โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไห่หนาน จีนปั้นปี’73 เกาะพลังงานสะอาด
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ พยายามมองหาพลังงานทางเลือกใหม่ที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย ได้นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานและเยี่ยมชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ณ มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
พาไปดูโมเดลและความเป็นไปได้ของพลังงานสะอาดที่เหมาะสมที่สุด ที่ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และอาจนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี)
SMR เทรนด์ใหม่สะอาดคุ้มค่า :
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า ทั่วโลกต่างมีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความเสถียร ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ซึ่งต้นทุนจะค่อนข้างสูง กฟผ.จึงมองหาพลังงานทางเลือกใหม่และบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า นั่นคือ “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก” หรือ SMR (Small Modular Reactor)
ที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้ เพราะแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัม เมื่อเทียบการใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล 50,000-100,000 เท่า และยังสามารถใช้แร่ทอเรียม พลูโตเนียมมาเป็นเชื้อเพลิงหลักได้
ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่มักมีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร แต่ SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร แม้จะใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนประมาณ 2-3 เท่า แต่เมื่อเทียบกับอายุการใช้งานที่นานถึง 60 ปี และมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำมาก สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องนานถึง 24 เดือน จึงจะหยุดเดินเครื่องเพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงบางส่วน ย่อมคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างแน่นอน
ไห่หนานปี’73 เกาะพลังงานสะอาด :
มณฑลไห่หนาน หรือเกาะไหหลำ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่รัฐบาลกลางจีนตั้งเป้าหมายภายในปี 2568 พลังงานที่ใช้ในมณฑลไห่หนาน 50% ต้องมาจากพลังงานสะอาด สู่การเป็น “เกาะพลังงานสะอาด” (Clean Energy Island : CEI) ภายในปี 2573 โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็น 54% พลังงานแสงอาทิตย์ 20% และพลังงานลม 15%
สำหรับโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang NPP เป็นการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างก้าวกระโดดของไห่หนาน เรียกว่า ACP100 หรือ Linglong One เริ่มวิจัยและพัฒนาเมื่อปี 2553 ทำการศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จในปี 2560 และเริ่มก่อสร้างในปี 2564 โดยเป็น SMR แรกของโลกที่ผ่านมาตรฐานการประเมิน GRSR ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)
Linlong One มีกำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 125 ไร่ มีขนาดเล็กและมีความปลอดภัยสูง ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลปฏิกรณ์แบบสำเร็จรูปจากโรงงาน ซึ่งมีขนาดเล็กสูง 10.8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตร หนักประมาณ 300 ตัน มีอายุการใช้งานถึง 60 ปี โดยใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน หรือ PWR (Pressurized Water Reactor) ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน
สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน คาดว่าจะเริ่ม COD ปี 2569
ทั้งนี้ มีการสร้างความรู้และการยอมรับของประชาชน ซึ่งใช้เวลาเกือบ 10 ปี และมอบสิทธิประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ เช่น การจัดสรรเงินรายได้จากการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าเพื่อเป็นทุนการศึกษาของชุมชนท้องถิ่นราว 1.6 ล้านหยวนต่อปี รวมถึงการสร้างถนนบริเวณโรงไฟฟ้าเป็นระยะทาง 17 กิโลเมตร ก่อนจะนำไปจัดทำรายงานประเมินความมั่นคงในท้องถิ่น
ศูนย์ข้อมูลคุมระบบพลังงาน :
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.นำ Data Center มาใช้ประโยชน์ โดยการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE forecast Center หรือ REFC) ที่สำนักงานกลาง กฟผ. สามารถพยากรณ์การใช้ไฟฟ้า 24 ชั่วโมงล่วงหน้า และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าแต่ละชั่วโมงอย่างไร ซึ่งตอบโจทย์การบริหารจัดการด้านพลังงานสีเขียวในอนาคต
