เอกชนมองโค้งท้าย ศก.ไทยฟื้น ปี 66 พุ่งทะยาน ห่วง "การเมือง" ฉุดลงทุน
เศรษฐกิจไทยกำลังเดินทางใกล้ถึงโค้งสุดท้ายของปี 2565 ท่ามกลางปัจจัยลบที่มาจากปัจจัยภายนอก ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติโควิด และความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน ส่วนปัจจัยภายในประชาชนยังลำบาก ค่าครองชีพพุ่ง ราคาสินค้าทุกแขนงปรับยกแผง การเมืองในประเทศยังไม่นิ่ง
ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ตัวแทนภาคเอกชน ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ฟื้นตัวได้ในเร็ววัน โดยมีตัวแปรสำคัญหลายปัจจัยที่จะทำให้ทั้งปี 2565 ดูดีกว่าปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมืองในประเทศด้วย ที่ภาคเอกชนมองว่าการมีเสถียรภาพการเมืองคือประตูสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นกลับมา
จีดีพีค่อย ๆ ฟื้นตัว :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งหลังปี 2565นี้ คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประเมินว่าน่าจะดีขึ้นจึงปรับจีดีพีจาก 2.5% มาเป็น 2.7-3.5% โดยมาจากเหตุผลที่เครื่องยนต์บางตัวดีขึ้น เริ่มจากที่วันที่ 1 ตุลาคมนี้รัฐบาลจะยกเลิกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ทำให้หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจพากันประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยทั้งปีราว 6 ล้านคน ขณะที่ ส.อ.ท.มองว่าน่าจะมากกว่านี้หรือจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยราว 8-10 ล้านคนในปีนี้
นอกจากนี้ด้านการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ยังเป็นบวกที่ 11.5% แม้ภาพรวมการต่อสู้เรื่องภาวะเงินเฟ้อหรือการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจทำให้ 4-5 เดือนที่เหลือแผ่วลงบ้าง โดยส่งออกโดยรวมทั้งปีน่าจะโต 7-8% เพราะได้อานิสงส์จาก 7 เดือนแรกที่ยังขยายตัวสูง เหล่านี้เป็นเหตุผลที่มองว่าจีดีพีไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัว
ส่วนปี 2566 ภาพรวมเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรจะต้องดูเรื่องภาวะเงินเฟ้อ และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจอเมริกา-ยุโรปอาจจะถดถอยลง อีกทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด เพื่อการต่อสู้เรื่องภาวะเงินเฟ้ออีก เหล่านี้ก็จะเป็นปัจจัยเชื่อมโยงกันทำให้การส่งออกของไทยจะไม่ร้อนแรงเท่ากับปี 2565 ขณะที่ปีหน้า (2566) ภาคท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้น จากอานิสงส์นักท่องเที่ยวเข้ามาไทยที่ก่อนหน้านี้มีบางสำนักด้านเศรษฐกิจพูดกันถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาถึง 20 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีอีกตัวปัญหาคือความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันเกรงว่าอาจมีการปะทุขึ้นมาได้ ก็จะไปส่งผลให้ซัพพลายเชนด้านเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป)ที่ไต้หวันเป็นผู้ส่งออกสำคัญ มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ในตลาดโลกสัดส่วนสูงถึง 60% อาจจะสะดุดได้ และจะกระทบเป็นลูกโซ่
การเมืองเสถียรเรียกเชื่อมั่นลงทุน :
นายเกรียงไกร ยังกล่าวอีกว่า นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากภายนอกแล้ว ไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายในด้านการเมืองไทยนับจากนี้ไปด้วย เพราะถ้าเสถียรภาพการเมืองไทยมั่นคง ก็แปลว่าเศรษฐกิจดีด้วย เพราะจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนไทย-เทศที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องดึงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI)เข้ามาโดยเฉพาะจีน ไต้หวัน ที่กำลังโยกย้ายฐานการผลิตเพราะปัญหาความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน
อีกทั้งมีโรงงานจำนวนมากในอเมริกาและยุโรปเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านพลังงาน ขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียคู่แข่งสำคัญของไทยในการช่วงชิงการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)
