กกร. แสดงจุดยืน ชง 7 ข้อเสนอค้านขึ้นค่าแรง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ
ข้อเสนอจุดยืนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ชง 7 ข้อเสนอ ต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยมีความผันผวน และเปราะบางจากภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อประเทศ และภาคธุรกิจไทยให้เผชิญกับความท้าทายรอบด้าน
ดังนั้น กกร. จึงขอเสนอแนะแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงบริบททางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1)สถานการณ์สภาพเศรษฐกิจต่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ กกร. เห็นว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศนั้นไม่สอดคล้อง กับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการจ้างงานของทุกภาคส่วนที่ใช้แรงงานทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการภาคเกษตร ภาคบริการ และภาคธุรกิจในทุกระดับ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย
อีกทั้งจากผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ มากกว่าร้อยละ 90 ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และร้อยละ 30 มี มติไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้าง โดยทั้งนี้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดมีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้าง ตามตัวแปรปัจจัยทางเศรษฐกิจ และความสามารถของแต่ละจังหวัด
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น หากคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีกลางจะพิจารณาในทิศทางที่แตกต่าง และไม่สอดคล้องตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ควรมีหลักการสูตรคำนวณ และเหตุผลที่ชัดเจน โปร่งใสที่สามารถชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการไตรภาคีจังหวัด และผู้ประกอบการ/นายจ้างผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากได้
นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังขยายตัวรุนแรง และความไม่แน่นอนต่อสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ สหรัฐอเมริกาซึ่งประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้า ยิ่งเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อภาคธุรกิจไทยทั้งทางตรง และทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
(2)เหตุผล และข้อกังวลต่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ
* ความแตกต่างระหว่างพื้นที่ เศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดของประเทศไทย มีระดับการพัฒนา โครงสร้างเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค การกำหนด อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ประกอบการ และประชาชนในหลายพื้นที่
* ผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคเกษตร ภาคบริการ และภาคธุรกิจในทุกระดับ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจ้างงาน ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด จะส่งผล กระทบต่อต้นทุนการผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และการจ้างงาน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวในปัจจุบัน
* ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ยังคงมีความเปราะบาง และความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ อาทิ สงครามระหว่างประเทศ ความขัดแย้งทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบต่อ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
(3)ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ
* การเลิกจ้าง และลดการจ้างงาน : ผู้ประกอบการที่มีการใช้แรงงานจะต้องลดจำนวนพนักงาน หรือชะลอการจ้างงานใหม่ เพื่อลดต้นทุน หรือหยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ และปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้าง และเลิกจ้างพนักงานเพื่อ ลดต้นทุนให้อยู่รอด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสมดุลของอัตราการว่างงานของประเทศ
* การย้ายฐานการผลิต ผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศ จะไม่สามารถแบกรับต้นทุน และอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศ เพื่อนบ้านที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในที่สุด
* เงินเฟ้อ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลให้ราคาสินค้า และบริการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนที่ไม่ได้ประโยชน์จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นทันที
(4)จุดยืน และข้อเสนอแนะต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย
กกร. ขอแสดงจุดยืน และข้อเสนอแนะต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ของประเทศไทย โดยให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้
4.1)กกร. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องคำนึงถึงมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จังหวัดและการปรับที่ไม่คำนึงถึงตัวเลขที่เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ย่อมไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม (The Rule of Law) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ใช้ แรงงานทุกประเภท หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ หรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้าง และเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด เป็นต้น
4.2)กกร. มีความคิดเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ควรใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ซึ่งควรจะต้องสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการ พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งได้ศึกษา และพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุน การผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวม และสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนความสามารถของประเภทกิจการ/อุตสาหกรรมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุล และเป็นธรรมโดยทั่วกัน
4.3)กกร. มีความคิดเห็นว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะปรับเมื่อมีเหตุจำเป็น และปัจจัยทางเศรษฐกิจบ่งชี้แต่ไม่ควรเกินปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และจะต้องดำเนินการตามกระบวนการ/ขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด
4.4)หากรัฐบาลมีนโยบายต้องการที่จะพิจารณาปรับค่าจ้างแบบจำเพาะนั้น ก็ควรมีการศึกษาความพร้อมของแต่ละประเภทกิจการหรืออุตสาหกรรม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใน ห่วงโซ่อุปทาน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของผู้ประกอบการประเภทกิจการในแต่ละภูมิภาค ตลอดจนข้อจำกัด ข้อได้เปรียบเสียเปรียบ และศักยภาพในการแข่งขันของแต่ละประเภทกิจการ และอุตสาหกรรม เป็นต้น
(5)กกร. สนับสนุนการจ่ายอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill , Multi-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้อง กับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) สามารถ ลดต้นทุน และสร้างความสามารถในการแข่งขัน
(6)กกร. สนับสนุนให้เร่งรัดการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือให้ครบตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติซึ่ง 280 สาขา จากปัจจุบันที่มีการประกาศไว้เพียง 129 สาขา พร้อมทั้งให้มีการขยายสาขาอาชีพมาตรฐานฝีมือรวมทั้งอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือให้ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับแรงงานไทย
(7)กกร. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการดูแลค่าครองชีพเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนเร่งรัดมาตรการเยียวยา ผู้ประกอบการ โดยการส่งเสริมมาตรการทางภาษี มาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม มาตรการส่งเสริมการปรับปรุงเครื่องมือและเครื่องจักร มาตรการส่งเสริม และพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ เพื่อลดผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เป็นต้น
คณะกรรมการ กกร. เชื่อมั่นว่าการดำเนินนโยบายปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม และเป็นธรรมภายใต้กรอบกฎหมาย และตามมติของคณะอนุกรรมการ พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนข้อเท็จจริงจากพื้นที่จังหวัด จะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนทุกภาคส่วน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 9 ธันวาคม 2567