ทั้งนี้ ในอนาคตหากได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ รายย่อยมากขึ้นก็จะทำให้มีการพัฒนาโมเดลการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าที่มีความแม่นยำมากขึ้น และขยายผลต่อเนื่องได้อีกด้วย
สำหรับ Hainan Energy Data Center เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนานโยบายด้านพลังงานของมณฑล และเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและให้บริการด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน ประกอบด้วย Data Center 4 ศูนย์ คือ 1.Energy Digital Innovation Center พัฒนานวัตกรรมและบริการด้านพลังงานจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านพลังงาน 2.Energy Data Value Center พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารสินทรัพย์พลังงาน
3.Energy Data Sharing Center พัฒนาแพลตฟอร์มรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลพลังงาน 4.Energy Data Convergence Center พัฒนาแพลตฟอร์มจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลด้านพลังงาน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ในจังหวัด
ผลิตไฮโดรเจนจากโซลาร์ :
นายวีระ ตั้งวิชาชาญ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า แผนพีดีพี 2024 กำหนดสัดส่วนการใช้ไฮโดรเจน 5% นำไปผสมในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ราคาค่าไฟเพิ่มมากขึ้น โดย กฟผ.วางแผนที่จะใช้ไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า
แต่ที่ Haikou photovoltaic hydrogen production and high pressure hydrogenation integrated station ใช้ไฮโดรเจนสำหรับระบบขนส่งรถยนต์ ขณะนี้ไฮโดรเจนถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ตอบสนองนโยบายของภาครัฐในภาคการขนส่ง, ภาคไฟฟ้า มีการวางแผนที่จะส่งไฮโดรเจนเข้าไปในระบบท่อ, ภาคอุตสาหกรรมเพื่อในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neautrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2075
สำหรับไฮโดรเจนในประเทศไทยต้องมาจากพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม กระบวนการนำไฟฟ้ามาผลิตไฮโดรเจนผ่านการแยกน้ำออกมาแล้วนำไฟฟ้าใส่เข้าไป และแยกน้ำ (H) และออกซิเจน (O) และนำไฮโดรเจนที่ได้มาผลิตเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์
ขณะที่สถานีไฮโดรเจนไห่โข่ว เริ่มดำเนินการในปี 2565 เพื่อเป็นสถานีไฮโดรเจนแห่งแรกของมณฑลไห่หนาน ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์ กำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) แยกน้ำเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นนำไปกักเก็บไว้ในถังเก็บไฮโดรเจน 250 กิโลกรัมต่อวัน สามารถเติมให้รถที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจำนวน 100 คันต่อวัน เต็มถังสามารถวิ่งได้ 650 กิโลเมตร
ให้ความรู้เรื่อง SMR ใน ร.ร.-มหาลัย :
แผนการผลิตไฟฟ้าในประเทศจะควบคู่ไปกับแผนพีดีพี และถูกออกแบบตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ โดย กฟผ.อยู่ระหว่างการกำหนดแผนบริหารจัดการปรับเพิ่มเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้มีพลังงานหมุนเวียนประมาณ 19% ขณะที่แผนพีดีพีฉบับล่าสุด ต้องการให้เพิ่มพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 51% เนื่องจากทั่วโลกต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ตามเป้าหมาย โดยการบรรจุแผนโรงไฟฟ้า SMR ไว้ในปลายแผน PDP
อย่างไรก็ตาม ไทยอยู่ในสถานะรอความชัดเจนจากแผนพีดีพี 2024 แต่ กฟผ.ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็นระยะเวลามากกว่า 40 ปี รวมถึงมีการศึกษาและสำรวจพื้นที่ในประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่เจาะจงเป็นพิเศษ โดยมองถึงศักยภาพของพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น มีแหล่งน้ำเพียงพอ สภาพแวดล้อมของชุมชนโดยรอบ
เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และผลกระทบต่อชุมชน สภาพแวดล้อม ตลอดจนเตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ทั้งนี้ กฟผ.เตรียมขยายความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะบรรจุเรื่องโรงไฟฟ้า SMR เข้าไปอยู่ในหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาบุคลากร เยาวชนของชาติให้เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก่อให้เกิดการขยายผลไปสู่ประชาชน บุคลากรทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงและเข้าใจหลักการของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567