เกาหลีใต้ เดินหน้า Urban Air Mobility เพิ่มทางเลือกการสัญจร-โลจิสติกส์ในอนาคต
ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคมของเกาหลีใต้ได้ริเริ่มโครงการเคลื่อนย้ายทางอากาศในเมือง (the Korea Urban Air Mobility: K-UAM) เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและมลภาวะทางอากาศ รวมถึงเป็นทางเลือกในการสัญจรและขนส่งสินค้าของคนเกาหลีใต้ในอนาคต โดยอากาศยาน UAM เป็นอากาศยานขนาดเล็ก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากไฟฟ้า (ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์) มีเสียงรบกวนต่ำ สัญจรในระดับความสูง-ต่ำ (แนวดิ่ง) และคาดว่าจะสามารถเดินทางในระยะ 50 กิโลเมตร โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที
โดยแผนการดําเนินโครงการ UAM แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
(1) ปี 2563-2567 ปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทดสอบระบบ
(2) ปี 2568-2572 เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในบางพื้นที่ในเขตเมือง
(3) ปี 2573-2578 ขยายพื้นที่การให้บริการ และ (4) ปี 2578 ให้บริการการเคลื่อนย้าย
ทางอากาศสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ การทดสอบระบบ UAM จะดำเนินการภายใต้ชื่อโครงการ Grand Challenge (GC) โดยแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ช่วง โดยการทดสอบ Grand Challenge 1 (GC1) ซึ่งจะดําเนินการทดสอบสมรรถนะของอากาศยานและระบบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความปลอดภัยในพื้นที่ทดสอบแบบเปิดที่เมืองโคฮึง จังหวัดชอลลานัม หลังจากนั้น จะทดสอบระบบ Grand Challenge 2 (GC2) ซึ่งเป็นการทดสอบในเขตชานเมืองและใจกลางเมืองกรุงโซล และจังหวัดคยองกีต่อไป
สถานะการดําเนินโครงการ :
รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เริ่มทดสอบระบบ Grand Challenge 1 (GC1) ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และมีกิจการค้าร่วมของเกาหลีใต้ จํานวน 6 กลุ่ม ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ได้แก่
(1) กลุ่มบริษัท Korean Air และการท่าอากาศยานอินชอน
(2) กลุ่ม UAMitra ประกอบด้วย Hyundai Motor Group, Hyundai E&C และ KT
(3) กลุ่ม K-UAM Dream ประกอบด้วย SK Telecom, Hanwha Systems และ Korea Airport Corporation
(4) กลุ่ม UAM Future Team ประกอบด้วย Kakao Mobility, LG U+ และ GS E&C
(5) กลุ่ม Lotte Consortium ประกอบด้วย Mint Air Lotte Information & Communication และ Lotte Rental และ
(6) กลุ่ม Daewu E&C และ Jeju Air ทั้งนี้ กิจการค้าร่วมทั้ง 6 กลุ่ม ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบภายในกลุ่มตามความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัท อาทิ การบริหารจัดการในภาพรวม การดูแลระบบจราจร ตลอดจนการก่อสร้างและบริหารจัดการสถานีสําหรับการขึ้น-ลงของ UAM (Vertiport)
ทั้งนี้ รัฐสภาเกาหลีใต้ได้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ UAM (พระราชบัญญัติพิเศษ UAM) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 (โดยมีผลใช้บังคับ 5 เดือนหลังจากการประกาศ) โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวจะอนุญาตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดําเนินการสาธิตและดําเนินธุรกิจ UAM โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายการบิน 4 ฉบับในปัจจุบัน ได้แก่
(1) พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางการบิน (2) พ.ร.บ. ความมั่นคงทางการบิน (3) พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกอบธุรกิจการบิน และ (4) พ.ร.บ. ว่าด้วยการอํานวยความสะดวกที่ท่าอากาศยาน อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในส่วนอื่น ๆ อาทิ การคุ้มครองกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือการกําหนดมาตรฐานการว่าจ้างงานผู้ควบคุมการบิน UAM
ที่มา globthailand
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567