"อุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม" โอกาสใหม่ ของภาคธุรกิจไทยในกว่างซี
อุตสาหกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่มีความสำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วง ไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล นอกจากอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแล้ว รัฐบาลกว่างซียังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับกลาง-ปลายน้ำ เช่น การสาวทอไหมในระดับอุตสาหกรรม การย้อม การพิมพ์ลาย ไปจนถึงการผลิตเป็นสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป โดยกำหนดให้ ‘อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม’ เป็น 1 ใน “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย” และเป็น 1 ใน 15 ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเป้าหมายประเภทส่งเสริมของกว่างซี
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีประวัติศาสตร์เก่าแก่หลายพันปี จากการขุดค้นทางโบราณคดีในมณฑลเหอเฝยของจีนพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผ้าไหมมีใช้กันในจีนตั้งแต่เมื่อ 8,500 ปีก่อนในยุคหินใหม่ ซึ่งเก่าแก่กว่าที่มีการสันนิษฐานไว้ก่อนหน้านี้หลายพันปี ซึ่งในปัจจุบันประเทศจีน เป็นผู้ผลิตเส้นไหมรายใหญ่ของโลก อีกทั้งเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นเขตการปกครองตนเองระดับมณฑลที่ยืนหนึ่ง ด้านอุตสาหกรรมหม่อนไหมของประเทศจีนเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา
และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วงไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งในปี 2566 เขตฯ กว่างสีจ้วง มีปริมาณการผลิตรังไหม 461,400 ตัน ไหมดิบ 17,500 ตัน และผ้าไหมดิบ 20.24 ล้านเมตร ซึ่งช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 เขตฯ กว่างสีจ้วงมีปริมาณการผลิตรังไหมรวม 12,100 ตัน และผ้าไหมดิบ 11.9 ล้านเมตร
ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนจากกระแสการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขตฯ กว่างสีจ้วง ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของจีน จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกจากภาวะต้นทุนแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นกลางของคาร์บอน ทำให้โรงงานในพื้นที่ดังกล่าวต้องขยับขยายเข้าไปในพื้นที่ตอนในทางด้านตะวันตกของประเทศ
โดยเขตฯ กว่างสีจ้วงจะดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพและเพิ่มประสิทธิผลในพื้นที่ การพัฒนามาตรฐานให้กับฐานการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจได้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพิ่ม การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาหม่อนไหมใหม่ ๆ การรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมหลังการแปรรูปในกลุ่มผ้าแพรไหมจากภาคตะวันออก
โดยเฉพาะการฟอกขาว การย้อมและการพิมพ์ลาย การส่งเสริมการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม การเพิ่มการสนับสนุนเชิงนโยบายต่ออุตสาหกรรมรังไหมและไหม และการขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมไปสู่ความพรีเมี่ยม ความเป็นอัจฉริยะ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งความได้เปรียบด้านทรัพยากรวัตถุดิบ การคมนาคมขนส่ง และทำเลที่ตั้งใกล้อาเซียน บ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของเครือข่ายอุตสาหกรรม และมอง ‘ตลาดอาเซียน’ เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกที่สำคัญ
นับว่าเป็นโอกาสอันดีของหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนไทย ที่มีความสนใจในการพัฒนาความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี หรือขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรวัตถุดิบในท้องถิ่น ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายของไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ ทั้งในส่วนของธุรกิจสายตรง เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม และธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในตลาดจีน โดยเฉพาะกลุ่มสกินแคร์ เช่น สารสกัดจากรังไหม มาส์กใยไหม แผ่นปิดแผลจากโปรตีนกาวไหม เป็นต้น (ข้อมูล สถานกงสุลใหญ่ ณ หนานหนิง)
ที่มา globthailand
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567