เวียดนาม ชู ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม "เซมิคอนดักเตอร์"
ข้อมูลจากรายงานของ Skills Bridge ระบุว่า ในปี 2566 ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม มีมูลค่า 18,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2572 จะเพิ่มเป็น 31,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 11.5 โดยในปัจจุบัน เวียดนามเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต่างชาติชั้นนําหลายบริษัท ได้แก่ Samsung, Qualcomm, Pegatron, Intel, SK และ Amkor โดยในส่วนของบริษัทสัญชาติเวียดนามเองนําโดย Viettel และ FPT ซึ่งเป็น 2 บริษัทที่มีบทบาทสําคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม ทั้งนี้ เวียดนามยังอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์/อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ 10 อันดับแรกของโลก และเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชียไปยังสหรัฐอเมริกา (ตามหลังมาเลเซียและไต้หวัน)
นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ของ Viettel ระบุว่า ในบริบทของการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งมีแนวโน้มค่อย ๆ ขยับเข้ามายังประเทศในอาเซียน เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีเงื่อนไขและปัจจัยที่พร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ เช่น ระบบการเมืองที่มั่นคง ที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เอื้ออํานวย การมีแหล่งวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ ความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีทันสมัย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่รวดเร็ว โดยการวิเคราะห์ดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของบริษัท AMD ซึ่งระบุว่า เวียดนามอยู่ในตําแหน่งที่เหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากกระแสการเปลี่ยนแปลงการลงทุนเพื่อกระจายห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ขนาดใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าว เวียดนามจําเป็นต้องให้ความสําคัญกับ (1) ทรัพยากรบุคคล (2) ระบบนิเวศ (3) โครงสร้างพื้นฐาน และ (4) นโยบาย/สิทธิประโยชน์
ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์พยากรณ์และพัฒนาทรัพยากรเวียดนามคาดการณ์ว่า เวียดนามยังต้องมีแรงงานที่มีทักษะเพิ่มเป็น 1 ล้านคนภายในปี 2573 เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตน
นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม :
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 นาย Pham Minh Chinh นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ลงนามในมติที่ 791/QD-TTg จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อกํากับดูแลการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารเวียดนามเป็นรองประธาน คณะกรรมการฯ จะรับผิดชอบในการวิจัย ให้คําปรึกษา แนะนํา และกําหนดมาตรการ พร้อมอํานวยความสะดวกในการประสานงานระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศ
และเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ลงนามในมติที่ 1018/QD-TTg ประกาศใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามจนถึงปี 2573 และวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 (The Strategy for Developing Vietnam’s Semiconductor Industry By 2030, With a Vision to 2050) ตามสูตร “C = SET+1”
C ย่อมาจาก “Chip – ชิปเซมิคอนดักเตอร์” – ชิปเซมิคอนดักเตอร์เป็นหัวใจหลักของเทคโนโลยีในการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อสร้างข้อมูลและโลกดิจิทัล เช่น Internet of Things และ Artificial Intelligence
S ย่อมาจาก “Specialized – เฉพาะทาง” – ปัจจุบัน งานต่าง ๆ ต้องการความสามารถในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ เวลาตอบสนองที่รวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง จึงจําเป็นต้องมีชิปพิเศษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน นอกจากนี้ ชิปเฉพาะทางยังขับเคลื่อนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอีกด้วย
E ย่อมาจาก “Electronics – อิเล็กทรอนิกส์” – การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เนื่องจากชิปเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบที่สําคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และต้องมีผลผลิตของผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมการผลิตชิปได้
T ย่อมาจาก “Talent – ทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ” – บุคคลเป็นปัจจัยสําคัญประการหนึ่งในการ ดึงดูดการลงทุนและการผลิต ซึ่งสําหรับเวียดนาม ขั้นตอนแรกของกลยุทธ์เซมิคอนดักเตอร์คือการสร้างเวียดนามให้เป็นศูนย์กลางทรัพยากรระดับโลกในด้านเทคโนโลยี จากนั้นถึงสร้างอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุมต่อไป
+1 คือ “เวียดนาม” – โครงสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกกําลังปรับเปลี่ยนให้มีแหล่งอุปทานที่หลากหลายมากขึ้น โดยเวียดนามปรารถนาที่จะเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ที่ปลอดภัยและเข้มแข็งสําหรับการเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานระดับโลกของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้างต้น เวียดนามกําหนดแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็น 3 ระยะ ได้แก่
