คลังคงจีดีพีไทย ปี 67 โต 2.7% ชี้น้ำท่วมปัจจัยลบ ฉุดเศรษฐกิจ
คลังคงประมาณการจีดีพีไทย ปี 67 โต 2.7% ชี้หากไม่มีน้ำท่วม คาดเศรษฐกิจไทยโตสูงกว่านี้ หลังรับแรงส่งจากท่องเที่ยว-ส่งออก-มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ส่วนปี 68 คาดโต 3% ลงทุนปัจจัยหนุนหลัก
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวที่ 2.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2-3.2% ) โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 1.9% ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการจ่ายเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แม้ว่าจะมีสถานการณ์อุทกภัย
“สถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมามีผลต่อเศรษฐกิจ แต่อยู่ระหว่างสำรวจขนาดความเสียหาย เบื้องต้น คาดว่ามูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ภาคที่ได้รับผลกระทบจะเป็นการเกษตร และการท่องเที่ยว ซึ่งหากไม่มีปัจจัยน้ำท่วม คาดว่าปีนี้จีดีพีจะสูงเกิน 2.7% เพราะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ”
สำหรับการท่องเที่ยวนั้น คาดการณ์ว่าทั้งปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 36 ล้านคน เติบโต 28% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยว 1.69 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางเข้ามายังเป็นนักท่องเที่ยวจีน ถือเป็นอันดับหนึ่ง แต่ตัวเลขต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ส่วนในปี 2568 นั้น ประมาณการว่าจะมีนักท่องเข้ามา 39 ล้านคน มีรายได้ 1.86 ล้านล้านบาท
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายตัว 4.6% (ช่วงคาดการณ์ 4.1-5.1%) เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน แม้จะเผชิญแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์อุทกภัย แต่ผลจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐได้ชดเชยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนมากขึ้น
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.9% (ช่วงคาดการณ์ 2.4-3.4%) เนื่องจากมีสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 2 และ 3 จากโอกาสของผู้ประกอบการไทยแทนที่สินค้าจีนที่ถูกปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐอเมริกา
ส่วนการบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 2.1% (ช่วงคาดการณ์ 1.6-2.6%) ด้านการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 0.8% (ช่วงคาดการณ์ 0.3-1.3%)
อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าหดตัว -1.9 (ช่วงคาดการณ์ -2.4 ถึง -1.4%) เนื่องจากการหดตัวของการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือโดยเป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์สันดาปที่ลดลง ซึ่งต้องจับตาการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างใกล้ชิด
นายพรชัย กล่าวว่า ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% โดยการลงทุนจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้รับแรงหนุนจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1) การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3% (ช่วงคาดการณ์ 1.8-2.8%) ขยายตัวเร่งตัวขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2) การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7% (ช่วงคาดการณ์ 4.2-5.2%) จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยากเห็นเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัว 3.5% และค่าเฉลี่ยเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% นั้น มองว่าจะต้องมีการใช้มาตรการกึ่งการคลัง และมาตรการทางการเงินที่สอดคล้องกัน สำหรับค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อ 2% นั้น ต้องใช้เครื่องมือการเงินเข้ามาช่วยในระดับที่เหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
“จากการหารือระหว่างรมว.คลัง ปละธปท. เรื่องกรอบเงินเฟ้อ ทั้งสองฝ่ายก็มีความเห็นตรงกัน มีจุดม่งหมายเดียวกัน คือ การทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่เหมาะสม ซึ่งธปท.จะไปดูการใช้เครื่องมือการเงินในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ”
ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.0% (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.5-1.5%) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวดี ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.7% ของ GDP
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 31 ตุลาคม 2567