่างมาก โดยเน้นไปที่การเข้าร่วมกับหุ้นส่วนเศรษฐกิจหลักมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการส่งออกด้วยการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายชาติ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย
รัฐมนตรีคลังอินเดียย้ำด้วยว่า การที่อินเดียผงาดขึ้นใน “ดัชนีนวัตกรรมโลก” เป็นสัญญาณว่าอินเดียมีศักยภาพที่จะเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดโลก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 28 ตุลาคม 2567