ไทย หนุนอุซเบกิสถาน ร่วม WTO จ่อหารืออาเซอร์ไบจาน-ภูฏาน ต่อ
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา และนาย Azizbek Urunov ผู้แทนพิเศษประธานาธิบดีในประเด็นองค์การการค้าโลกและหัวหน้าคณะเจรจาของอุซเบกิสถาน ร่วมลงนามในพิธีสารการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทย-อุซเบกิสถาน ภายใต้กระบวนการภาคยานุวัติเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของอุซเบกิสถาน โดยมี นาย Jamshid Khodjaev รองนายกรัฐมนตรีอุซเบกิสถาน ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา
การลงนามพิธีสาร เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก ซึ่งอุซเบกิสถานเริ่มต้นกระบวนการสมัครเป็นสมาชิก WTO ตั้งแต่ปี 2537 ก่อนจะหยุดชะงักไปในปี 2548 และได้เข้าสู่กระบวนการอีกครั้งเมื่อปี 2563
ในส่วนของการเจรจาข้อเสนอทวิภาคีในการเปิดตลาดกับไทยได้สรุปผลการเจรจาได้สำเร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในช่วงระหว่างการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 13 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับอามิเรตส์
ทั้งนี้ ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 22 ที่ได้มีการลงนามในพิธีสาร จากทั้งหมด 33 ประเทศ และอุซเบกิสถานตั้งเป้าเข้าร่วมเป็นสมาชิก WTO ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 14 ในปี 2569 ณ ประเทศแคเมอรูน
การลงนามพิธีสารนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของไทยในการสนับสนุนให้อุซเบกิสถานร่วมเป็นสมาชิกของ WTO
ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการส่งออกสินค้าของไทยและเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอุซเบกิสถาน ผ่านการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรให้กับสินค้าไทยที่มีศักยภาพการผลิตและส่งออก ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ กระดาษ พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว อาหารปรุงแต่ง กุ้งแช่แข็ง และอาหารสัตว์
ปัจจุบันอุซเบกิสถานเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียกลาง ในปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 106.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 96.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 9.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 2567 WTO มีสมาชิกเข้าใหม่ 2 ประเทศ ได้แก่ โคโมโรส และติมอร์เลสเต โดยหลังจากเจรจาเปิดตลาดสินค้าและบริการกับอุซเบกิสถานเสร็จแล้ว ไทยยังมีการเจรจากับอาเซอร์ไบจานและภูฏานที่กำลังดำเนินการอยู่
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 10 ธันวาคม 2567