เศรษฐกิจไทยใน 3 ปีข้างหน้า
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในตลาดเงินตลาดทุน หนึ่งในคำถามที่ได้รับเสมอและติดอยู่ในใจผู้เขียนตลอดมาคือ ภาพเศรษฐกิจไทยในระยะกลางจะเป็นอย่างไร และกองทุนต่างๆ ยังควรที่จะลงทุนในสินทรัพย์ประเทศไทยหรือไม่ เพราะคำตอบในมุมมองของผู้เขียนคือ ไม่น่าลงทุน เพราะเรากำลังตกอยู่ในหล่มเศรษฐกิจ และไม่สามารถหลุดพ้นออกไปได้
หลักฐานที่ดีที่สุดคือ ขนาดของเศรษฐกิจไทยคิดเป็นรูปเงินดอลลาร์ที่นับจากปี 2020 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวขึ้นเลย โดยมีขนาดที่ 5.2 แสนล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าช่วงก่อน Covid ที่เรามีขนาดประมาณ 5.4 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่รวมเงินเฟ้อ (Nominal GDP) หลังช่วง Covid นั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 0% เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อน Covid ที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ 5.1% และ 3 ปีก่อน Covid ที่ 7.0%
ผู้เขียนมองว่า สาเหตุที่ทำให้เราตกหล่มเศรษฐกิจเช่นนี้ และจะตกต่ำต่อไปใน 3 ปีข้างหน้า มี 3 ประการ คือ (1) ภาคการผลิตขาดประสิทธิภาพ (2) นโยบายการเงินตึงตัวเกินไป และ (3) การคลังที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่นับรวมความเสี่ยงสงครามการค้าที่จะกระทบการส่งออกของไทย
ในประเด็นแรก ภาคการผลิต หากพิจารณาดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยหลัง Covid จะพบว่าหดตัวลง 6.7% สวนทางกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และหากพิจารณาในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยไม่ถึง 1% ต่อปี ต่ำสุดในอาเซียน ขณะที่สัดส่วนต่อ GDP ลดลงจาก 31% เหลือ 25% สะท้อนการสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน
สาเหตุเป็นเพราะไทยพึ่งพาการผลิตสินค้ามูลค่าต่ำในปริมาณมาก โดยสินค้าไฮเทคมีสัดส่วนเพียง 20% ของภาคการผลิต ขณะที่ผลิตภาพแรงงานไม่พัฒนาขึ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นเป็นผลจากการที่เราถูกสินค้าจีนตีตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากข้อตกลง RCEP เป็นต้นมา
โดยหลังจากปี 2020 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นจากระดับ 2 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน เป็นระดับ 4 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน เนื่องจากจีนเร่งส่งออกในสินค้าสำคัญที่เคยเป็น Product champion ของไทยมากขึ้น ผ่านการกดราคาสินค้าส่งออกเป็นหลัก และภาพใน 3 ปีข้างหน้า ก็ไม่น่าจะดีขึ้นจากนี้อีกมากนัก ท่ามกลางสงครามการค้าและการทุ่มตลาดของจีน
ในประเด็นที่สอง นโยบายการเงินตึงตัวเกินไป เห็นได้จากรายงานผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ล่าสุด ที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์หดตัว 2% ในไตรมาส 3/2567 หดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2553 นอกจากนั้น คุณภาพสินเชื่อที่เสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง โดยหนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้นเป็น 2.97% ขณะที่สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM หรือ Stage 2) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.86% ซึ่งทั้งคู่เป็นระดับเดียวกับช่วงหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นในทุกกลุ่มสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อย
ภาพเหล่านี้เป็นผลจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป โดยหากพิจารณาจากดัชนีความตึงตัวทางการเงิน (Financial Condition Index: FCI) ของผู้เขียน พบว่ายังอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีอย่างต่อเนื่อง โดยองค์ประกอบสำคัญอย่างสินเชื่อตึงตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาทเทียบคู่ค้าคู่แข่ง (NEER) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (MLR) ผ่อนคลายลงบ้างหลังลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับตึงตัวเกินส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ภาพเหล่านี้บ่งชี้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรจะลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความตึงตัวทางการเงินลง
ในประเด็นที่สาม ภาระทางการคลัง ซึ่งแม้ว่าสถานะทางการคลังของประเทศไทยในปัจจุบันยังคงมีเสถียรภาพ แต่ในระยะต่อไปภาคการคลังมีความเสี่ยงจากรายได้รัฐ (จากภาษี) ที่ต่ำกว่ารายจ่ายอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลขาดดุลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.5% ต่อ GDP สูงกว่าที่ IMF ระบุว่าเป็นระดับปลอดภัยที่ 3.0% GDP
สาเหตุเป็นเพราะ
(1) เรามีงบอุดหนุนภาคการเกษตรต่อเนื่องที่ประมาณ 3.0-3.5% ของงบประมาณรวม (2) งบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากประมาณ 35-38% ต่องบประมาณรวมในช่วง 20 ปีก่อน เป็นกว่า 40-42% ในปัจจุบัน (3) งบบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการข้าราชการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 5-7% ในช่วง 20 ปีก่อน เป็น 9-11% ในปัจจุบัน และ (4) สัดส่วนงบกลางต่องบประมาณรวมอยู่ที่ประมาณ 8-10% ในช่วง 20 ปีก่อน เป็น 12-15% ในปัจจุบัน
ภาพเหล่านี้บ่งชี้ว่า ภาครัฐไทยกำลังเผชิญกับภาระรายจ่ายที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่งบลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจกับลดลงต่อเนื่อง จากประมาณ 20-22% ในช่วงปี 2555-62 เหลือ 18-20% ในปัจจุบัน
และด้วยการเติบโตของงบข้างต้น ทำให้งบประมาณรวมเติบโตปีละประมาณ 4-5% สูงกว่าการเติบโตของรายได้ที่ไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจที่ 3-4% ก็จะยิ่งทำให้งบประมาณมีแนวโน้มจะขาดดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้กระทรวงการคลังจะพยายามบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพที่สุดแล้วก็ตาม
ภาพต่างๆ ทำให้ประเทศไทยถูกจำกัดในทุกด้าน ในภาคการผลิตที่เรากำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องนั้น ยังเผชิญกับความท้าทายจากสงครามการค้าที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต ด้านการเงิน นโยบายการเงินที่ตึงตัวและมาพร้อมกับแรงกดดันของภาวะเงินกึ่งฝืด (Disinflationary pressure) ซึ่งจะทำให้เงินในระบบเศรษฐกิจหมุนน้อยและช้าลง
ด้านการคลัง เผชิญกับภาวะรายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเบียดบังรายจ่ายลงทุนที่สำคัญต่อการเติบโตของประเทศ ไม่นับรวมกับภาวะเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะสังคมสูงวัย ที่ทำให้กำลังแรงงานและขนาดของตลาดลดลง ซึ่งหากภาพเป็นเช่นนี้ อัตราการเติบโตในช่วง 3 ปีข้างหน้า ก็จะยิ่งชะลอลงมากขึ้น
ในรายงาน IMF ที่เผยผลการประเมินเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567 (Article 4 Consultation) คาดการณ์การเติบโตที่ 2.7% และ 2.9% ในปีนี้และปีหน้า พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลลดการขยายตัวทางการคลังลงบ้างในระยะสั้น และแนะนำให้พิจารณาลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรับมือความท้าทายในอนาคต
ผู้เขียนมองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญและขึ้นอยู่กับการบริหารเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยหากทำนโยบายการเงินการคลังผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง เน้นการเติบโตอย่างมีวินัย พร้อมทั้งเจรจาการค้าโดยคำนึงผลประโยชน์ประเทศเป็นสำคัญ ไทยก็ยังอาจสามารถเติบโตได้ในอัตรา 3% ใน 3 ปีข้างหน้า
หาไม่แล้ว โอกาสที่ไทยจะหลุดจากหล่มเศรษฐกิจได้นั้นคงริบหรี่
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่สังกัดอยู่
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 4 ธันวาคม 2567