โค้งสุดท้าย ทรัมป์ VS แฮร์ริส ไทยตั้งรับการค้าโลกปั่นป่วน
ทั่วโลกนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 5 พฤศจิกายน 2567 การชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐระหว่าง "โดนัลด์ ทรัมป์" จากพรรครีพับลิกัน กับ "คามาลา แฮร์ริส" จากพรรคเดโมแครต ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งโลก รวมทั้งไทย
ผลโพลจากสำนักต่าง ๆ ที่รวบรวมโดย 538 หรือ “ไฟฟ์เทอร์ตี้เอท” อัพเดต ณ วันที่ 28 ตุลาคม ในระดับประเทศ แฮร์ริสนำทรัมป์ 48.1% ต่อ 46.6% ส่วนในสะวิงสเตต 7 รัฐ ทรัมป์นำแฮร์ริสถึง 5 รัฐ ได้แก่ แอริโซนา 48.7% ต่อ 46.8%, จอร์เจีย 48.6% ต่อ 47.1%, นอร์ทแคโรไลนา 48.4% ต่อ 47.1%, เนวาดา 47.5% ต่อ 47.3%, เพนซิลเวเนีย 47.9% ต่อ 47.6% ขณะที่แฮร์ริสนำ 1 รัฐ คือ มิชิแกน 47.7% ต่อ 47.2% และคะแนนนิยมเสมอกัน 1 รัฐ คือ วิสคอนซิน 47.8% ต่อ 47.8%
ผลการสำรวจระดับประเทศของ “เอเมอร์สัน คอลเลจ โพลลิง” (Emerson College Polling) ที่สำรวจในวันที่ 23-24 ตุลาคม พบว่า ทรัมป์และแฮร์ริสมีคะแนนนิยม 49% เท่ากัน แต่ในอีกคำถามหนึ่งที่ถามว่า “คิดว่าใครจะเป็นผู้ชนะ” โดยไม่คำนึงว่าผู้ตอบแบบสำรวจจะโหวตให้ใคร ผลการสำรวจพบว่า 50% คิดว่าทรัมป์จะชนะ และ 49% คิดว่าแฮร์ริสจะชนะ
จับตาผลกระทบนโยบายทรัมป์-แฮร์ริส
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2567 จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจตามมาจากผลการเลือกตั้งและนโยบายของทั้งสองฝ่าย
ทั้งทรัมป์และแฮร์ริสมีแนวนโยบายต่อการค้าระหว่างประเทศที่ใกล้เคียงกัน คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะยังคงดำเนินต่อไป และอาจทวีความรุนแรงขึ้น โดยจะเกิดการแข่งขันทั้งในด้านเศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยี
สิ่งที่ต่างกันคือ ในกรณีที่แฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง คาดว่าการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดิม อีกทั้งยังคาดว่าแฮร์ริสจะมีการสนับสนุนการค้าเสรีมากขึ้น โดยอาจมีการผลักดันให้สหรัฐดำเนินการเจรจาในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) เสาที่ 1 ให้สำเร็จ รวมทั้งอาจกลับเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยพิจารณาสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP
ในทางกลับกัน หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง นโยบาย “อเมริกามาก่อน” (America First) จะกลับมา ซึ่งทรัมป์มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การออกมาตรการจูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุนกลับสู่สหรัฐ ซึ่งมีผลทำให้บริษัทสหรัฐที่ออกไปลงทุนทั่วโลกย้ายฐานผลิตกลับประเทศ
ด้านการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าจะคงยังยึดมั่นในนโยบายการค้าแบบปกป้อง (Protectionism) และการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Reshoring) และจะให้ความสนใจประเทศอื่นน้อยลง ปรับแก้กฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศ สนับสนุนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และยกเลิกเครดิตภาษีคาร์บอน
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ส่งผลกระทบต่อค่าเงินทั่วโลก และจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และคาดว่าทรัมป์จะมีการใช้มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงสงครามการค้ากับจีนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
ต้องตั้งรับผลกระทบสงครามการค้า
สนค.ประเมินว่า “ไทยอาจจะได้รับประโยชน์” จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทั้งในด้านการย้ายฐานการผลิตของสหรัฐในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ และการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐทดแทนสินค้าจีน ในขณะที่หากสินค้าจีนถูกจำกัดการส่งออกไปสหรัฐ
ไทยควรเตรียมมาตรการรับมือกับการหลั่งไหลของสินค้าจากจีน รวมถึงพิจารณากลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนจากการย้ายฐานผลิตของสหรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยในภูมิภาค และไทยต้องเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนในท่าทีของสหรัฐ และผลกระทบต่อโอกาสทางการค้าในอนาคต
“สิ่งที่จะเจอไม่ว่าใครชนะ การเดินหน้าด้านมาตรการกีดกันทางการค้าจะเข้มข้น ทั้งที่เป็นมาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยแฮร์ริสจะมีมาตรการออกมาที่นุ่มนวล เน้นเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนโดยเฉพาะอีวี ส่วนทรัมป์จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิดจากจีน 60% และจากประเทศอื่น 10%”
ผอ.สนค.กล่าวอีกว่า ประเทศไทยควรดำเนินการในหลายด้าน เริ่มจากภาคธุรกิจที่ควรกระจายความเสี่ยง โดยขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ นอกเหนือจากสหรัฐ พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ควรติดตามนโยบายการค้าและเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับตัวได้ทันท่วงที และพิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดและพลังงานทางเลือก เพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในอนาคต
นักวิชาการแนะไทยส่งออกสินค้าทดแทนจีน
นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และที่ปรึกษา บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจในประเทศของระหว่างทรัมป์และแฮร์ริสเหมือนกัน แต่ทรัมป์มีความเข้มข้นมากกว่า ดังนั้นผลดี ผลเสียจึงแตกต่างกัน
