มาตรการกระตุ้นได้ผล กิจกรรมการผลิตจีนขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
มาตรการกระตุ้นได้ผล PMI ภาคการผลิต ซึ่งบ่งชี้กิจกรรมการผลิตของจีนในเดือนตุลาคมเพิ่มเป็น 50.1 นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายมีความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป
รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า กิจกรรมการผลิตในเดือนตุลาคมของจีนขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายมีมุมมองเชิงบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งล่าสุด ว่าจะทำให้ประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกกลับมาเข้าร่องเข้ารอยอีกครั้ง
ข้อมูลจากการสำรวจของภาครัฐซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 31 ตุลาคม 2024 ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นเป็น 50.1 จากระดับ 49.8 ในเดือนกันยายน ดัชนีมีค่ามากกว่า 50 ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวจากระดับปัจจุบัน ทั้งยังมากกว่าค่ากลางคาดการณ์ที่ 49.9 จากการสำรวจจัดทำโดยรอยเตอร์
นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่ไม่ใช่ภาคการผลิต ได้แก่ ภาคบริการและการก่อสร้าง เพิ่มขึ้นเป็น 50.2 ในเดือนตุลาคม หลังจากตกลงสู่ระดับ 50.0 ในเดือนกันยายน ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนนั้น ๆ
ผู้กำหนดนโยบายคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นทางการเงินที่ประกาศขึ้นในปลายเดือนกันยายนจะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมูลค่า 19 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 641 ล้านล้านบาท) ของจีน และดึงการกู้ยืมและการลงทุนให้กลับมาเดินหน้าอีกครั้ง จากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำอย่างรุนแรงและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เปราะบางจนเป็นอุปสรรคต่อนักลงทุน
ภาคการผลิตของจีนอยู่ในภาวะหดหู่ยาวนานหลายเดือน จากราคาผู้ผลิตที่ตกต่ำและคำสั่งซื้อที่ลดน้อยลง ยิ่งกว่านั้น การส่งออกซึ่งเป็นประกายแสงเพียงดวงเดียวของจีนในช่วงเวลาเช่นนี้ก็ริบหรี่ลงในเดือนกันยายน อีกทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ยังชะลอตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2023
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงมีความหวังว่าการสนับสนุนทางนโยบายจะเริ่มเห็นผลในไม่ช้า
ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์จีนชี้ว่าแบบสำรวจที่อิงกับความรู้สึกบ่อยครั้งมักจะนำเสนอภาพที่เศร้าหมองออกมามากกว่าตัวชี้วัดทางสถิติ หนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่ากิจกรรมโรงงานจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากกำไรภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนลดลงมากสุดของปี ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) กล่าวในแถลงการณ์วันที่ 27 ตุลาคมว่าเป็นผลจากอุปสงค์ที่มีไม่เพียงพอ
ตัวชี้วัดอื่น ๆ ชี้ว่าแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดที่เพิ่มขึ้นและความต้องการสินเชื่อที่ลดลง ส่งสัญญาณอันตรายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าผลของมาตรการกระตุ้นการเติบโต
ทั้งนี้รอยเตอร์รายงานว่า ในสัปดาห์ข้างหน้า จีนพิจารณาที่จะอนุมัติการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านหยวน (47.24 ล้านล้านบาท) ในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 31 ตุลาคม 2567