“โตโยต้าไปลงทุนผลิตรถอีวีที่อินโดนีเซียมูลค่าราว 70,000 ล้านบาท และล่าสุดอินโดนีเซียกำลังทาบทามเทสล่าเข้าไปลงทุนอีก ดังนั้นไทยต้องรีบปักธงเป็นฮับในการผลิตรถอีวีให้ได้ก่อน”
ศก.โค้งท้ายปี 65 ดีแน่นอน :
สอดคล้องกับ นายพงศ์เทพ เทพบางจาก รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยโค้งท้ายปี 2565 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก และจะทำให้จีดีพีทั้งปี 2565 ขยายตัวมากกว่าปี 2564 ทั้งนี้เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณให้เห็นในหลาย ๆ ด้าน
เฉพาะอย่างยิ่งภาคท่องเที่ยวที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ลง ทำให้คาดว่าทั้งปีน่าจะมีนักท่องเที่ยวรวมขยับขึ้นมาในระดับ 10 ล้านคน ขณะเดียวกันปัญหาที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญเกี่ยวกับกำลังซื้อที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ทั้งจากคนจนที่เพิ่มขึ้นและคนรวยที่ไม่ค่อยกล้าใช้เงินก็เริ่มที่จะเห็นภาพที่มีการจับจ่ายใช้เงินในคนกลุ่มหลังมากขึ้น และเมื่อเข้าไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นไตรมาสแห่งเทศกาลต่าง ๆ ก็ยิ่งจะทำให้มีการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นคงจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยโค้งท้ายของปี 2565 ดีขึ้นแน่นอน
ส่วนปี 2566 มองว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในสภาพค่อย ๆ ฟื้นตัว แบบมีรูปทรงเป็นหลักเป็นเกณฑ์มากขึ้น แต่คงไม่ถึงกับโตแบบก้าวกระโดด เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพเหมือนคนโดนป้ายยา เลยมึน ๆ งง ๆ ทำอะไรไม่ถูก แม้ว่าภาครัฐมีเจตนาที่ดีในการแก้ปัญหาแต่เข้าเป้าน้อย ขณะนี้อาการมึนงงจากยาเริ่มหมดฤทธิ์ สติสัมปชัญญะกลับมาคงที่ชีวิตจะค่อย ๆ ฟื้นตัว เราจะเริ่มเห็นทิศทางของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมปรับตัวเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้กลับไปสู่การแข่งขันกับประเทศอื่นได้
โดยภาคเกษตรกรรมจะมีการเน้นการผลิตพืชผักที่มาจาก demand driven มากขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเราจะเริ่มเห็นแนวทางการพัฒนาที่เข้มข้นขึ้นตั้งแต่กลุ่มที่เป็น First Industry ขับเคลื่อนไปสู่ Next-Gen. Industry ที่มีการเน้นถึงประเด็นอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม S-Curve, BCG และ Climate Change เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร
* สู่โหมดเลือกตั้งส่งผลดีต่อทุน FDI
ขณะที่ตัวกระตุ้นอีกด้านหนึ่งคือภาครัฐนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิวัติที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการเข้ามาลงทุนจากทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ฉะนั้นเมื่อเรากำลังเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้ง ตามหลักประชาธิปไตย และหากผ่านไปได้ด้วยดี ย่อมส่งผลดีต่อการลงทุนจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นไปในลักษณะค่อย ๆ ฟื้นตัว คงไม่ถึงขนาดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ส่วนประเด็นการตีความอายุการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ว่าครบ 8 ปีหรือไม่ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่ ทั้งในด้านจิตวิทยาและการคาดการณ์ว่าการอยู่ต่อไปหรือไม่อยู่ต่อไปของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความแตกต่างกัน การไม่อยู่ต่ออาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ซึ่งนักธุรกิจคงไม่ได้มองข้ามเหตุการณ์นี้ แม้ว่าโดยส่วนตัวรู้สึกว่าวัฒนธรรมแห่งการตีความเป็นอุปสรรคแห่งการพัฒนาประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ
หอการค้าฯชี้แรงกดดันจากราคาน้ำมันเริ่มลดลง :