ไม่ว่าใครขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ ธุรกิจไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพราะเชื่อว่านโยบายที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้เป็นทรัมป์จะกลับมา เชื่อว่าการขึ้นภาษีสินค้าที่เข้าสหรัฐจะเพิ่มขึ้น การสร้างมาตรการกีดกันสินค้าจะมีผลกระทบต่อการกีดกันการค้าทางอ้อม ส่วนแฮร์ริสเองจะมีการเก็บภาษีปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) เหมือนสหภาพยุโรป หรืออียู
ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว คือ ผู้ส่งออกไทย สินค้าที่ไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐ จำเป็นต้องหาตลาดอื่นทดแทน บริหารต้นทุนการผลิต ศึกษามาตรฐานสินค้าและเร่งปรับตัว เปิดเจรจาการค้าตลาดใหม่ เพราะทรัมป์เน้นการผลิตในประเทศ ต้องศึกษาสินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษี 60% แล้วส่งออกไปสหรัฐทดแทนสินค้าจีน ต้องดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ถุงมือยาง ล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดึงดูดการลงทุนพลังงานสะอาด ธุรกิจ BCG และเร่งใช้ประโยชน์จากกรอบ IPEF ที่สหรัฐก่อตั้งขึ้น
เอกชนชี้ไทยต้องกระจายความเสี่ยง
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งอาจส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วเศรษฐกิจโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หากแฮร์ริสชนะ เป็นไปได้ว่าการดำเนินการต่าง ๆ จะต่อเนื่องจากนายโจ ไบเดน แต่หากเป็นทรัมป์ชนะ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ได้แก่ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยจะลดการให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง โดยเฉพาะการยกเลิก/ลดการสนับสนุนยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สิ้นสุดในไม่ช้า แต่ในขณะเดียวกัน การลดบทบาทของสหรัฐในการสนับสนุนความมั่นคงในเวทีโลก โดยเฉพาะนาโต (NATO) อาจทำให้มีความขัดแย้งในพื้นที่อื่น ๆ ปะทุได้ง่ายขึ้น
“อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้นจะมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ นำไปสู่ปัญหาห่วงโซ่อุปทานและการค้าโลก มาตรการกีดกันการค้าเพิ่มมากขึ้น ความผันผวนในตลาดการเงินโลก ปัญหาภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ปัญหาการผลิตที่ล้นเกินของภาคการผลิตของจีน”
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชาแนะว่า สิ่งที่ไทยต้องเตรียมพร้อม คือ การปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยการเปิดตลาดใหม่ การกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก การปรับใช้ e-Commerce ในการส่งออกสินค้าไปยังผู้บริโภคทั่วโลกโดยตรง การใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น กรณีสหรัฐปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ทำให้มีแนวโน้มบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น หรือนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นทดแทนสินค้าจีน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ประเทศที่ 3 รวมถึงไทย ในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐ
อีกทั้งสหรัฐอาจดำเนินนโยบายลดความผันผวนทางการค้าและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยเพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบ/สินค้านำเข้า ไม่ให้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สหรัฐตั้งเป้าหมายขยายการผลิตในประเทศ หรือส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ สร้างพันธมิตรทางการค้า และมองหาคู่ค้ารายใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงที่ห่วงโซ่อุปทานจะหยุดชะงัก เป็นต้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ของสหรัฐ สามารถมองเป็นโอกาสของไทยได้
ส.อ.ท.แนะรัฐหาโอกาสเศรษฐกิจมากกว่านี้
นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา “US Election 2024 เจาะลึกศึกชิงทำเนียบขาว” จัดโดยเครือมติชนและพันธมิตรเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ในมุมมองของภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นทรัมป์ หรือแฮร์ริส ล้วนมีนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้าของประเทศตนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นจะต้องวางแผนและเตรียมรับมือ เพราะไม่ว่าใครจะขึ้นมาล้วนมีผลกระทบทั่วโลก รวมถึงไทย
เมื่อสหรัฐได้ประธานาธิบดีแล้ว สิ่งที่จะต้องมองและติดตาม คือ เรื่องสงครามการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามสกุลเงิน และการที่สหรัฐมองประเทศจีนเป็นภัยของประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีโอกาสที่ทำให้สินค้าจีนไหลมาเข้าไทยมากขึ้น เนื่องจากส่งไปขายสหรัฐยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าประเทศไทยไม่ควรแสดงตัวโดยการเลือกข้างใดข้างหนึ่ง แต่ควรวางตัวให้เข้าได้กับทั้งสองฝ่าย ควรทำให้เป็นที่รักของทั้ง 2 ประเทศ การเจรจาพูดคุยจำเป็นจะต้องมีศิลปะ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุนจากทั้ง 2 ประเทศ และต้องแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากทั้งสองฝ่ายให้ได้มากกว่านี้
ส่วนการลงทุนของสหรัฐในไทยยังน้อย สหรัฐมีนโยบายตั้งฐานการผลิตในประเทศที่เป็นพันธมิตรเท่านั้น เรียกว่า นโยบาย ็เฟรนด์ชอริงิ (Friend-Shoring) ซึ่งไทยไม่ได้เป็นหนึ่งใน ็เฟรนด์ชอริงิ ของสหรัฐ ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ของรัฐบาลไทยที่จะทำอย่างไรให้สหรัฐมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทยมากกว่านี้ ภาครัฐจำเป็นจะต้องกำหนดทิศทางนโยบายให้เหมาะสม เป็นมืออาชีพ สร้างความเชื่อมั่นในการดึงการลงทุนและการค้า
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 30 ตุลาคม 2567