แบงก์ชาติชี้ การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน คือ "ทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก"
แบงก์ชาติเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของ “การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Finance ชี้เป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก
นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวปาฐกถาพิเศษ
งาน Sustainability Forum 2025
หัวข้อ “Climate Finance toward SDGs” เพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของ “การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ Climate Finance รวมถึงบทเรียนต่าง ๆ ที่ได้จากการทำงานดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา
โดยมองว่า เงินทุนเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านโลกใบนี้ไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
แต่ทว่าข้อมูลจากรายงาน Global Landscape of Climate Finance 2024 ซึ่งจัดทำโดย Climate Policy Initiative (CPI) ชี้ว่า Climate Finance ยังมีน้อยเกินไป มูลค่า Climate Finance ของปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนเงินที่โลกต้องการเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งสูงถึง 7.4 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า Climate Finance เป็นประเด็นที่ท้าทายมากในระดับโลก และยังคงต้องหาทางจัดการกันต่อไป
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่านคงจะได้ยินข่าวการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 หรือที่รู้จักในชื่อ COP29 ซึ่งจัดขึ้นที่
กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ในปีนี้ที่ประชุม COP ได้หยิบยกเรื่อง Climate Finance มาเป็นประเด็นหลักในการหารือ
โดยพยายามผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มเป้าการจัดสรรเงินทุน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของประเทศกำลังพัฒนา โดยเรียกร้องให้ขยับจากระดับปัจจุบันที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี เป็น 5 แสน - 1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี
แต่ในที่สุดแล้ว COP29 ก็ไปไม่ถึงระดับดังกล่าว โดยบรรลุข้อตกลงการตั้งเป้าจำนวนเงินได้เพียง 3 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปีภายในปี 2035 ท่ามกลางความผิดหวังของประเทศกำลังพัฒนาที่มองว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยเกินไปและมองว่าเป้าหมายที่ตั้งเป็นเพียง “ภาพลวงตา”
เพราะที่ผ่านมาการจัดสรรเงินทุนเหล่านั้นมักไม่เป็นไปตามเป้าหมายอยู่แล้ว เช่น เดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะสนับสนุน climate finance 1 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี ภายในปี 2020 ก็ไม่บรรลุจนกระทั่งปี 2022 ซึ่งแปลว่า มีความเสี่ยงที่เงินทุนที่จะได้รับจริงจะยิ่งน้อยลงไปอีก
หากกลับมามองประเทศไทย ก็พบว่าเรายังต้องใช้เงินจำนวน 5-7 ล้านล้านบาท ในการสนับสนุนการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ Nationally Determined Contributions (NDCs) ภายในปี 2030
อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ต้องพิจารณาของประเทศไทย เนื่องจากยังมีความท้าทายอีกหลายประการจากบริบทเฉพาะตัวที่แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่
1)โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมียังสัดส่วนธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ brown อยู่มาก โดยภาคอุตสาหกรรมยังพึ่งพาการใช้พลังงานจากถ่านหินและน้ำมันสูงถึงร้อยละ 60 และใช้เทคโนโลยีแบบเดิม
2)ไทยมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ในขณะที่ขีดความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในอันดับท้าย ๆ รวมทั้งประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่น เช่น ฝุ่น PM2.5 และ
3)SMEs ซึ่งมีจำนวนมากและเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่เริ่มเห็นแรงกดดันจากกฎเกณฑ์ในต่างประเทศและการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจขนาดใหญ่
แต่ SMEs ก็ยังไม่ค่อยตระหนักถึงความเร่งด่วนและความจำเป็นของการปรับตัว นอกจากนี้ SMEs ขาดองค์ความรู้และเงินทุน
จึงไม่สามารถปรับตัวด้วยความเร็วใกล้เคียงกับธุรกิจรายใหญ่ได้
ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนในบริบทของไทยจึงต้องสร้างสมดุลระหว่างการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้ทันการณ์ กับการจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบอย่างฉับพลัน
ในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ การดำเนินการจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมทั้งจังหวะเวลาและความเร็ว
โดยอาจเริ่มจากการปรับเศรษฐกิจสีน้ำตาลเข้มให้เป็นสีน้ำตาลอ่อนก่อน (brown เป็น less brown) และสำหรับ SMEs ที่มีความพร้อมน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ก็คงต้องเริ่มจากการปรับตัวก้าวเล็ก ๆ ก่อน
แต่เป็นก้าวที่จับต้องได้ในทางปฏิบัติและสามารถขยายผลได้ทั้งสำหรับตนเองและในวงกว้าง
ที่ผ่านมา ธปท. มุ่งผลักดันให้ภาคการเงินมีบทบาทช่วยให้ภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับความท้าทายและบริบทของไทย โดยได้ดำเนินการใน 2 ส่วน คือ
1)วางรากฐานที่จำเป็นในระยะยาว หรือกำหนด building blocks เพื่อสร้าง ecosystem ให้ภาคการเงินไทยตอบโจทย์ความต้องการปรับตัวของภาคธุรกิจ และ
