เดินหน้าไทยสู่ OECD ด้วยกลไกความร่วมมือภาครัฐและเอกชน
OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา จัดตั้งขึ้นในปี 2504 โดยมีสมาชิกอยู่ 38 ประเทศ โดยประเทศไทยอยู่ระหว่างรับการคัดเลือกเป็นสมาชิก ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะเป็นประเทศที่สามในเอเชีย นอกเหนือจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ในการนี้ จึงขอหยิบยกประเด็นที่นำเสนอในงานสัมมนา Thailand’s Path to OECD Membership-Reforms, Challenges, Opportunities วันที่ 24 ต.ค. 67 จัดโดย German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance (CPG) ร่วมกับ the Hanns Seidel Foundation Thailand Office และ the Asian Governance Foundation เพื่อแสดงให้เห็นถึงมาตรการที่ไทยกำลังเร่งยกระดับผ่านกลไกความร่วมมือภาครัฐและเอกชนที่ประมวลจากข้อเสนอสมุดปกขาวของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ภายใต้กรอบนโยบายและการกำกับดูแลดังนี้
นโยบายเศรษฐกิจและการเปิดเสรี :
ข้อเสนอจากภาคการค้าคือ “ลดภาระค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการ” ผ่านการควบคุมราคาสินค้าพื้นฐานและบริการที่จำเป็น ได้แก่ การตรึงราคาค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามกลไกไตรภาคี ให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
ข้อเสนอจากภาคการเงิน ประกอบด้วย (1) “ผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบ” โดยสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและภาคธุรกิจที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งรัฐและเอกชน ให้ธุรกิจมีตัวตนในระบบ และเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ในระบบได้
และ (2) แก้หนี้ครัวเรือนอย่างเหมาะสม โดยมี Pathway ของการลดลงของหนี้ที่ชัดเจน ผ่านมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนทั้งในระบบและนอกระบบ ปฏิรูปข้อมูลหนี้ทั้งในและนอกระบบ และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยอาศัยกลไกตลาดควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้
เปิดประตูสู่การลงทุนโดยไม่เลือกปฏิบัติ :
ข้อเสนอจากภาคการค้า อาทิ
(1) ผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนใน EEC โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแผนงาน ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 2 สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 2 และการให้สิทธิประโยชน์ อาทิ การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ตลอดจนการเสนอให้เพิ่มจังหวัดปราจีนบุรีใน EEC
(2) แก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้เงินกู้โดยเฉพาะกลุ่มเริ่มต้นและกลุ่มขาดหลักประกัน และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน 100% ต่อรายได้ และการยกเว้นค่าธรรมเนียม
ข้อเสนอจากภาคการเงิน คือเร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ควบคู่ไปกับการสร้างความต่อเนื่องของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม New S-Curve การเพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงดูดการลงทุนและการถือครองที่ดิน
ความโปร่งใสและความร่วมมือระหว่างประเทศ :
ข้อเสนอจากภาคการผลิต อาทิ
(1) ปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและการทุ่มตลาดจากสินค้านำเข้า โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าไม่มีมาตรฐาน และสำแดงเท็จที่มีการนำเข้าผ่านด่านศุลกากร และที่อยู่ในท้องตลาด
รวมถึงการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่นำเข้า และส่งเสริมความร่วมมือในการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และ
(2) การส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางอากาศ
ข้อเสนอด้านความยั่งยืนคือ
(1) ส่งเสริมการนำกากอุตสาหกรรมไปเป็นวัสดุหมุนเวียน โดยปรับปรุงกฎระเบียบ กฎหมายที่สนับสนุนการนำวัสดุที่เหลือใช้ไปใช้ประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกากอุตสาหกรรม ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มการใช้ประโยชน์วัสดุหมุนเวียน The Circular Material Hub
สนับสนุนมาตรการลดหย่อนทางด้านภาษีและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในการลงทุนธุรกิจการแลกเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ ตลอดจนกำกับ ควบคุม ดูแลการขออนุญาตตั้งโรงงาน Recycle ภายในประเทศของผู้ประกอบการต่างประเทศให้เข้มงวด
(2) บูรณาการเกณฑ์ Climate Change ให้เอื้อต่อการปฏิบัติและเป็นธรรมใน
ทิศทางเดียวกัน โดยเร่งรัด พ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Act) และจัดทำนโยบาย แนวทางการปฏิบัติ สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีการเชื่อมโยง ไม่ซ้ำซ้อน ให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน ทั้งด้านองค์ความรู้ ด้านงบประมาณ และวิธีการดำเนินงาน
ภายใต้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งจากปัจจัยของทิศทางการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี สงครามอิสราเอลในตะวันออกกลาง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนความกังวลของการเผชิญหน้ากันในเอเชียตะวันออก
ประเทศไทยเองซึ่งอยู่ในชัยภูมิที่มีความสมดุลทั้งในแง่สถานที่ตั้งและท่าทีจุดยืน จึงควรสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาคมเศรษฐกิจโลกผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อยกระดับการพัฒนาเชิงโครงสร้างของประเทศให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 29 ตุลาคม 2567