"มาริษ" มอบนโยบายทูตเอเชียใต้ ดัน 3 ความมั่นคง "อาหาร-พลังงาน-มนุษย์" ย้ำยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ภูมิภาคเอเชียใต้มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างไร :
ความสำคัญของภูมิภาคเอเชียใต้ต่อไทยมีมากยิ่งขึ้นในหลากหลายมิติ ทั้งในบริบทของภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ภูมิศาสตร์ของเอเชียใต้นั้นส่งผลให้เอเชียใต้มีภูมิเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะในด้านโลจิสติกส์ซึ่งเป็นจุดเชื่อมทั้งทางบกและทางทะเล ทั้งยังเป็นเส้นทางผ่านด้านการค้าทางทะเลกว่าร้อยละ 50 ของโลก โดยไทยและกลุ่มประเทศเอเชียใต้เองก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือ บิมสเทค ซึ่งมีประชากรรวมทั้งสิ้นเกือบ 2,000 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรของประชาคมโลก ในขณะเดียวกัน ด้วยภูมิศาสตร์ของไทย ทำให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคอีก 2,000 คน เช่นกัน
ในตอนนี้ไทยพยายามมองก้าวไปที่การใช้ความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้เชื่อมต่อกับกลุ่มประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะปากีสถาน ไปที่กลุ่มประเทศเอเชียกลาง ไม่ว่าจะเป็นคาซัคสถาน หรือทาจิกิสถาน ที่จะเป็นบานประตูไปสู่ด้านการค้าทวีปยุโรป ดังนั้นความสำคัญของภูมิภาคเอเชียใต้จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ศรีลังกาและไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาอย่างช้านาน มีความไว้เนื้อเชื้อใจกันและกัน ส่งผลให้สามารถติดต่อกันได้อย่างเป็นยุทธศาสตร์ รวมถึงเรื่องการค้าการลงทุนด้วย
ในส่วนของอินเดียที่เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภูมิภาคเอเชียใต้นั้น ไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน และยังคงสามารถรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างแนบแน่นจวบจนถึงปัจจุบัน ในการเดินทางมาที่อินเดียครั้งนี้ ตนจะพบกับนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียเพื่อหารือเรื่องการร่วมมือกันเพื่อผลักดันและเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งไทยและอินเดียจะเป็นประเทศที่มีบทบาทนำ เพื่อฟื้นฟูความมั่นคงในภูมิภาคให้คืนกลับมา รวมถึงส่งเสริมศักยภาพให้ประเทศในภูมิภาคสามารถมีบทบาทมากขึ้นหลังจากเผชิญกับปัญหาภายในประเทศของตน
นโยบายเช่นนี้เป็นยุทธศาสตร์และนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ (emerging economy) เพื่อไปขับเคลื่อนบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาให้เด่นชัดและมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกลุ่มประเทศที่มีความหลากหลายและมีประชาชนมหาศาล และยังมีความสามารถและมูลค่าการผลิตสินค้า ด้านอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงทำให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก
การมอบนโยบายการต่างประเทศให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยที่ประจำการในภูมิภาคเอเชียใต้ :
ในวาระที่ตนเดินทางมาร่วมงานทอดกฐินพระราชทาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและให้ความสำคัญเรื่องพุทธศาสนา เลยถือโอกาสร่วมประชุมกับเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยที่ตั้งอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ดังที่ตนได้ชี้แจงนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลไทยในรัฐสภาและเน้นย้ำมาโดยเสมอว่า ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ นโยบายสาธารณะและนโยบายต่างประเทศ ใกล้เคียงกันมากและเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะต้องตั้งประชาชนไว้เป็นศูนย์กลางเพื่อให้นโยบายต่างประเทศสามารถเป็นนโยบายที่จับต้องได้ และไม่ใช่แค่นำมาซึ่งผลประโยชน์ของประเทศเท่านั้น แต่ต้องนำมาซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประชาชนด้วย
ด้วยเหตุนี้ การดำเนินการด้านการต่างประเทศของไทยต้องวางอยู่บนพื้นฐานด้านความมั่นคง 3 ด้านได้แก่ ด้านอาหาร ด้านพลังงานและด้านมนุษย์ โดยในด้านอาหารนั้น ไทยและกลุ่มประเทศเอเชียใต้มีศักยภาพและความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสำคัญ 2 ประการ ประกอบด้วย เรื่องธัญพืช โดยไทยและอินเดียมีศักยภาพในการปลูกข้าวแม้ว่าจะต่างชนิดกันทำให้สามารถการันตีได้ว่าความมั่นคงด้านอาหารจะสามารถบรรลุได้ อีกประการคือเรื่องการประมง เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และไทยมีจุดเชื่อมต่อกันผ่านมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก จึงสามารถส่งเสริมให้เกิดการทำประมงร่วมได้
ตนยังเน้นย้ำกับเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ถึงความสำคัญของห่วงโซ่คุณค่าทั้งระบบ โดยมีต้นน้ำคือเทคโนโลยีและการพัฒนาวิจัยพันธุ์พืช พันธุ์ปลาและพันธุ์สัตว์น้ำทั้งหลาย นำไปสู่ธุรกิจกลางน้ำ นั่นคือการประมงปลา รวมทั้งการนำทรัพยากรทางน้ำมาแปรรูปเป็นอาหารแปรรูป และปลายน้ำคือ เครือข่ายของการตลาด ในส่วนนี้ด้วยที่ตั้งของไทยที่ทำให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทำให้ไทยสามารถเชื่อมต่อตลาดที่มีผู้บริโภค 2,000 ล้านคนทางฝั่งตะวันตกและอีก 2,000 ล้านคนทางฝั่งตะวันออกได้
