"ส่งออก" ปี 68 เตรียมรับแรงกระแทก "เทรดวอร์"
สงครามการค้า ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ 2 ปัจจัยเสี่ยง เขย่า ส่งออกไทยปี 68 ด้าน สรท.ตั้งเป้าส่งออกปี 68 ขยายตัว 1-3 %
ปิดงาน “ส่งออก” ปี 2567 แล้วถือว่าไทยทำได้ดีมาก คาดว่าทั้งปีการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 3.5 - 4 % เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1 - 2 % โดยมีมูลค่าประมาณ 297,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 10 ล้านล้านบาท
ขณะที่ ปี 2568 ทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ตั้งเป้าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 1-3% แม้ว่าจะต้องเจอกับปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ไม่อาจคาดคะเนได้
“ชัยชาญ เจริญสุข ” ประธาน สรท.มองว่า ปี 68 ยังเป็นปีที่มีความท้าทายสูง เปรียบเหมือน กระแสน้ำนิ่งที่ต้องต้องเฝ้าระวังสูง จับตาเกิดคลื่นใหญ่ ทั้งแรง และเร็ว จากการมี 2 สารตัวเร่งทำปฏิกิริยาก่อเกิดคลื่นใหญ่ส่งแรงกระแทกแรงมายังการส่งออกของไทย คือ นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่กลับมาคัมแบ็ครอบ 2 โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้า “อเมริกาต้องมาก่อน(America First)" เน้นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐ การตั้งกำแพงภาษีนำเข้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิด “สงครามการค้า”รอบ 2
โดยก่อนหน้านี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนในรอบแรกทำให้การค้าโลกเกิดความปั่นป่วน เศรษฐกิจโลกชะลอตัวไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ไทยวางตัวได้ดีในสงครามการค้ารอบแรก และสามารถใช้ประโยชน์จากสงครามการค้าได้ดี
อีกความเสี่ยงหนึ่งก็คือ “ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ” ที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางหากบานปลาย รุนแรง ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยเสี่ยงนี้มีความผันผวนสูง เป็นไปได้ทั้งบวก และลบ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกปี 2568 ไม่แน่นอนทำให้คาดเดาได้อยาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากนโยบายการค้า “ทรัมป์ 2.0” ที่จะเป็นแรงเหวี่ยงสำคัญต่อการค้าโลก ทั้งการขึ้นภาษีนำเข้ากับจีน 60 % และประเทศอื่นอีก 10 - 20 % พุ่งเป้าไปยังประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ และอาจจะใช้การเก็บภาษีเป็นนโยบายต่อรองกับคู่ค้า เช่น เม็กซิโก แคนาดา และกลุ่ม BRICS
โดย “ไทย” ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ ย่อมโดนหางเลขด้วยเช่นกัน ทั้งนี้คาดว่า นโยบายทรัมป์ 2.0 จะมีผลต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลกในช่วงกลางปี 68
“โลกการค้า” ที่กำลังฟื้นตัวกลับมาเติบโตดี กลับเข้าสู่วังวน “สงครามการค้า” แถมกับปัญหา “ภูมิรัฐศาสตร์”มาซ้ำเติม อาจส่งผลเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ไม่เต็มที่ ประเทศไทยที่พึ่งพา “การส่งออก” ย่อมได้รับแรงกระแทกแน่นอน
ดังนั้นสิ่งที่ไทยจะต้องเตรียมตัว และรับมือกับสถานการณ์การค้าในปี 68 คือ การเดินสายกลาง ที่เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหมือนเช่นที่ผ่านมา ไม่ตกอยู่ในความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจะทำให้สามารถขับเคลื่อนการส่งออกของไทยไปได้
แม้ “ส่งออกไทย” จะต้องฝ่าคลื่นมรสุมที่รุนแรงถาโถมเข้าใส่ แต่ไทยยังเป็นมิตรกับทุกประเทศ และที่ตั้งยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาคอาเซียนเป็นจุดที่ได้เปรียบ จึงต้องเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสเพื่อที่จะก้าวข้ามปัจจัยเสี่ยงเพื่อผลักดันการส่งออกของไทยให้เข้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ และพร้อมที่ต้อง “สู้” ทุกสถานการณ์เพื่อเป็น “ทางรอด”ส่งออกไทยปีหน้า
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 9 ธันวาคม 2567