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเศรษฐกิจโค้งท้ายของปี 2565 นี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ฯ แถลงออกมา ใกล้เคียงกับที่ภาคเอกชนประมาณการณ์ โดยหอการค้าไทยมองว่าครึ่งหลังของปีจะมีการเติบโตของเศรษฐกิจฟื้นตัว และขึ้นมาได้ประมาณ 3.8-4.0% ในกรณีที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่รุนแรงและยืดเยื้อ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน จีน-ไต้หวัน และ เงินเฟ้อสหรัฐฯ ทำให้ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งปีนั้นน่าจะอยู่ในกรอบ 3.0-3.5%
สาเหตุหลัก ๆ มาจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดขึ้น แรงกดดันจากราคาน้ำมันที่สูงในไตรมาส 2 เริ่มลดลง และมีนโยบายตรึงราคาน้ำมันและค่าไฟ ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อน่าจะดีขึ้น มองว่าไตรมาสนี้และไตรมาสสุดท้าย การท่องเที่ยวจะดีขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศ ตัวเลขนักท่องเที่ยวน่าจะอยู่ที่ 8-10 ล้านคน มีการกลับมาเปิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนที่รัฐบาลออกมา ทำให้กำลังซื้อในประเทศตอนนี้ไม่ตกลงแม้จะมีสถานการณ์เงินเฟ้อ
นายสนั่น ยังมองอีกว่า ยังโชคดีที่ปีนี้สินค้าเกษตรก็มีทั้งผลผลิตและราคาที่ดีทำให้เกษตรกรมีกำลังซื้อมากขึ้นการส่งออกก็อยู่ในขาขึ้น เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมาในกรอบ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แสดงว่ามีเงินทะยอยไหลเข้ามายังประเทศไทย ดังนั้นก็มองชัด ๆ ได้ว่า ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีขึ้น และจะทำให้จีดีพีปีนี้โตเกิน 3% ได้
สำหรับปี 2566 ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในรูป “เศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัว” ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัว แต่สำหรับประเทศไทยเชื่อว่าจะโตมากขึ้น จากทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว การส่งออกนั้นแม้ว่าประเทศอื่นจะชะลอตัวแต่สินค้าที่ประเทศไทยส่งออกนั้นเป็นทั้งสินค้าอาหารและสินค้าคงทน เป็นสินค้าที่มีความต้องการ ทำให้ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ เช่นเดียวกับด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายของนักเดินทาง เป็นการท่องเที่ยวที่คุ้มค่า ถ้าประเทศจีนเปิดประเทศในปีหน้า ตัวเลขนักท่องเที่ยวคาดว่าจะถึง 15-20 ล้านคนเป็นไปได้แน่นอน
ส่วนปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาแบบไหน สภาฯ ก็ยังเป็นสภาเดิม ถึงแม้จะมีความเสี่ยงทางการเมืองก็ตาม ทั้งมีนายกฯคนใหม่ แต่สภาก็ยังใช้ชุดเดิม หรือ นายกฯอยู่ต่อได้ อาจจะมีปัญหาประท้วงนอกสภาฯบ้าง แต่ก็เชื่อว่าจะไม่รุนแรงวุ่นวาย ดังนั้นเศรษฐกิจก็ยังเดินหน้าต่อได้
ไตรมาส 4 มีความหวังฟื้นตัวดี :
ด้าน นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา มองภาพรวมเศรษฐกิจโค้งท้ายปี 2565 ว่า จากสถานการณ์การระบาดโรคร้ายโควิด-19 ที่ได้ผ่อนคลายลง ประชาชนทั่วไปก็สามารถที่จะใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกมากขึ้นแล้วนั้น ทำให้ภาคการลงทุนจากการแถลงของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เริ่มมีการลงทุนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการนำเข้าสินค้าที่ไม่ใช่ทองคำก็ปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกเซ็กเตอร์ ส่งผลให้ภาคการผลิตสินค้าปรับขึ้นเป็นเงาตามตัว แม้ว่าหมวดการผลิตชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการปรับลดลง แต่ก็ยังไม่กระทบต่อภาพรวมการผลิตมากนัก ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนหรือ Consumption เริ่มดีขึ้น
นอกจากนี้ตัวเลขการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เริ่มมีความหวังมากขึ้น รวมทั้งประเทศคู่ค้าสำคัญหลาย ๆ ประเทศเริ่มมีแนวโน้มจะดีขึ้นบ้างแล้ว จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในโค้งสุดท้ายของปีนี้ เริ่มมีความหวังที่จะฟื้นตัวดีขึ้นด้วย ด้านปัญหาการเมืองไม่ว่าจะออกมาในรูปใดก็ไม่กระทบกับเศรษฐกิจช่วงโค้งท้ายปีนี้แน่นอน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 8 กันยายน 2565