ความมั่นคงด้านที่ 2 คือ ความมั่นคงด้านพลังงาน ในระหว่างการหารือกับนายชัยศังกร รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย ตนจะผลักดันให้ไทยกับอินเดียมีความร่วมมืออย่างแนบแน่นในเรื่องของการพัฒนาพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพและสามารถพัฒนาร่วมกันได้อย่างดี ซึ่งนำมาสู่ผลประโยชน์ที่ส่งผลอันดีกับประชาชนของทั้งสองภูมิภาค
ความมั่นคงด้านที่ 3 คือ ความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในเรื่องนี้มากและสามารถร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ได้ โดยไทยเป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมจากประชาชมโลกในเรื่องการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงเรื่องการรักษาพยาบาล อีกทั้งไทยยังมีศักยภาพในการพัฒนายาและวัคซีนที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เกิดในเขตร้อน ซึ่งศูนย์เวชศาสตร์เขตร้อนของไทยนั้นสามารถให้ความรู้และมีความร่วมมือทางด้านเวชภัณฑ์ ยารักษาโรคประกอบกับความรู้ด้านวัคซีนรักษาโรคที่เกิดขึ้นในอินเดียได้อย่างดี ขณะที่อินเดียเป็นประเทศที่มีความสามารถในการผลิตยาและวัคซีนสูง เมื่อมารวมกับศักยภาพของไทย ตนเชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศจะสามารถร่วมกันพัฒนาภูมิภาคเอเชียใต้ได้อย่างสมบูรณ์และนำมาซึ่งความมั่นคงของมนุษย์ได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ไทยมีความสามารถเรื่องเทคโนโลยีในการผลิตยุทโธปกรณ์ได้ในระดับหนึ่ง เป็นเป็นอีกสาขาที่ไทยพยายามมองว่าลู่ทางและโอกาสที่จะมีการร่วมมือในการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อความมั่นคงทางทหารและการเมืองด้วย
ในเรื่องของการท่องเที่ยว จะเน้นไปที่การทำให้การท่องเที่ยวมีคุณภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อระหว่างอารยธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งตรงนี้จะใช้ประโยชน์จากการที่ไทยมีสถานที่ตั้งเป็นยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มมูลค่ามากยิ่งขึ้น ประสบความสำเร็จ และนำมาสู่ผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนมากยิ่งขึ้น
การพบปะกับสมาชิกมูลนิธิ Vivekananda International Foundation (VIF)
ในการเยือนอินเดียครั้งนี้ ตนเดินทางไปพบปะหารือกับมูลนิธิ Vivekananda International Foundation ที่เป็น Think Tank ที่สำคัญไม่ใช่แค่กับรัฐบาลอินเดียเท่านั้น แต่ยังให้คำแนะนำกับทุกๆ องค์กร ไม่ว่าจะเป็นในอินเดียเองหรือในต่างประเทศ โดยเป้าหมายของมูลนิธิคือเพื่อส่งเสริมและเชื่อมโยงอารยธรรมและวัฒนธรรม และพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์และการเมือง
ตนต้องการผลักดันให้มูลนิธินี้มีความร่วมมือกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นสถาบัน Think Tank ภายใต้กฎหมายของอินเดียเช่นกัน และมีเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 คือ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ โดยให้ความสำคัญเรื่องความร่วมมือด้านพุทธศาสนาเป็นหลัก การพบกันในครั้งนี้จึงเป็นความพยายามให้เกิดการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการร่วมมือระหว่างสถาบันที่เป็นองค์กรอิสระกับมูลนิธิ VIF เพื่อมุ่งหวังที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับประชาชน
เรื่องพุทธศาสนานี้ก็เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ให้ความสำคัญ เมื่อครั้งที่กล่าวว่าศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของเอเชียนั้น เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียได้เข้าถึงและเชื่อมโยงระหว่างกันได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่ความร่วมมือภาคประชาชนให้มีความเข้าใจในหลักธรรมที่ชัดเจน ความสันติและความสงบสุขให้เกิดขึ้น ท่ามกลางความแตกแยกที่มากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ประเทศต่างๆมีความขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้น
อีกทั้ง MOU นี้จะเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐที่จะใช้เชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับประชาชน มุ่งไปสู่สันติภาพและความร่วมมือระหว่างประชาชนและประชาชนให้ได้รับการยอมรับ รวมถึงผลักดันให้เป็นที่เข้าใจภายใต้กลไกของสหประชาชาติด้วย
หมายเหตุ: นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชน หลังการประชุมร่วมกับเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทย ที่ประจำการในภูมิภาคเอเชียใต้ ระหว่างการเดินทางไปร่วมพิธีทอดกฐินพระราชทานที่ประเทศอินเดีย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567