บริษัท "จีน" ทำการค้าด้วย "หยวน" แต่ออม "ดอลลาร์" ตั้งรับความผันผวน "ทรัมป์ 2.0"
บริษัทใน "จีน" เพิ่มการออม "ดอลลาร์" สูงขึ้น 6.6% มาอยู่ที่ 836,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อตั้งรับความผันผวนของการค้าในยุค "ทรัมป์ 2.0" แต่กำหนดราคาสัญญาเป็นสกุลเงิน "หยวน" พร้อมมองหาตลาดใหม่ เพื่อชดเชยความเสี่ยง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทจีนกำลังเพิ่มการสะสม “เงินดอลลาร์” ปรับเปลี่ยนการกำหนดราคาสัญญาเป็นสกุลเงิน “หยวน” และขยายช่องทางการนำเข้า เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่ผันผวน เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้ส่งออกจีนกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้าในระยะยาว โดยหันไปมุ่งเน้นตลาดในเอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
ถือดอลลาร์ป้องกันความเสี่ยง :
นับตั้งแต่การเลือกตั้งสหรัฐเมื่อวันที่ 5 พ.ย.67 ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหยวนอย่างมีนัยสำคัญ ประมาณ 2% ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และราคาขาย ซึ่งจะส่งผลต่อผลกำไรในที่สุด
เดวิด เจียง ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาการจัดการความเสี่ยง Qian Jing กล่าวว่า มีแนวโน้มที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับเงินดอลลาร์มากขึ้น
บริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ในมณฑลเจียงซูที่มีรายได้ปีละ 300 ล้านดอลลาร์ กำลังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาอัตรากำไร 5% เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายการค้าที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อยอดขาย และผลกำไรของบริษัทอย่างมาก
แม้เผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ บริษัทส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษา และเก็บรักษารายได้จากการส่งออกไว้ในสกุลเงินต่างประเทศ ข้อมูลจากธนาคารกลางชี้ให้เห็นว่าเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยับสูงขึ้น 6.6% มาอยู่ที่ 836,500 ล้านดอลลาร์ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงเหลือ 7.3 หยวนต่อดอลลาร์ ภายในสิ้นปีหน้า สอดคล้องกับมุมมองของหลิว หยาง ผู้จัดการทั่วไปแผนกธุรกิจตลาดการเงินของ Zheshang Development Group ที่มองว่าความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลงต่อไป ทำให้การถือครองสินทรัพย์ดอลลาร์ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ส่งออกชาวจีนนิยมใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยง
ตั้งรับ ‘สงครามการค้า’ ป่วนหนัก :
ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนเผชิญกับความผันผวนอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศเป็นอย่างมาก ค่าเงินหยวนเคยพุ่งสูงขึ้นถึง 10% ภายในระยะเวลาเพียง 18 เดือน ก่อนจะร่วงลงอย่างรวดเร็ว 12% เนื่องจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ และการระบาดใหญ่ของโควิด-19
เพื่อรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดการณ์ได้ยาก ธุรกิจในจีนจึงจำเป็นต้องปรับตัว และวางแผนกลยุทธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยการถือครองดอลลาร์ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการหลายรายเลือกใช้ เนื่องจากดอลลาร์ ยังคงเป็นสกุลเงินหลักที่แข็งแกร่งในตลาดโลก
Nathan Swami หัวหน้าฝ่ายซื้อขายสกุลเงินประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Citi ในสิงคโปร์ มองว่า การปรับเปลี่ยนระบบภาษีศุลกากรที่เข้มงวดขึ้นควบคู่ไปกับการเติบโตของบทบาทเงินหยวนในระบบการค้าโลก อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการค้าบางส่วนอาจไม่จำเป็นต้องใช้ดอลลาร์ อีกต่อไป
ซื้อขายเป็น ‘หยวน’ เก็บเป็นดอลลาร์ :
ข้อมูลล่าสุดจาก SWIFT ระบุว่า ณ สิ้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ส่วนแบ่งของเงินหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 5.77% ซึ่งถือเป็นอันดับสองรองจากดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2563 ที่มีสัดส่วนเพียงราว 2% เท่านั้น
ข้อมูลจากกรมศุลกากร ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในโครงสร้างการส่งออกของจีน โดยสัดส่วนสินค้าที่ส่งไปยังสหรัฐ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน การส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และเม็กซิโก กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ผู้ส่งออกชาวจีนจำนวนมากกำลังหันมาใช้กลยุทธ์ใหม่เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยการเสนอราคาสินค้าเป็นสกุลเงินหยวน หรือเข้าร่วมในกิจการร่วมค้าเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ยั่งยืน ตัวอย่าง เช่น Jacky Wang ซึ่งเป็นผู้ส่งออกไฟ LED ได้เริ่มกำหนดเงื่อนไขการแลกเปลี่ยนเงินตราเองกับลูกค้าในอเมริกาใต้ และแอฟริกา
"แทนที่จะต้องกังวลกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เราสามารถนำเงินที่ได้จากการส่งออกไปซื้อสินค้าภายในประเทศ เพื่อนำไปขายต่อในจีน จากนั้นจึงแปลงกำไรเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย และมีประสิทธิภาพในการจัดการความเสี่ยง"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567