2)ผลักดันให้เกิดการเริ่มปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้สถาบันการเงินนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจที่ตอบโจทย์บริบทไทย
ส่วนที่ 1 :
การวางรากฐานที่จำเป็นในระยะยาว (building blocks) ธปท. ได้ออกแนวนโยบายที่กำหนดความคาดหวังให้สถาบันการเงินผนวกมิติด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ
และจัดทำ Thailand Taxonomyเพื่อสร้างมาตรฐานในการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามระดับ
ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปีที่แล้ว ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำ Taxonomy สำหรับภาคพลังงานและการขนส่ง ส่วนปีนี้อยู่ระหว่างจัดทำ Taxonomy สำหรับภาคเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ ที่ต้องปรับตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคการจัดการของเสีย และภาคเกษตร
ส่วนที่ 2 :
คือการผลักดันให้เกิดการเริ่มปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม ธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงินซึ่งมีความใกล้ชิดและรู้จักลูกค้า ผลักดันให้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะลูกค้าSMEs
เริ่มต้นด้วยโครงการนำร่องที่เสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งจะนำไปสู่การลดการเผาอ้อยและลด PM 2.5 โดยมี KPIs ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น สัดส่วนอ้อยเผา
ที่ลดลงและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศหรือภูมิภาคทั้งนี้ ในฤดูกาลหีบอ้อยที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อแก่โรงงานน้ำตาลไปแล้ว ประมาณ 1,510 ล้านบาท (ต.ค. 2567)
ความสำเร็จจากโครงการนำร่องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทำให้เกิดการขยายผลไปสู่วงกว้างเพื่อตอบโจทย์บริบทไทยให้มากขึ้น ธปท. จึงได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งภายใต้โครงการ Financingthe Transition ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567
โดยออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อและบริการที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับกระบวนการดำเนินงานที่มีหรือได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมสูง ไปสู่การดำเนินงานให้มีหรือได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมน้อยลง กล่าวคือปรับจาก brown เป็น less brown ให้เกิดผลจริง ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่มีความจำเป็นต้องปรับตัว เช่น ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ภาคโรงแรม และตอบโจทย์ SMEs
โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่จำเป็นต้องเร่งปรับตัว ซึ่งอาจต้องเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ ก่อนโดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสมและจูงใจให้ลูกค้าปรับตัวให้เกิดผลจริง และสามารถรองรับลูกค้าที่ต้องการปรับตัวในกิจกรรมคล้ายกันได้
เป็นที่น่ายินดีว่าธนาคารพาณิชย์ทั้ง 8 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ Financing the Transition ได้ตั้งเป้าสินเชื่อที่จะปล่อยภายในปี 2025 สูงถึง 100,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของลูกค้าจาก brown เป็น less brown
โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติสินเชื่อภายใต้โครงการนี้ไปแล้วประมาณ 20,000 ล้านบาทในภาคธุรกิจต่าง ๆ เช่น ภาคโรงแรม ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการผลิต และภาคเกษตร
หลังเริ่มดำเนินโครงการ Financing the Transition มาได้สี่เดือนเศษ จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจทำให้เราได้บทเรียนที่สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่องซึ่งอยากนำมาเล่าให้ทุกท่านฟังในวันนี้ เพราะบทเรียนเหล่านี้จะช่วยให้เราปรับแผนการผลักดันโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในระยะต่อไป
1)ประการแรก สิ่งที่สำคัญที่สุดในการปรับตัว คือ ธุรกิจเองต้องตระหนักถึงความเสี่ยง จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและมีความตั้งใจที่จะปรับตัว ปัจจุบันนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะ SMEs อาจจะยังมองว่าความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัว ยังมาไม่ถึง ยังไม่ต้องทำอะไรก็ได้
แต่ก็มีภาคธุรกิจบางส่วนที่ได้รับแรงกดดันแล้วจากเกณฑ์ต่างประเทศ และความต้องการของลูกค้าต่างชาติ จนต้องเริ่มปรับตัวก่อน เช่น ภาคโรงแรม เราเห็นแนวโน้มโรงแรมไทยที่มีความกระตือรือร้นและมุ่งปรับตัวเพื่อให้ได้ Green hotel certificate มากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีข้างหน้าที่ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน GSTC 2026 Global Sustainable Tourism Conference 2026 ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งความกระตือรือร้นของผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลาง ๆ ที่ภูเก็ตถือเป็น นิมิตหมายที่ดีมาก และอยากเห็นความกระตือรืนร้นเช่นเดียวกันในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย
เพราะในระยะต่อไปแรงกดดันจากเกณฑ์ต่าง ๆ และความต้องการของนักลงทุนและ ผู้บริโภคจะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นและขยาย scope มากขึ้นตัวอย่างเกณฑ์ต่างประเทศ ที่จะเข้ามามีผลในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ได้แก่ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM จากยุโรป CBAM อังกฤษ CBAM ออสเตรเลีย ข้อบังคับยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของยุโรป และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-freeRegulations: EUDR) เป็นต้น สำหรับในประเทศ ภาครัฐกำลังจะออกใช้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีหน้า
