"เอกชน" ตั้งรับนโยบาย "ทรัมป์" หวั่นแผนอุตฯย้ายฐานผลิตเข้าไทยสะดุด
"ส.อ.ท." จับตานโยบายทรัมป์ เคลื่อนย้ายฐานทุนส่อชะลอตัว กลุ่มธุรกิจสหรัฐฯ ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ ขออนุมัติลงทุนแล้วยังชะลอตัดสินใจ อาจย้ายกลับสหรัฐจากมาตรการ reshoring "หอการค้าไทย" มองไทยได้เปรียบดึงการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ แนะรัฐบาลเร่งสร้าง Ecosystem หนุนการลงทุน
การก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เกิดการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวนโยบายเศรษฐกิจที่จะส่งผลกระทบมายังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย
ล่าสุดเป็นที่จับตามองว่าคลื่นการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยและในภูมิภาคนี้ หลังจากการเกิดขึ้นของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้มีโรงงานเข้ามาตั้งในไทยเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีมีแนวโน้มที่การลงทุนจากสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง จากการที่นักธุรกิจเลื่อนเผนการลงทุนออกไปเพื่อรอความชัดเจนในเรื่อในนโยบายจากผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ
ส.อ.ท.ห่วงนโยบาย Reshoring ดึงลงทุนกลับสหรัฐ :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กระแสการเคลื่อนย้ายฐานทุนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือโรงงานของจีน และต่างชาติที่เคยใช้ฐานการผลิตในจีนยังคงเกิดกระแสการไหลออกอย่างต่อเนื่อง อีกส่วนหนึ่ง คือ การย้ายกลับถิ่นฐานเดิม (Reshoring) ของบริษัทสัญชาติอเมริกัน ภายใต้นโยบาย “Make America Great Again” ของประธานาธิบดีทรัมป์ในการสร้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
ดังนั้น จึงต้องจับตาดูอุตสาหกรรมสัญชาติอเมริกัน เช่น คลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่อาจไหลทวนกลับไป แม้จะมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้ตั้งโรงงาน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าทรัมป์จะมีข้อเสนอสิทธิประโยชน์ให้นักลงทุนเลือกกลับมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ
“ทรัมป์มีความคิดในทิศทางตรงกันข้ามกับไบเดนโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด ซึ่งเราอาจจะเห็นสหรัฐหันหลังให้กับข้อตกลง Paris Agreement 2015 สนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกลับมาสนับสนุนแหล่งพลังงานฟอสซิลราคาถูกเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ”
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ก่อนการกลับเข้ามาในทำเนียบขาวของทรัมป์จะต้องจับดูอย่างใกล้ชิด ว่ารัฐบาลสหรัฐจะมีการผลักดันและเดินหน้าการทำงานตามนโยบายที่หาเสียงไว้เข้มข้นมากเพียงใด ซึ่งหากมีการผลักดันเรื่องที่หาเสียงไว้ได้อย่างเข้มข้น ก็จะเป็นการส่งสัญญาณให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเพื่อมุ่งหาพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องชะลอการตัดสินใจลงทุนในช่วงเวลานี้ เพื่อรอดูความชัดเจนหลังจากที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง
“ทั้งนี้ การกลับมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาถูกกว่า รวมทั้งการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% ลดเหลือ 15% จะเป็นจุดแข็งและแรงดึงดูดกลุ่มนักลงทุนย้อนศรกลับไปตั้งฐานผลิตในสหรัฐ”
ชี้การขึ้นกำแพงภาษีจีนอาจเพิ่มถึง 100% :
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้เริ่มต้นประกาศสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน อีกทั้งยังประกาศในนโยบายหาเสียงไว้ว่า จะมีการเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้า 10-20% จากประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ ในขณะที่สินค้านำเข้าจากจีนจะโดนภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 60-100%
ดังนั้นบริษัทจีนที่เผชิญหน้ากับกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นจึงย้ายฐานการผลิตมาในไทย เวียดนาม และอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูท่าทีว่าสหรัฐจะจับตาดูการเคลื่อนย้ายฐานทุนจากจีนเป็นพิเศษและเข้มงวดหรือไม่ เพราะรู้ดีว่าทุนจีนย้ายฐานเข้ามาเพื่อแปลงสัญชาติ ขณะที่เชื้อชาติยังคงเป็นของจีนอยู่ ซึ่งอาจทำให้สินค้าแบรนด์จีนที่ส่งออกจากไทยโดนเก็บภาษีในอัตราเดียวกับสินค้าส่งออกจากจีน
“การเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนของจีนมายังภูมิภาคนี้ ทำให้ต้องถูกสหรัฐจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้การส่งออกสินค้าแบรนด์ไทยถูกเหมาโหล รวมกับแบรนด์จีนที่เข้ามา”
ทั้งนี้ กระแสการย้ายฐานการผลิตจะยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิลเ็กทรอนิกส์ แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ไบโอเทคโนโลยี เกษตรและอาหาร และดาต้าเซ็น้ตอร์ เพียงแต่ชะลอตัวลงในระหว่างที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ ไทยยังต้องจับตาดูความสัมพันธ์และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่อาจเปลี่ยนจากพหุภาคีเป็นทวิภาคี คือการเจรจาต่อรองกับคู่ค้าเป็นรายประเทศ ซึ่งเดิมสหรัฐดำเนินนโยบายต่างประเทศภายใต้นโยบาย Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลจากจีนในภูมิภาค
“ตอนนี้ยังต้องเฝ้าติดตามดูว่าตอนปฏิบัติจริงกับตอนหาเสียงไว้จะเหมือนกันแค่ไหน ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องเตรียมแผนสองไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหวังว่าภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกชนทจะได้หารือร่วมกันเพื่อเตรียมรับมือและปรับตัวได้ทัน” นายเกรียงไกร กล่าว
“หอการค้า” ชี้ทรัมป์ 2.0 ดันย้ายฐานการผลิต :
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่านโยบายทรัมป์ 2.0 อาจกระตุ้นให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ออกจากจีนและเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนนั้น ถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่ไทยควรใช้จังหวะเวลานี้เร่งการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้มากที่สุด ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่โอกาสจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น แต่ไทยยังมีโอกาสจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อาจจะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ และพลังงานสะอาด เป็นต้น
โดย หอการค้าฯ มองว่า ไทยมีความได้เปรียบในหลายด้านที่จะสนับสนุนการเข้ามาของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค ซึ่งสะดวกต่อการขนส่งสินค้า สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐ เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม และแรงงานที่มีทักษะด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
ขณะที่ การส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของไทยในปี 2566 มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า (Integrated Circuit - IC) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ
นายสนั่น กล่าวว่า ดังนั้น เพื่อให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมไฮเทคอื่นๆได้อย่างเต็มศักยภาพ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้าง Ecosystem ที่สนับสนุนการเข้ามาลงทุน และพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
รวมถึงการสร้าง Value added และส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content) ให้มากขึ้น ซึ่งจริงๆ จะมี กลุ่มธุรกิจอื่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกเยอะ การสร้าง ecosystem ที่้เหมาะสมจะสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศในระยะยาว
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงภาคอุตสาหกรรมในการรับมือกับนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯสมัยที่ 2 ว่าเรื่องนี้ตนเองในฐานะรองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่าประเทศไทยมีนโยบายที่จะดึงเม็ดเงินการลงทุนจากหลายๆประเทศเข้ามาในไทยไม่เฉพาะจีน หรือสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯนั้น เราก็ต้องจับตาดูนโยบายที่จะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แน่นอนว่าแนวโน้มนโยบายของสหรัฐฯจะเน้นในเรื่องของการผลิตในประเทศ ลดการนำเข้าสินค้าซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาในเรื่องของประเทศคู่ค้า
อุตฯ แนะรับมือสินค้าจีนทะลัก :
ทั้งนี้ในเรื่องของภาคการผลิตเมื่อทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดีมีการวิเคราะห์ว่าจะมีสินค้าและการผลิตจากจีนที่เข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น โดยการลงทุนทางตรงเหล่านี้เราก็ต้องมาหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์ มากขึ้นในแง่ของการกำหนดเงื่อนไขในเรื่องการใช้วัสดุในประเทศ หรือการถ่ายถอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยมากขึ้น
ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องมีการปรับปรุงสิทธิ์ประโยชน์ในการยื่นขอบีโอไอที่จะต้องมีการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ประกอบกันด้วย โดยเงื่อนไขที่จะมีการพิจารณาเช่นเปิดให้มีการร่วมทุนเพื่อให้กิจการของคนไทยได้ประโยชน์มากขึ้น รวมทั้งการจ้างงานในกลุ่มที่เป็นแรงงานที่เป็นแรงงานทักษะสูง ซึ่งเรื่องนี้เราะพูดคุยกับบีโอไอมาตลอดเพื่อให้มีนโยบายที่ยืดหยุ่นและเหมาะสม
ส่วนเรื่องของการดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งสหรัฐฯเป็นผู้นำเข้าจากไทยรายใหญ่ซึ่งเราก็ต้องดูนโยบายในเรื่องนี้ว่าเราจะปรับมาตรการอย่างไรเพื่อให้สามารถดึงการลงทุน และก็สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมด้วย หากปรับตัวได้ทันเราก็จะได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะมีการปรับเปลี่ยนสหรัฐฯเช่นกัน
“ไทยเราก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับการเพ่งเล็งเพราะเราเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯในหลายสินค้า และการกีดกันการค้าก็มีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นเราก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ เพราะว่าในเรื่องนี้เราก็ต้องระมัดระวังไม่ให้สหรัฐฯ เพ่งเล็งเราว่าเราเป็นโรงงานหรือฐานการผลิตสำรองของจีน”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567