วัดชีพจรเศรษฐกิจประเทศชั้นนำ ปี 2568 อาเซียน-อินเดีย ยังโตแรง
KEY POINTS :
* สศช.ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2568 และการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ แม้ปีหน้าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีกว่าปี 2567 แต่ก็ยังมีความเสี่ยง
* หลายประเทศเศรษฐกิจสำคัญของโลก GDP ปี 2568 ยังคงขยายตัวได้น้อย โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน คาดเศรษฐกิจปีหน้ายังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง
* เศรษฐกิจของประเทศอาเซียนหลายประเทศ รวมทั้งอินเดีย ถือเป็นกลุ่มประเทศที่อัตราการขยายตัวของ GDP ยังคงเติบโตในอัตราที่สูงหว่าหลายประเทศ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2568 และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ ทั่วโลก ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน
แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเผชิญความเสี่ยงที่สำคัญเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ตลาดเงินและตลาดทุนยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความผันผวนท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลาง
ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งในตะวันออกกลางและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงกดดันต่อระดับราคาพลังงาน
ทั้งนี้ การคาดการณ์ในกรณีฐานยังไม่ได้รวมผลจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนทั้งรูปแบบและช่วงเวลาของการดำเนินมาตรการ
รวมทั้งสมมติฐานที่คาดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค ยังอยู่ในวงจำกัดและไม่ได้ยกระดับความรุนแรงมากขึ้นจากในปัจจุบัน จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินโลกอย่างมีนัยสำคัญ
ภายใต้สมมติฐานในกรณีฐานดังกล่าว คาดว่า เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 3% เท่ากับปีก่อนหน้า ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ มีแนวโน้มแยกเป็นรายประเทศดังนี้
เศรษฐกิจสหรัฐฯ :
คาดว่าจะขยายตัว 2.2% ชะลอลงจาก 2.6% ในปี 2567 ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่ได้รับแรงกดดันจากตลาดแรงงานที่มีสัญญาณของการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนตุลาคม 2567 เพิ่มขึ้นเพียง 1.2 หมื่นตำแหน่ง เทียบกับระดับ 2.23 แสนตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 46 เดือน
เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2567 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% เทียบกับ 3.8% ในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง สอดคล้องกับมูลค่าการก่อสร้างที่ชะลอลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี อุปสงค์ภายในประเทศยังมีแรงสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายหลังจากที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแรงขับเคลื่อนจากการดำเนินนโยบายการคลังมีแนวโน้มจะเข้มงวดมากขึ้นและช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ลดลงท่ามกลางสัดส่วนหนี้สาธารณะ ในปีงบประมาณ 2567 ที่อยู่ในระดับสูง คิดเป็น 123% ต่อ GDP และการขาดดุลการคลังที่สูงกว่า 1.83 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 3 ปี
เศรษฐกิจยูโรโซน :
คาดว่าจะขยายตัว 1.1% ในปี 2568 ฟื้นตัวขึ้นจากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำที่ 0.6% ในปี 2567 ตามแนวโน้มการฟื้นตัว ของอุปสงค์ภายในประเทศที่ได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้าง รวมทั้งแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป
ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคมที่ปรับเพิ่มสู่ระดับ (-12.5) สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 20.1 เทียบกับ 9.3 ในเดือนก่อนหน้า และสูงสุดในรอบ 3 เดือน
อย่างไรก็ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้น ซึ่งยังได้รับผลกระทบจากระดับราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง อาทิ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
เศรษฐกิจญี่ปุ่น :
มีแนวโน้มขยายตัว 1% ในปี 2568 ฟื้นตัวจาก 0.0% ในปี 2567 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับอานิสงค์จากการเพิ่มขึ้นของฐานรายได้ จากการปรับขึ้นของค่าตอบแทนแรงงาน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะส่งผลดีต่อภาคบริการที่เกี่ยวข้อง
เช่นเดียวกับภาคการลงทุนและการผลิตที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากการคลี่คลายของปัญหาในภาคการผลิตรถยนต์ รวมถึงแนวโน้มการฟื้นของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ตามวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากการอ่อนค่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2529 ในช่วงที่ผ่านมา
เศรษฐกิจจีน :
คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ในปี 2568 ชะลอลงจากร้อยละ 4.7 ในปี 2567 โดยเป็นผลมาจากความยืดเยื้อของปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการฟื้นตัวที่ล่าช้าของอุปสงค์ภายในประเทศ ส่งผลให้ภาคการผลิตยังคงเผชิญกับปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน (Overcapacity) ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินฝืด รวมถึงการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับระดับสินค้าคงคลังของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการดไเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางจีน ควบคู่ไปกับการดไเนินนโยบายการคลังขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
เศรษฐกิจอินเดีย :
คาดว่าจะขยายตัว 6.5% เทียบกับ 6.8% ในปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือนคาดว่าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในชนบทมีแนวโน้มจะขยายตัวในเกณฑ์ดีจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวในระดับสูง รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือการจ้างงานของรัฐบาล ขณะที่ภาคการผลิตที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐในระยะต่อไปมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงตามแนวนโยบายการปรับลดการขาดดุลการคลังของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้แรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวลงหลังจากเร่งขึ้นในช่วงของการเลือกตั้ง ในปีงบประมาณ 2567
ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะระดับราคาอาหาร ส่งผลให้ธนาคารกลางอินเดียมีข้อจำกัดในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) :
มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างที่แท้จริง รวมถึงแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางตามการลดลงของแรงกดดันเงินเฟ้อที่เริ่มกลับมาอยู่ในระดับกรอบของเป้าหมายนโยบายการเงิน
ขณะที่ ภาคการส่งออกยังได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มการพัฒนาของเทคโนโลยีระดับสูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ส่งผลให้ความต้องสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ในปี 2568 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ เศรษฐกิจฮ่องกง และเศรษฐกิจสิงคโปร์ มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 2.2% 3% และ 2.5% ต่อเนื่องจาก 2.4% 2.8% และ 2.5% ในปี 2567 ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจไต้หวันคาดว่าจะขยายตัว 2.7% ชะลอลงจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ 3.7% ในปีก่อนหน้า ตามฐานการขยายตัวที่กลับเข้าสู่ระดับปกติ
เศรษฐกิจอาเซียน :
มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางและการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า อย่างไรก็ตามยังคงมีความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลต่อภาคการส่งออก รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากการไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลก
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2568 เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะขยายตัว 5% 4.4% 6.1% และ 5.8% เทียบกับ 5% 4.6% 5.8% และ 6% ในปี 2567 ตามลำดับ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567