"นิวเคลียร์" คืนชีพ แหล่งพลังงานทดแทนน้ำมัน
การนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950-1960 ด้วยเหตุที่ว่า ศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าสูงจนแทบเรียกได้ว่าเป็นอนาคตที่น่าทึ่งของมนุษยชาติ
เปรียบเทียบได้ง่าย ๆ ว่า ยูเรเนียม 1 กิโลกรัมสามารถให้พลังงานได้มากกว่าถ่านหิน 1 กิโลกรัม ถึงราว 20,000 เท่า
แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หลายครั้ง สร้างภาพในเชิงลบต่อแหล่งพลังงานนี้ ครั้งใหญ่ที่สุดและร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ก็คือ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อต้นปี 1986 ก่อนที่จะตอกย้ำด้วยเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟูคูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่น เมื่อปี 2011 ซึ่งส่งผลให้โรงไฟฟ้าชนิดเดียวกันทั่วประเทศถูกปิดตาย มีเพียง 12 โรงเท่านั้นที่ยังคงเปิดให้ผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่หลังจากนั้น
ประเทศอื่น ๆ พากันทยอยปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของตนเองเช่นเดียวกัน เยอรมนีไปไกลถึงขนาดตัดสินใจเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดในตอนนั้น ตามรายงานของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าในช่วงระหว่างปี 2011 จนถึงปี 2020 ทั่วโลกลดการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนิวเคลียร์ลงรวมกันมากถึง 48 จิกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ก็ไม่ได้ยุติลงโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่นที่ประเทศจีน หลังปี 2011 เรื่อยมา จีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นจาก 13 โรงในปีนั้น เป็น 55 โรงในปีนี้ โดยมีอีก 23 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกต่างหาก
สำหรับผู้ที่สนับสนุนการใช้นิวเคลียร์ผลิตกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่เพียงตอบสนองความต้องการกระแสไฟฟ้าได้เท่านั้น ยังเป็นไปตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามที่นานาชาติทำความตกลงไว้ในการประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือที่เรียกกันว่าความตกลงปารีสอีกด้วย
ภายใต้บริบทด้านพลังงานทั่วโลกในเวลานี้ หลายต่อหลายประเทศพากันหันมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ที่เคยประกาศว่าจะทยอยลดใช้พลังงานนิวเคลียร์ลงจนหมดในช่วงระยะเวลา 40 ปี เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เปลี่ยนใจ ยกเลิกการดำเนินการตามแผนดังกล่าว และเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นแทน
ฝรั่งเศสเองก็เช่นเดียวกัน ไม่เพียงประกาศยกเลิกแผนพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์แต่เดิมของตนเท่านั้น แต่ยังประกาศที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ขึ้นอีก 8 โรงอีกต่างหาก
สหรัฐอเมริกาประกาศไว้ในการประชุมโลกร้อนครั้งล่าสุด หรือค็อป 29 ที่อาเซอร์ไบจาน ว่ามีความประสงค์จะเพิ่มการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนิวเคลียร์ให้มากขึ้นเป็น 3 เท่าตัวภายในปี 2050 นี้ สอดคล้องกับการประกาศของ 31 ประเทศที่เคยประกาศไว้ในการประชุมครั้งก่อนหน้า (ค็อป28) ว่าจะพยายามใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มให้ได้เป็น 3 เท่าตัวภายในปี 2050 ใน 31 ประเทศดังกล่าว มีอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น รวมอยู่ด้วย
ที่อาเซอร์ไบจาน ในการประชุมครั้งล่าสุดที่เพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาและอังกฤษประกาศร่วมกันว่าจะเร่งพัฒนาการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ใหม่ของตนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อผลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อต่อต้านภาวะโลกร้อน
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกก็คือ บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีก็หันกลับมาทุ่มเทความพยายามเพื่อพัฒนา และมีการประยุกต์ใช้พลังงานนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นทุกที ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลในการพัฒนาและวิจัยเอไอ ตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟท์ที่เพิ่งลงนามในสัญญาระยะยาว 20 ปี กับบริษัท คอนสเตลเลชัน เอเนอร์ยี เพื่อซื้อพลังงานที่บริษัทผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ ทรีไมล์ ไอส์แลนด์ ซึ่งเคยเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1979
หรือในกรณีของกูเกิล ซึ่งตกลงซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเตาปฏิกรณ์รูปแบบใหม่ ที่เรียกกันว่าเตาปฏิกรณ์ประกอบสำเร็จขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอาร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่ช่วยให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีขนาดเล็กลง ประกอบสำเร็จรูปเพื่อนำไปติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญมีต้นทุนถูกลงกว่าเดิม ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีอย่าง อเมซอนก็หันมาสนับสนุนการพัฒนา และการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์แบบเอสเอ็มอาร์แล้วเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมเห็นต่างกันเป็นสองขั้วตลอดมา ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่านี่คือพลังงานสะอาดและปลอดภัย อีกฝ่ายย้ำว่า ไม่เพียงไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งเท่านั้น ยังเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อโลก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึง “กาก” นิวเคลียร์
กากนิวเคลียร์จากเตาปฏิกรณ์ดูเหมือนจะยังเป็นปมสำคัญที่ขัดขวางการก้าวสู่ยุคพลังงานนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์อยู่ในขณะนี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567