การแก่ตัวของประชากรกับผลกระทบของเศรษฐกิจ
ประชากรไทยกำลังแก่ตัวอย่างรวดเร็ว เพราะคนไทยอายุยืนขึ้นและมีลูกน้อยลง ซึ่งงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการแก่ตัวลงของประชากรนั้นให้ผลไปในทิศทางเดียวกัน
คือ จำนวนและสัดส่วนของประชากรในวัยทำงานที่ลดลง จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง 0.3-0.4% ต่อปี ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ต้องใช้เงินออมไปในการบริโภคมากขึ้น จะทำให้การลงทุนของเศรษฐกิจโดยรวมลดลง ซึ่งจะทำให้จีดีพีขยายตัวลดลง 0.5-0.6% ต่อปี
นอกจากนั้นค่าใช้จ่ายของภาครัฐจะที่ต้องใช้งบประมาณดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จะทำให้ต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นและลดงบประมาณลงทุนลดลง ซึ่งอาจทำให้จีดีพีขยายตัวช้าลงไปอีก 0.2-0.3% ต่อปี
แปลว่า การแก่ตัวลงของประชากร (คือคนแก่เพิ่มขึ้นและแรงงานลดลง) นั้น โดยรวมจะทำให้จีดีพีโตช้าลงได้มากถึง 1.0-1.3% ต่อปี ข้อมูลดังกล่าว เป็นการประเมินอย่างคร่าวๆ สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว
สำหรับประเทศไทยนั้น ทางธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟก็ได้เคยประมาณแล้วว่า ประชากรไทยที่แก่ตัวลงน่าจะทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวลดลงประมาณ 0.8-1.0% เช่นกัน
ส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของไทยคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี จะยังต่ำกว่าของประเทศพัฒนาแล้ว
ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของไทยปัจจุบันเท่ากับประมาณ 5.16% ของจีดีพี ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นใช้เงินประมาณ 10.82% ของจีดีพี เป็นต้น (ข้อมูลของธนาคารโลกปี 2564)
ในเชิงของตัวเลขที่ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นนั้น ผมรวบรวมตัวเลขแรงงานของไทย คือคัดเอาเฉพาะคนอายุ 20-64 ปี (แตกต่างจากข้อมูลทั่วไปที่กำหนดให้คนไทยอายุ 15-60 ปี คือแรงงานของประเทศ) ซึ่งในปี 2563 มีทั้งหมด 43 ล้านคน
สาเหตุที่ใช้ข้อมูลนี้ก็เพราะว่า คนที่อายุ 15-19 ปีในยุคที่เทคโนโลยีขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว และประชากรอายุ 60-64 ปียังจะสามารถทำงานได้จริงนั้น น่าจะสะท้อนศักยภาพที่แท้จริงได้ดีกว่า
แต่จากจำนวน 43 ล้านคนดังกล่าวนั้น แรงงานไทยคาดว่า จะลดลงไปเรื่อยๆ และเหลือเพียง 38 ล้านคนในปี 2583
กล่าวคือ ลดลงมากถึง 5 ล้านคน (ดังนั้น นโยบายนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งนโยบายการให้สัญชาติไทยกับแรงงานต่างด้าว จึงเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องกำหนดให้เหมาะสมที่สุด)
ในอีกด้านหนึ่ง จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างมากคือ ในช่วง 2563-2583 คาดว่าจำนวนคนไทยที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่า จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนเป็น 15 ล้านคน แต่เนื่องจากในช่วงเดียวกันจำนวนเด็กเกิดใหม่จะลดลง จะทำให้จำนวนประชากรโดยรวมลดลงประมาณ 1 ล้านคน
แปลว่า ขนาดของตลาดของไทยจะไม่ขยายตัว ทำให้การชักชวนให้มีการลงทุนในประเทศไทยทำได้ยากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่จำนวนประชากรยังเพิ่มขึ้นและการแก่ตัวช้ากว่าประเทศไทย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
ในส่วนของผู้สูงอายุนั้น ต้องยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผมลองถาม Claude AI ให้รวบรวมข้อมูลดังกล่าว ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
(1)ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ (65 ปีและมากกว่า) จะสูงกว่าค่าใช้จ่ายเดียวกันของคนวัยทำงานประมาณ 3-4 เท่า เช่นในสหรัฐ คนอายุ 19-64 ปี จะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประมาณ 4,500-9,000 เหรียญต่อปี (150,000-300,000 บาท)
แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้นเป็น 65-84 ปี ก็จะใช้เงินประมาณ 640,000 บาทต่อปี และอายุ 85 ปี และมากกว่า จะเพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 1 ล้านบาทต่อปี
(2)สำหรับประเทศไทย คนอายุ 60-74 ปี ประเมินว่า มีค่าใช้จ่ายประมาณ 34,000 บาทต่อปี และคนที่อายุ 75 ปีและมากกว่านั้น เพิ่มขึ้นเป็น 51,000-60,000 บาทต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลจะออกเงินให้ผ่านระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้า
จึงน่าเป็นห่วงรัฐบาลที่ค่าใช้จ่ายตรงนี้จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคตที่ประชากรกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า
(3)ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพนั้น ประมาณการว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายด้านดังกล่าวทั้งชีวิตจะถูกใช้จ่ายในช่วง 5 ปีสุดท้ายของชีวิต และ 3 ปีสุดท้ายของชีวิต (คือ 3-4% ของจำนวนปีที่มีชีวิต) จะต้องใช้เงินดูแลสุขภาพประมาณ 30-35% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ที่สหรัฐนั้นประเมินว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพตลอดชีวิตสูงถึง 75 ล้านบาท ดังนั้นในช่วง 3 ปีสุดท้ายของชีวิต ก็จะต้องใช้เงินประมาณ 22.5-26.5 ล้านบาท หรือ 7.5-8.8 ล้านบาทต่อปี
ตัวเลขข้างต้นเป็นข้อมูลเฉลี่ย ข้อมูลจริงของแต่ละคนย่อมจะต้องแตกต่างกันไป
โดยผมเชื่อว่าตัวแปรสำคัญที่เราสามารถควบคุมได้คือ การดูแลสุขภาพของตัวเองให้ร่างกายแข็งแรงจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการกินอาหารให้น้อยลง
(ปัจจุบันคนน้ำหนักเกินมีสัดส่วนประมาณ 30-40 % ในไทย และ 60-65% ในประเทศพัฒนาแล้ว) เพื่อให้หลีกเลี่ยงการเป็นโรคเรื้อรังที่ค่าใช้จ่ายสูง
เช่น น้ำหนักตัวที่เกินเกณฑ์จะเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นมะเร็ง 13 ประเภท และการเป็นโรคเบาหวานจะทำให้ความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น 5 ประเภท ความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 2 เท่า
ความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (และสมอง) เพิ่มขึ้น 2-4 เท่า นอกจากนั้น สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน ประมาณ 1 ใน 3 จะเป็นโรคไตวายตามมาอีกด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต (lifestyle changes) นั้น พิสูจน์จากงานวิจัยนับร้อยแล้วว่า จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างน้อย 20-30% และจะยังได้โบนัสในเชิงของคุณภาพชีวิตที่ยืนยาวกว่าคนที่ไม่ตั้งใจดูแลสุขภาพของตัวเองครับ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567