ซึ่งจะกำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซ เรือนกระจกสูงต้องรายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์และมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ดังนั้น แรงกดดันให้เกิดการปรับตัวจะชัดเจนและเข้มข้นขึ้นในอนาคตอันใกล้การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
2)ประการที่สอง ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการปรับตัวอย่างจริงจังที่ผ่านมาหากเราคิดถึงธนาคารก็คงคิดถึงการให้เงินกู้หรือการช่วยเหลือทางการเงิน แต่จาก
การทำโครงการ Financing the Transition
เราพบว่าหลายธนาคารมีการวิเคราะห์เสาะหากลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการปรับตัว แล้วธนาคารได้เข้าไปทำความเข้าใจธุรกิจและเข้าใจปัญหาของลูกค้าอย่างใกล้ชิดและพบว่าในหลายครั้งปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงิน แต่อยู่ที่การขาดองค์ความรู้หรือขาดเทคโนโลยีที่จำเป็นในการปรับตัว เช่น ต้องการองค์ความรู้การวัดและวิธีการลดก๊าซเรือนกระจก หรือต้องการเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเองในการลดก๊าซเรือนกระจก
ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้พยายามแก้ pain ของลูกค้าอย่างจริงจังโดยการไปจับมือกับพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นได้จริง
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารพาณิชย์จะทำเต็มที่สนับสนุนลูกค้าทั้งมุมการเงินและนอกเหนือจากการเงินแล้ว
แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของข้อสังเกตประการสุดท้าย
3)ประการสุดท้าย การจะผลักดันให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปได้ยังต้องการมาตรการสร้างแรงจูงใจหรือให้การสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนของภาครัฐในรูปมาตรการทางภาษีที่สนับสนุนกิจกรรมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนด้าน green certificate ต่าง ๆ
ตลอดจนการสนับสนุนจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เฉพาะแต่ของตนเองแต่รวมไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ผลิตในห่วงโซ่การผลิตของตนด้วย เพื่อใช้ในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ผู้บริโภค และทางการในต่างประเทศ เพื่อให้ยังสามารถส่งออกไปยังประเทศที่ใช้มาตรการ CBAM ได้
ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทั้งเงินทุน ความรู้ และเทคโนโลยีสามารถมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งผ่านศักยภาพดังกล่าวไปให้แก่บริษัทในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะ SMEs ได้ ซึ่ง ธปท. เห็นว่า model ในลักษณะนี้จะช่วยให้เกิดการ เปลี่ยนผ่านได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ
โดยสรุป สาระที่ต้องการเน้นย้ำ คือ เมื่อมองไปข้างหน้าจะมีแรงกดดันให้ภาคธุรกิจเกิดการปรับตัวมากขึ้นจากเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะมีความเข้มข้นขึ้นและภาคการเงินโดยธนาคารพาณิชย์ไทยได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการปรับตัวให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังแม้ว่าสองปัจจัยข้างต้นเป็นตัวผลักดันสำคัญ
ให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้เร็วขึ้น แต่คาดว่าจะยังไม่กระจายตัวมากพอ การปรับตัวในวงกว้าง ในอัตราเร่งที่มากขึ้น คงต้องอาศัยมาตรการสร้างแรงจูงใจหรือมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐและภาคเอกชน เช่น บริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นหัวขบวนของห่วงโซ่การผลิตมาเป็นแรงหนุนสำคัญ
ดังนั้น ในระยะต่อไป นอกเหนือจากการพัฒนา building blocks อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ภาคการเงิน มีศักยภาพและเครื่องมือที่ช่วยประเมินความเสี่ยงและระบุกลุ่มลูกค้าที่จำเป็นต้องปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ธปท. ตั้งใจจะขยายผลโครงการ Financing the Transition โดยร่วมมือกับบริษัท ขนาดใหญ่ที่เห็นความสำคัญของการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันบางห่วงโซ่การผลิต ให้ปรับตัวจาก brown เป็น less brown ได้ตลอดทั้งห่วงโซ่
โดยมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นพลังขับเคลื่อน อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ เพราะจากบทเรียน 3 ประการที่ดิฉันได้กล่าวไป การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ภาคใดภาคหนึ่งทำคนเดียวไม่ได้ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ
โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และภาคการเงิน จะต้องมีกลไกความร่วมมือที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ทั้งการออกแบบมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจและองค์ความรู้ การจัดหาเทคโนโลยีการปรับตัวที่เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท
ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงจึงจะช่วยให้ประเทศไทยเกิดการปรับตัวที่เห็นผลได้จริง
เพราะ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนคือทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 ธันวาคม 2567