เอกชนวิตก ขึ้นแวต15% ชี้ร้านอาหารกระอัก-ตายเรียบ โรงแรมกระทบ 2 เด้งลูกค้าลด-ต้นทุนเพิ่ม
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกระทรวงการคลัง มีแนวทางจะปรับปรุงการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)ที่เก็บ 7% จากกำหนดไว้ 10% กำลังศึกษาอาจปรับเป็น15% นั้น
นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เปิดเผยว่า แนวคิดการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากเดิม 7% เป็น 15% จากเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยมีมติปรับขึ้นเป็น 10% แต่ยังกลับมาใช้ที่ 7% ก่อนนั้น การปรับขึ้นแวตในสถานการณ์อย่างปัจจุบัน ยอมรับว่าจะมีผลกระทบทำให้ร้านอาหารในระบบตายเรียบแน่นอน จากธุรกิจร้านอาหารล้มหายตายจากไปแล้วกว่า 50% นับตั้งแต่ต้นปี 2567 หากมีการปรับแวตขึ้นมาอีก ถือเป็นการซ้ำเติม เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจเดียวที่มีแวตจากการขายอาหาร แต่ไม่มีแวตในการซื้อสินค้าวัตถุดิบต่างๆ ทั้งอาหารและผักสด ผลกระทบต่อร้านอาหารจึงมี 2 กรณี คือ 1.ร้านอาหารตาย และ 2.ร้านอาหารต้องโยนภาระไปให้ผู้บริโภคแบบ 100% ตามการขึ้นแวตจาก 7% เป็น 15% ราคาอาหารจะปรับขึ้นไปอย่างน้อย 20-25% เพื่อให้ต้นทุนสามารถครอบคลุมแวตที่ปรับขึ้นมา
นายสรเทพ กล่าวว่า หากออกมาตรการในการเพิ่มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% เท่ากับ ร้านอาหารจะหนีออกจากระบบอีกเยอะมาก หรือร้านอาหารที่เปิดใหม่ก็จะไม่ยอมเข้าระบบเพื่อเสียภาษี มาตรการของรัฐบาลที่จะออกมาเหมือนเป็นการสนับสนุนให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ในการจัดเก็บภาษีที่ควรมากขึ้นให้ลดลงแทน แทนที่รัฐบาลจะสามารถเก็บแวตได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นจากธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะผลกระทบจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่เป็นเอสเอ็มอี ที่อยู่ในระบบอยู่แล้วต้องปิดตัวลงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสู้ต้นทุนที่มีอยู่ไม่ไหว แถมยังมีต้นทุนที่ต้องแบกรับเพิ่มด้วย
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า สำหรับโรงแรมหากปรับแวตจะกระทบ 2 เด้ง ทั้งกำลังใช้จ่ายลูกค้าที่เจอราคาสูงในการซื้อสินค้าหรือบริการต้องชะลอการใช้เงินกับการท่องเที่ยวหรือเดินทาง กับ ผลกระทบต้นทุนและรายได้ของธุรกิจเอง เพราะปกติอัตราห้องพัก จะคิดเป็นแบบเหมาซึ่งแวตอยู่ในนั้น หากปรับขึ้นแวตแต่เราต้องกำหนดห้องพักเท่าเดิม ก็เท่ากับต้องแบกรับต้นทุนไว้เอง ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันหากไม่ใช่วันหยุดหรือเทศกาล จำนวนจองห้องพักก็ยังอยู่ในอัตราต่ำ
“หากต้องมีการปรับขึ้นจริง ไม่ควรจะปรับในอัตราสูงพรวด จาก 7% เป็น 15% คงต้องทยอยปรับเป็นขั้นบันได หรือ ที่ไทยกำหนดเก็บแวต10% แต่เลื่อนไว้และเก็บ 7% มาตลอด หากจะทบทวนก็ไม่น่าเกิน 10% ในระยะแรก เพราะในสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อในปัจจุบันและมุมมองต่อปี 2568 ยังไม่ได้ฟื้นตัวได้เต็มที่ บรรยากาศเป็นการระมัดระวังใช้จ่าย และติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกและเหตุการณ์รุนแรงในตะวันออก ยังเป็นแรงกดดันการใช้จ่ายและการฟื้นตัวของธุรกิจ
ส่วนภาษีเก็บจากรายได้บุคคลหรือธุรกิจ หากจะทบทวนเหลือในอัตราเดียว รัฐต้องมีคำตอบและอธิบายให้ชัดเจนและเทียบผลการเก็บภาษีในปัจจุบัน รวมถึงผลได้ผลเสียต่างๆ ส่วนตัวมองว่าการทบทวนภาษีไม่ได้จะทำได้ในเร็วๆนี้ รัฐอาจต้องการโยนหินถามทาง ดูว่ากระแสจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ธุรกิจเรามองว่า รัฐควรเร่งกระตุ้นใช้จ่ายผ่านมาตรการต่างๆออกมาโดยเร็วจะดีที่สุด เพราะใกล้ปีใหม่แล้ว ทั้งผู้บริโภคและคนค้าขายจะได้รู้ว่าต้องเตรียมตัวกันอย่างไร ” นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 6 ธันวาคม 2567