(1) ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2567 – 2573 ตั้งเป้าให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทรัพยากรเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ผ่านการเตรียมความพร้อมขั้นพื้นฐานในทุกขั้นตอนตั้งแต่การวิจัย การออกแบบ การผลิต การบรรจุ และการทดสอบสําหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และให้มีบริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์อย่างน้อย 100 แห่ง มีโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ขนาดเล็ก 1 แห่ง และมีโรงงานบรรจุภัณฑ์ 10 แห่ง มีแรงงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จํานวน 50,000 คน นอกจากนี้ กําหนดให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศสร้างรายได้ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี
(2) ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2573 – 2583 กําหนดให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก พร้อมมีการพัฒนาผสมผสานการพึ่งพาตนเองและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และให้มีบริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์อย่างน้อย 200 แห่ง มีโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ 2 แห่ง มีโรงงานบรรจุภัณฑ์และทดสอบผลิตภัณฑ์ 15 แห่ง มีแรงงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จํานวนมากกว่า 100,000 คน นอกจากนี้ กําหนดให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศสร้างรายได้ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี
(3) ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2583 – 2593 กําหนดให้เวียดนามก้าวเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนําของโลก ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเชี่ยวชาญและเป็นเจ้าของงานวิจัยและพัฒนาด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และให้มีบริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์อย่างน้อย 300 แห่ง มีโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ 3 แห่ง มีโรงงานบรรจุภัณฑ์และทดสอบผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ 20 แห่ง นอกจากนี้ กําหนดให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศสร้างรายได้ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี
เวียดนามจะเริ่มดําเนินการเชิงรุกเพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยให้ สิทธิพิเศษและเสนอแรงจูงใจสําหรับโครงการด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและโครงการขนาดใหญ่ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายการลงทุนและภาษีเงินได้นิติบุคคล และมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่
(1) การวางรากฐานสําหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในพื้นที่ต่าง ๆ
(2) การส่งเสริมระบบนิเวศอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์วิจัยชิปที่แข็งแกร่ง เพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
(3) การอํานวยความสะดวกให้แก่ FDI ด้านเซมิคอนดักเตอร์
(4) การลงทุนในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเพื่อตอบสนองความต้องการแรงงาน
โครงการศูนย์ Data Center :
ในฐานะประเทศที่ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและต้องการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ เวียดนามจะมีโอกาสพัฒนาและขยายตลาดศูนย์ Data Center เพื่อรับรองและอํานวยความสะดวกให้กับนักลงทุนในการจัดเก็บและการจัดการข้อมูลพร้อมการดําเนินงานด้าน IT
ซึ่งเวียดนามมีเป้าหมายที่จะกลายเป็นตลาด Data Center ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน (รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย) โดยข้อมูลจากบริษัท Research and Markets ระบุว่า ภายในปี 2573 ตลาด Data Center เวียดนามจะมีมูลค่าเกิน 1,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 10.8 โดยปัจจุบัน เวียดนามมี Data Center ในประเทศจํานวน 29 แห่ง โดยจำนวนนั้นเป็นของบริษัทโทรคมนาคมในประเทศ
ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 97 ได้แก่ VNPT, Viettel IDC, FPT Telecom และ CMC Telecom ดังนั้น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เวียดนามได้เปิดตลาด Cloud Computing และศูนย์ข้อมูลให้กับบริษัทต่างชาติ พร้อมแก้กฎหมายโทรคมนาคมฉบับใหม่ โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในโครงการพัฒนา Data Center ในเวียดนามได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ผ่านมาบริษัท Alibaba, Google, Hyosung และ Amazon แสดงความสนใจในการลงทุนก่อสร้าง Data Center ในเวียดนามเป็นระยะ (ข้อมูล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย, เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์)
ที่มา globthailand
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567