ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ กับชะตากรรมของเศรษฐกิจโลก
หากโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ โลกจะปั่นป่วนและคาดเดายากกว่ากรณีที่ คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครตชนะ เพราะทรัมป์อาจจะตัดสินใจออกนโยบายอย่างฉับพลันและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ต่างจากแฮร์ริสที่คาดว่าจะดำเนินนโยบายตามแนวทางของ โจ ไบเดน – คือสิ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ตรงกัน
ไม่ว่าชาวโลกจะอยากให้ฝ่ายไหนชนะก็ตาม แต่ชาวอเมริกันก็ได้เลือก โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำของพวกเขาแล้ว หลังจากนี้คงเป็นหน้าที่ของแต่ละประเทศที่จะปรับตัวรับมือกับผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับ
ภาษีนำเข้าบั่นทอนการค้าโลก :
นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทั่วโลกกังวลมากที่สุดเนื่องจากมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและขนาดใหญ่ที่สุด คือ นโยบายด้านการค้าและภาษีนำเข้า ซึ่งทรัมป์มีนโยบายกดดันการค้าระหว่างประเทศกับจีนเข้มข้นขึ้น โดยเสนอให้สหรัฐตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นอัตรา 60%
ส่วนประเทศอื่น ๆ ทรัมป์เสนอให้เก็บภาษีสินค้านำเข้า 10% ถึง 20% และสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศเป็นระบบต่างตอบแทน (Reciprocity) โดยให้ใช้อัตราภาษีระดับเดียวกันกับที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสินค้าส่งออกของสหรัฐ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บอกคาดการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยไม่ได้เจาะจงผลกระทบจากแผนภาษีนำเข้าของทรัมป์ว่า หากเศรษฐกิจโลกมีการแยกส่วนห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) อย่างจริงจัง และมีการใช้ภาษีนำเข้าสินค้าในวงกว้าง อาจทำให้จีดีพีโลกสูญเสียไปเกือบ 7% ซึ่งเทียบเท่ากับเศรษฐกิจของฝรั่งเศสและเยอรมนีหายไปจากการคำนวณจีดีพีโลก
บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ (Bloomberg Economics) หน่วยธุรกิจวิจัยของกลุ่มบลูมเบิร์ก เผยผลลัพธ์ของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์กรณีสหรัฐขึ้นภาษีตามนโยบายของทรัมป์ว่า สัดส่วนการค้าของสหรัฐในการค้าสินค้าทั่วโลกจะลดลงเหลือ 9% ในปี 2028 จากสัดส่วน 21% ในปัจจุบัน สำหรับจีน การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐจะหายไปเกือบ 90% สำหรับเม็กซิโกและแคนาดา การส่งออกไปยังสหรัฐจะลดลงมากกว่า 50%
ขณะที่สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics : PIIE) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชื่อดังในสหรัฐวิเคราะห์ว่า ผลกระทบในระดับนานาชาติจากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์นั้น มากจน “ประเมินค่าไม่ได้”
โพลิซีเซ็นเตอร์ฟอร์เดอะนิวเซาท์ (Policy Center for the New South : PCNS) กลุ่มงานวิจัยของโมร็อกโกออกรายงานวิเคราะห์ว่า สงครามการค้าและการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจอาจทำให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศอาจจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนเส้นทางการค้าและการย้ายห่วงโซ่อุปทาน แต่ขณะเดียวกัน อีกหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติและประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุด จะต้องเผชิญกับภาวะที่อัตราส่วนการค้าต่อจีดีพีลดลง
เบอร์นาร์ด ยาริส (Bernard Yaris) นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทวิจัยออกซ์ฟอร์ดอีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) วิเคราะห์ว่า การขึ้นภาษีของทรัมป์จะทำให้การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนลดลง 70% จากระดับปัจจุบันที่ลดลงอยู่แล้วจากผลของภาษีนำเข้าที่ทรัมป์ประกาศในปี 2018-2019
โลกเตรียมรับสินค้าจีนถล่ม :
จีนเป็นผู้ส่งสินค้าเข้าสหรัฐมากเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงเม็กซิโก ซึ่งสินค้าส่วนหนึ่งที่ส่งออกจากเม็กซิโกก็เป็นสินค้าของบริษัทจีน
จีนอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ เมื่อสินค้าจีนส่งสินค้าเข้าสหรัฐยากขึ้น แน่นอนว่าจีนจะเทสินค้าไปยังตลาดอื่นแทนตลาดสหรัฐ
