นโยบายการชดเชย (Offset): โอกาสสำหรับภาคเอกชนไทย
การหลั่งไหลของสินค้าและบริการจากประเทศจีนเข้ามาในไทย ได้สร้างความท้าทายที่ยิ่งใหญ่แก่ภาคเอกชนในทุกระดับ เนื่องจากจีนได้พัฒนาศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการขนส่ง จนสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
แม้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ทั้งด้านราคาและคุณภาพ แต่สำหรับธุรกิจไทย การปรับตัวนั้นไม่ง่าย เนื่องจากการเข้ามาของจีนเป็นแบบ “กินรวบ” ทำให้ภาคเอกชนไทยมีโอกาสจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สิ่งนี้ทำให้ภาคเอกชนไทยต้องเร่งพัฒนาเพื่อแข่งขันได้ในระยะยาว
แม้ว่าประเทศไทยจะมีมาตรการดึงดูดการลงทุนมาช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ในทางปฏิบัติกลับยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนต่อคนไทยมากนัก นักธุรกิจต่างชาติมักมองว่าเอกชนไทยขาดศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
สถิติในปี 2566 แสดงให้เห็นว่าไทยขาดดุลการนำเข้าเทคโนโลยีถึง 1.55% และในภาคการผลิตขาดดุลถึง 169,921 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่าแม้ภาคอุตสาหกรรมของเราจะมีการส่งออกสูง แต่เรายังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
นี่จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ
ในโลกที่การแข่งขันด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาคเอกชนไทยสามารถสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
การผลิตชิ้นส่วนหรือสินค้าให้ได้มาตรฐานโลกจะช่วยลดการพึ่งพาต่างประเทศ เปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
แต่กระบวนการพัฒนานี้จำเป็นต้องใช้เวลาและทุนอย่างมาก รวมถึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือในกลุ่มเอกชนอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันยังเป็นเรื่องท้าทาย
ปลายปี 2566 รัฐบาลได้ผ่านมติให้มีนโยบายการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในประเทศ อันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ (Offset)
ซึ่งกล่าวโดยง่ายก็คือ การบังคับว่า หากมีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่จากต่างประเทศ ให้เอกชนต่างชาติถ่ายทอดเทคโนโลยีบางส่วนให้เอกชนไทยเป็นการ “ชดเชย”
โดยหวังว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นกลไกที่ช่วยให้การพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยทำได้อย่างก้าวกระโดด
กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพัฒนากลไกเพื่อขับเคลื่อนอยู่ โดยการชดเชยที่เหมาะสมจะไม่จำกัดเพียงเทคโนโลยี แต่อาจรวมถึงกิจกรรมการลงทุน การส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น หรือการยกระดับศักยภาพการเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตโลกของเอกชนไทย
นโยบาย Offset กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ 7 ด้าน ได้แก่ การผลิตวัสดุ ดิจิทัล อวกาศ การแพทย์และสุขภาพ พลังงาน ขนส่งและโลจิสติกส์ และการป้องกันประเทศ
และมีเทคโนโลยีเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ Genomic & Biotech, Material & Nanotech, Digital & AI, Green, Energy & Clean Tech และ Mobility Tech
โดยในปี 2568 คาดว่าจะมีการนำร่องในอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและบรรเทาสาธารณภัย
การใช้ Offset ไม่ใช่แนวคิดใหม่ในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ JAS39 Gripen ของกองทัพอากาศไทยในช่วงปี 2552-2555 ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาระบบ Data Link สำหรับภารกิจที่ไม่ใช่การรบ
อีกทั้งก่อให้เกิดบริษัท RV Connex ที่คนไทยถือหุ้น 100% หรือโครงการทุนการศึกษาระดับ ปริญญาโท 92 ทุน ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสวีเดน แม้ว่าจะมีความสำเร็จในบางโครงการ แต่โครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวงจำกัด
ประเทศมาเลเซียมีแนวทางการชดเชยแบบเดียวกัน ภายใต้ชื่อ Industrial Collaboration Program ซึ่งจัดตั้งหน่วยงานกลาง Technology Depository Agency (TDA) ในการกำกับและขับเคลื่อนนโยบาย ทำให้เกิดการดำเนินการที่เป็นระบบและมีกรณีสำเร็จจำนวนมาก
เช่น การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน Airbus ที่ส่งออกได้ นโยบายนี้ทำให้มาเลเซียสามารถยกระดับศักยภาพการผลิตและแข่งขันในระดับสากลได้อย่างน่าประทับใจ
เกาหลีใต้ใช้ Offset Program โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในเกาหลี นโยบายนี้ช่วยสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของเกาหลีให้แข็งแกร่งขึ้นจนกลายเป็นผู้นำระดับโลกในปัจจุบัน
แม้ว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะเปิดโอกาสกับภาคเอกชน แต่ยังมีประเด็นที่ไทยต้องเตรียมความพร้อม
ทั้งความเข้าใจของหน่วยงานในเรื่องหลักการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขการชดเชย ความซับซ้อนของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ความพร้อมของเอกชนในการรับถ่ายทอด การได้รับใบรับรอง (Certification) ที่จำเป็นเพื่อสามารถแข่งขันในตลาดสากล
ความท้าทายจากข้อตกลงทางการค้า การขาดมาตรฐานเชิงวิศวกรรมที่ชัดเจนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ระบบราง อุตสาหกรรมด้านอวกาศ ซึ่งจำเป็นที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องลงทุนลงแรงไปในทางเดียวกัน
มีการตั้งเป้าหมายและนโยบายระดับชาติ ภาคเอกชนต้องได้รับการสนับสนุนที่เป็นระบบจากภาครัฐในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ภาคเอกชนไทยไม่อาจรอให้ภาครัฐชัดเจนเพียงฝ่ายเดียว การปรับตัวและการวางแผนเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองเป็นสิ่งที่จำเป็นตั้งแต่วันนี้ การรวมกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่เพียงเน้นด้านการค้า
แต่ยังครอบคลุมถึงการสร้างห่วงโซ่การผลิตที่มีความต่อเนื่องและพึ่งพาได้จะช่วยเตรียมภาคเอกชนไทยให้พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นรากฐานสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคต
(บทความโดย ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์ วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์, ธราธร รัตนนฤมิตศร สถาบันอนาคตไทยศึกษา)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567