กาตาร์ประกาศใช้ "ยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขแห่งชาติ"
รัฐบาลกาตาร์ได้ประกาศยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขแห่งชาติกาตาร์ (National Health Strategy) ปี ค.ศ. 2024 – 2030 (มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2567) มุ่งขับเคลื่อนให้กาตาร์กลายเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ (health-focused society) โดยการพัฒนาระบบสุขภาพแบบบูรณาการ (integrated health system) บนพื้นฐานของความเป็นเลิศด้านการแพทย์ ความยั่งยืน และนวัตกรรม ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ Qatar National Vision 2030 และแผนยุทธศาสตร์ Qatar National Development Strategy 2024 – 2030
ยุทธศาสตร์ฯ ได้กำหนดเป้าหมายใน 3 ด้าน (priority) 15 ผลลัพธ์ (outcomes) ได้แก่
เป้าหมายที่ 1:
การพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากร ซึ่งมี 4 ผลลัพธ์ ได้แก่ (1) ความตระหนักรู้ด้านสุขภาพของประชาชน (2) การเสริมศักยภาพผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย (3) การป้องกันและการตรวจจับโรคเชิงรุก และ (4) การบูรณาการสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างรอบด้านในทุกภาคส่วน
เป้าหมายที่ 2:
ความเป็นเลิศด้านบริการทางการแพทย์และประสบการณ์ของผู้ป่วย ซึ่งมี 3 ผลลัพธ์ ได้แก่ (5) รูปแบบ มาตรฐาน และแนวทางการดูแลสุขภาพที่ทันสมัยและครบวงจร (6) ความเป็นเลิศในการดูแลสุขภาพระดับชุมชนและปฐมภูมิ และ (7) ความเป็นเลิศในการดูแลสุขภาพระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ
เป้าหมายที่ 3:
ระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น ซึ่งมี 8 ผลลัพธ์ ได้แก่ (8) การกำกับดูแลระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง (9) รูปแบบการเงินที่ยั่งยืนสำหรับระบบสุขภาพ (10) ระบบสุขภาพที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (11) ระบบการตัดสินใจโดยอิงข้อมูลด้านสุขภาพ (12) ความเป็นเลิศในการวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพ (13) บุคลากรด้านสุขภาพที่มีทักษะ แรงจูงใจ และประสิทธิภาพสูง (14) การวางแผนระบบสุขภาพที่ยืดหยุ่น และ (15) การเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินที่มีประสิทธิผล
ยุทธศาสตร์ฯ ยังระบุว่า รัฐบาลกาตาร์มีแผนดำเนินโครงการและข้อริเริ่มตามแผนยุทธศาสตร์ฯ รวมกว่า 300 โครงการ เช่น การพัฒนาระบบการรักษาผู้ป่วยแบบบูรณาการ (integrated patient pathways) การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพให้เป็นดิจิทัล และการเสริมสร้างการวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ
นอกจากนี้ ยังมีแผนการดําเนินงาน เช่น การฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างครอบคลุม การรักษาสุขภาวะในการทำงาน (occupational health) ความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (environmental health) ความปลอดภัยด้านอาหาร (food safety) การปรับปรุงรูปแบบการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการพัฒนาแรงงานด้านการแพทย์ทักษะสูง
การประเมินผลลัพธ์ของยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขแห่งชาติกาตาร์ :
ศูนย์วิจัย Business Monitor International (BMI) ได้จัดทำการประเมินผลลัพธ์ของการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ฯ ดังนี้
(1) การปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ฯ จะส่งผลให้ตลาดอุปกรณ์ทางการแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2571 โดยจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.7 ต่อปี และจะมีมูลค่าถึง 1.1 พันล้านกาตาร์ริยาล (ประมาณ 298.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2571
(2) ในปี 2568 จะมีการลงทุนของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน การผลิตน้ำมันและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจกาตาร์ขยายตัวร้อยละ 2.2
(3) ยุทธศาสตร์ฯ จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ขั้นสูงและอุปกรณ์ดิจิทัล รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases) เช่น อุปกรณ์การถ่ายภาพวินิจฉัย และวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในการฉีดวัคซีน
(4) อุปกรณ์เกี่ยวกับกระดูกและเครื่องช่วยผู้ป่วย อาทิ เครื่องช่วยฟังและเครื่องกระตุ้นหัวใจจะเติบโตเร็วที่สุด เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนประชากรสูงวัยในกาตาร์ ซึ่งสหประชาชาติได้คาดการณ์ว่า ประชากรอายุมากกว่า 60 ปี ในกาตาร์จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 20.3 ในปี 2593
โอกาสไทย :
ทั้งนี้ ในงาน World International Summit for Health (WISH) 2024 ที่จัดขึ้นในกรุงโดฮา ระหว่างวันที่ 12 – 14 พฤศจิกายน 2567 กาตาร์ประกาศ Action Plan on Obesity, Diabetes and Modifiable Risk Factors for Atherosclerotic Cardiovascular Disease (ASCVD) 2024 – 2030 โดยจะมีโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 58 โครงการ เพื่อการป้องกันและการบริหารจัดการกับภาวะโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโดยเฉพาะโรคอ้วน ซึ่งกาตาร์ตั้งเป้าหมายการลดภาวะโรคดังกล่าวจากร้อยละ 39.7 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 32.2 ของจำนวนประชากรกาตาร์ (Qatari) ในช่วงการใช้ Action Plan 2024 – 2030
จากประเด็นท้าทายด้านโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคอ้วน รวมทั้งการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขแห่งชาติของกาตาร์ เป็นโอกาสดีสำหรับไทย ซึ่งมีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยเฉพาะด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านดังกล่าว รวมถึงขีดความสามารถในการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ขั้นสูงและนวัตกรรม
โดยไทยควรพิจารณาการขยายตลาดแรงงานทักษะสูง (skilled worker) ด้านการแพทย์และสาธารณสุขในกาตาร์ การแลกเปลี่ยนบุคลากร การพัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์เฉพาะทางระหว่างไทย – กาตาร์ ตลอดจนการส่งออกอุปกรณ์การแพทย์ขั้นสูง อุปกรณ์การแพทย์ดิจิทัล และอุปกรณ์การแพทย์อื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของกาตาร์เป็นอย่างยิ่ง (ข้อมูล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา, เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์)
ที่มา globthailand
วันที่ 3 ธันวาคม 2567