หอการค้าหนุนรัฐมาถูกทาง ดึงอุตสาหกรรมโลกใหม่เข้าไทย ชี้มาตรการดึงดูดใจเดิมเพียงพอ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า กรณีการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมในประเทศไทย อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ หรือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น เพราะไทยถือว่ามีความเป็นกลาง ทำให้ผลิตจากไทยแล้วสามารถส่งออกไปได้หลากหลายประเทศทั่วโลก แต่ต้องสร้างความชัดเจนในประเทศต้นทาง ดำเนินการกฎเกณฑ์ของโลกที่ตั้งไว้ อาทิ ต้องมีโลคอลคอนเทนต์ อย่างน้อย หากสามารถดูแลจัดการได้ จะสามารถส่งออกไปได้ทุกที่ รวมถึงต้องดูกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้น กลาง ปลายน้ำ ที่ต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างแท้จริง เพราะวัตถุดิบบางอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ส่วนที่สามารถใช้ในประเทศได้ ก็อยากให้ใช้ในประเทศมากที่สุด ทั้งวัตถุดิบ และความรู้ความสามารถของคนไทยเป็นหลัก เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างมูลค่า เพิ่มงานให้กับคนในประเทศก่อน
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ในด้านมาตรการจูงใจผ่านมาตรการต่างๆ มองว่าเราให้สิทธิพิเศษเพื่อส่งเสริมการเข้ามาลงทุนมากพอแล้ว ถือว่าได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลค่อนข้างดี หลังจากนี้คงต้องดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม แต่จากมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถือว่าได้รับการยกเว้นภาษีหลายปีแล้ว เป็นแรงจูงใจขั้นต้นที่ทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่า ในปีแรกจะไม่มีภาระด้านภาษีต้องแบกรับ ในส่วนของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมโลกเก่าในประเทศไทย ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และเทคโนโลยีเอไอ ถือเป็นอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ จะเข้ามาเติมอุตสาหกรรมเก่าของไทยที่โครงสร้างเริ่มไม่ทันสมัย และไม่ตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็ว การดึงดูดธุรกิจเหล่านี้เข้ามาในไทยมากขึ้น ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการมากแล้ว
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่กำลังศึกษาการจัดเก็บจาก 20% เป็น 15% และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะพิจารณาจาก 35% เหลือ 15% เท่ากัน เพื่อจูงใจการทำงานในประเทศไทยนั้น เบื้องต้นมองว่าวิธีเดิมที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษียังเป็นตัวดึงดูดให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากพอสมควรแล้ว ด้านนี้จึงไม่ได้เป็นห่วงมากนัก สิ่งสำคัญที่สุดเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ต้องรักษาให้ดี เพื่อให้เราสามารถส่งออกสินค้าไปค้าขายกับต่างประเทศได้แบบไม่มีสะดุด ซึ่งรัฐบาลจะสามารถจัดเก็บภาษีจากธุรกิจเหล่านี้ได้อยู่แล้ว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 6 ธันวาคม 2567