มองให้ขาด "ต้มยำกุ้ง" มรดกไทย Soft power อาหารโลก
จับกระแส มองให้ขาด "ต้มยำกุ้ง" มรดกไทย Soft power อาหารโลก
การที่อาหารไทย อย่าง 'ต้มยำกุ้ง' ล่าสุด องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO รับรอง ต้มยำกุ้ง (Tomyum Kung) ของไทย ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ประจำปีนี้
แน่นอนว่า ต้มยำกุ้ง กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) อาหารของไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อยูเนสโกประทับตราให้เป็นมรดกโลกย่อมสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
อย่างที่รู้ว่า ต้มยำกุ้ง เป็นที่นิยมของชาวไทยและชาวต่างชาติ ขนาดว่าใช้เป็นชื่อภาพยนตร์แอ็กชัน กำกับฯโดยปรัชญา ปิ่นแก้ว ค่ายสหมงคลฟิล์ม ออกฉายไปทั่วโลกโกยเงินเป็นพันล้านบาทมาแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน
ตอกย้ำของดีของไทยที่โลกรู้จักดี ส่วนรัฐบาลขึ้นทะเบียนต้มยำกุ้งให้เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ” เมื่อปี 2554 และได้ดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับองค์การยูเนสโกในปี 2564 มาจนถึงวันนี้สำเร็จแล้ว
เรื่องนี้ ท่านผู้นำฯ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้โอกาสพิเศษ เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีถึงมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ไทย โดยสะท้อนถึงความเข้าใจในการใช้ชีวิตของคนไทยที่สอดคล้องกับธรรมชาติ
"นี่คือเครื่องพิสูจน์แล้วว่า อาหารไทย คือ ซอฟต์พาวเวอร์ที่สะท้อนค่านิยม วิถีชีวิตและตัวตนของคนไทย อันเป็น “เสน่ห์” ที่ทรงพลังและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก"
ขณะเดียวกัน กระทรวงวัฒนธรรม ที่มี สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง มองว่า ต้มยำกุ้ง เป็นมรดกภูมิปัญญาฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย ที่มีความเรียบง่าย มีสุขภาวะทั้งกายและใจที่แข็งแรง รู้จักการพึ่งพาตนเองด้วยวิธีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็น “กับข้าว” ที่คนในชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคกลาง
นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ โดยชื่อ ต้มยำกุ้ง เกิดจากการนำคำ 3 คำมารวมกันได้แก่ “ต้ม” “ยำ” และ “กุ้ง” ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำอาหารที่นำเนื้อสัตว์ คือ กุ้ง ต้มลงในน้ำเดือดที่มีสมุนไพร ซึ่งปลูกไว้กินเองในครัวเรือนอย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และปรุงรสจัดจ้านแบบยำ ให้มีรสเปรี้ยวนำด้วยมะนาว ตามด้วยรสเค็มจากเกลือหรือน้ำปลา รสเผ็ดจากพริก รสหวานจากกุ้ง และขมเล็กน้อยจากสมุนไพร
น่าสนใจว่า กาต่อยอดต้มยำกุ้งในอุตสาหกรรมอาหารไทยในต่างประเทศ มีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาทนั้น เชฟชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร เคยประเมินว่า เทคโนโลยี "เอไอ" เข้ามาปฏิวัติหลายทุกธุรกิจ และเปลี่ยนโฉมไปครั้งใหญ่ ยกเว้นธุรกิจอาหาร ที่เอไอ ยังไม่สามารถเอาชนะได้ เพราะอาหารต้องมีส่วนผสมของ "แพสชั่น" หรือ ใจ (Passion) และ "จิตวิญญาณ" หรือ โซล (Soul)
แนวทางการพัฒนาคน จากในปัจจุบันขาดแคลน แมนพาวเวอร์ที่มีคุณภาพจำนวนมาก ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยต้องพัฒนา และเชื่อมต่อกัน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รวมถึงเชื่อมโยงกับ 11 กลุ่มซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล พร้อมทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อไปสู่ทุกอุตสาหกรรม
การผลักดันโครงการ "หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย" มีเป้าหมาย ส่งเสริมทักษะ และความสามารถของเชฟไทย เพราะยุคนี้ไม่ได้วัดเพียงที่การมีใบประกาศ แต่มุ่งวัดที่ทักษะ โดยวางเป้าหมายในปี 2568 จะสร้างเชฟให้ได้จำนวน 18,000 คน และในระยะเวลา 4 ปี จำนวน 87,900 คน ครอบคลุมในทุกหมู่บ้าน และชุมชนทั่วประเทศ
พร้อมวางมาตรฐานที่ดี ทำให้เชฟกลุ่มนี้สามารถยกระดับไปสู่อินฟลูเอนเซอร์และดารา ร่วมทำหน้าที่โปรโมตอาหารผลิตภัณฑ์ และวัฒนธรรมไทย
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมองว่า ต้มยำกุ้งถูกยกระดับขึ้นจากองค์กรใหญ่จากต่างประเทศ ย่อมสร้างผลงานให้รัฐบาล แต่โจทย์ต่อไปคือจะใช้ชื่อเสียงของต้มยำกุ้งในการสร้างมูลค่าอาหารไทยและการท่องเที่ยวไทย ให้เพิ่มขึ้นอย่างไรเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่ง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 ธันวาคม 2567