ในประเด็นนี้ หลาย ๆ ภูมิภาคกำลังกังวล สื่อในยุโรปเองก็วิเคราะห์ว่ายุโรปอาจจะเป็นตลาดเป้าหมายที่จีนจะส่งสินค้าไปขายมากขึ้น ขณะเดียวกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ของเราซึ่งมีความตกลงการค้าเสรีกับจีน คาดว่าจะต้องรับเต็ม ๆ ดังที่เห็นว่าอาเซียนขาดดุลการค้าจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่ผ่านมา
เงินเฟ้อเด้งกลับ ดอกเบี้ยต้องเข้มตาม :
สินค้าอุปโภคบริโภคในสหรัฐเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก โดยเฉพาะเสื้อผ้าและรองเท้าที่นำเข้าจากต่างประเทศคิดเป็นราว 90% ของทั้งหมด โดยมีจีนเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่
หากสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตามนโยบายของทรัมป์ ต้นทุนภาษีจะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคที่ปลายทาง ครัวเรือนในสหรัฐจะต้องจ่ายค่าสินค้าในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าเกิดภาวะเงินเฟ้อจากแรงผลักของต้นทุน (cost-push inflation)
เมื่อเป็นเช่นนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (Federal Reserve) ก็ต้องใช้นโยบายคงดอกเบี้ยสูงหรือปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้ออีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกอย่างที่เป็นมาในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา
ข้อมูลผลการศึกษาจากสหพันธ์การค้าปลีกแห่งชาติ (National Retail Federation) ของสหรัฐที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมาระบุว่า ครัวเรือนในสหรัฐอาจสูญเสียอำนาจการใช้จ่าย (spending power) มากถึง 78,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หากมีการนำข้อเสนออัตราภาษีนำเข้าของโดนัลด์ ทรัมป์ มาใช้
ธนาคารเจพีมอร์แกน (JPMorgan) วิเคราะห์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การขึ้นภาษีนำเข้าบวกกับการลดภาษีเงินได้ในสหรัฐอาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นประมาณ 2.5 จุดเปอร์เซ็นต์ (percentage point) และหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ธนาคารกลางสหรัฐซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเสถียรภาพด้านราคา อาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตอบสนองด้วยนโยบายการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
ป่วนตลาดเงินตลาดทุน :
ตลาดเงินตลาดทุนจะได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐและนโยบายการเงินเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ
ตลาดเกิดใหม่ที่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากเงินดอลลาร์จะต้องเจอต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน แรงกดดันแบบที่อาจผลักดันอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าในประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทรัมป์เก็บภาษีสินค้าจีนมากกว่า 60%
มีความเห็นจาก เอริก นีลเสน (Erik Nielsen) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ของทั้งกลุ่มยูนิเครดิต (UniCredit) ที่วา คำมั่นสัญญาด้านการคลังของทรัมป์เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐและตลาดการเงินโลก เนื่องจากเป็นคำมั่นสัญญาที่จะขยายการขาดดุลซึ่ง ณ ปัจจุบันก็มากเกินไปอยู่แล้ว ในเวลาเดียวกันในขณะที่เขายังขู่ว่าจะบ่อนทำลายสถาบันสำคัญ ๆ ด้วย
“เราต้องสรุปว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อตลาดการเงินสหรัฐ และต่อเสถียรภาพทางการเงินทั่วโลก” นีลเส็นกล่าว
นอกจากนั้น ทรัมป์แสดงท่าทีที่จะเพิ่มอำนาจของประธานาธิบดีเหนือธนาคารกลางสหรัฐก็จะเป็นอีกส่วนที่กระทบตลาดเงินตลาดทุน แต่จะส่งผลกระทบตลาดสหรัฐและให้อานิสงส์ต่อตลาดอื่น ๆ
สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics : PIIE) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชื่อดังในสหรัฐวิเคราะห์ว่า หากทรัมป์พยายามมีอำนาจเหนือหรือพยายามแทรกแซงการตัดสินใจของธนาคารกลางจริงดังที่เคยบอกไว้ จะส่งผลระทบต่อตลาดทุนสหรัฐ เพราะนักลงทุนจะตอบสนองต่อการสูญเสียอิสระของธนาคารกลางโดยโยกเงินลงทุนออกจากตลาดเป็นจำนวนมาก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567