เงินเฟ้อจีนยังชะลอตัว แม้มีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น แต่ความเต็มใจจ่ายยังคงต่ำ
เงินเฟ้อจีนยังชะลอตัว แม้มีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น แต่ความเต็มใจจ่ายยังคงต่ำ ด้านนักวิเคราะห์มองภาครัฐต้องกระตุ้นเพิ่ม ขณะที่คณะกรรมการกรมการเมืองเตรียมประชุมสำคัญ หารือนโยบายเศรษฐกิจสัปดาห์นี้
บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ดัชนีราคาคาผู้บริโภค (CPI) ชะลอตัวลงในเดือนพฤศจิกายน ส่งสัญญาณว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่มากพอที่จะฟื้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจากอุปสงค์ที่อ่อนแอได้ ขณะที่จีนจะมีการประชุมสำคัญเพื่อแสดงถึงการสนับสนุนทางนโยบายที่มากขึ้นภายในสัปดาห์นี้
ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBSC) ดัชนีราคาผู้บริโภคจีนในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YOY) โดยชะลอตัวลงจากที่เคยเพิ่ม 0.3% ในเดือนตุลาคม ทั้งยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะโต 0.4% ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ขยายตัวเป็นเดือนที่ 26 ติดต่อกัน แม้จะยังติดลบอยู่ 2.5% แต่ก็ขยายตัวจากที่ติดลบ 2.9% ในเดือนตุลาคม
ข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่ออกมาก่อนการประชุมเดือนธันวาคมตามธรรมเนียมของคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) ซึ่งมักจะประชุมหลังจากการประชุมงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลางประจำปี (Annual Central Economic Work Conference) เพื่อหารือเกี่ยวกับเป้าหมายและแผนการทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2025 และคาดว่าจะมีขึ้นภายในสัปดาห์นี้
จางจื้อเหว่ย (Zhiwei Zhang) หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจจากพินพอยต์ แอสเส็ต แมเนจเม้นต์ (Pinpoint Asset Management) กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ยังมีการฟื้นฟูไม่มากพอที่จะเร่งภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยมาตรการคลังที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจจีนให้พ้นจากภาวะเงินฝืด
ปัจจุบัน จีนเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจในการหยุดยั้งภาวะเงินฝืด ด้วยระดับการบริโภคที่เติบโตต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางพร้อมใจกันออกมาตรการกระตุ้นในช่วงปลายเดือนกันยายน
อัตราเงินเฟ้อด้านราคาอาหารที่อยู่ในระดับกลางเริ่มฉุดการเติบโตของเงินเฟ้อทั่วไป ราคาเนื้อหมู ผักและผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญในการคำนวณดัชนีราคาลดลงจากเดือนก่อนอย่างมีนัยสำคัญ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่นับรวมผลของอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.3%
ตง ลี่จวน (Dong Lijuan) นักสถิติอาวุโสจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน อธิบายอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยว่าเป็นผลจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และการท่องเที่ยวที่ลดน้อยลงในเดือนก่อน พร้อมทั้งโครงการอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานที่เร่งตัวเพิ่มขึ้นช่วยขับเคลื่อนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โลหะนอกกลุ่มเหล็ก (non-ferrous metals) และเหล็กกล้า
บรูซ ผาง (Bruce Pang) หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจประจำประเทศจีนที่โจนส์ แลง ลาแซลล์ อิ๊งก์ (Jones Lang LaSalle Inc.) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวดีขึ้น และดัชนีราคาผู้ผลิตที่หดตัวน้อยลงแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนและเอกชนฟื้นตัวมากขึ้นหลังมีมาตรการกระตุ้น แต่ความสามารถและความเต็มใจจ่ายยังคงต่ำ คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังต้องอาศัยการแก้ปัญหาเชิงลึก และเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกในเดือนตุลาคมดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลของการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลหยุดยาวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีกและการลงทุน จะประกาศภายในสัปดาห์ต่อไป ซึ่งจะเผยให้เห็นว่ามีผลกระทบเป็นเช่นไรในเดือนพฤศจิกายน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 9 ธันวาคม 2567