จีนเปลี่ยนท่าทีนโยบายการเงิน "ครั้งแรก" ในรอบเกือบ 14 ปี ตั้งรับภาษีทรัมป์
จีนปรับนโยบายการเงินครั้งสำคัญในรอบเกือบ 14 ปี จากแต่ก่อนที่ยึดมั่นในนโยบายแบบระมัดระวังมานานหลายปี เปลี่ยนมาเป็น "การผ่อนคลายนโยบายการเงินปานกลาง" ในปีหน้า เพื่อรับมือกับภาษีทรัมป์
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผู้นำระดับสูงของจีนได้เปลี่ยนท่าทีนโยบายการเงินเป็น “ครั้งแรกในรอบเกือบ 14 ปี” นับตั้งแต่ปี 2554 ด้วยการประกาศยึดการผ่อนคลายทางนโยบายการเงิน และให้คำมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับสงครามการค้าครั้งที่สองจากว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (โปลิตบูโร) ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง 24 คน นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศว่า จะใช้นโยบายการเงินแบบ “ผ่อนคลายปานกลาง” ในปีหน้า ซึ่งส่งสัญญาณการผ่อนคลายมากขึ้น และเป็นที่ต้อนรับจากนักลงทุนที่ต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ตามระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยังประกาศว่าจะใช้นโยบายการคลังที่ “กระตือรือร้นมากขึ้น” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากสำนักข่าวซินหัวรายงานในบทความเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า จีนมีพื้นที่ในการเพิ่มการกู้ยืมและขาดดุลการคลังในปี 2568
เจ้าเผิง ซิง นักยุทธศาสตร์อาวุโสจากบริษัทบริการทางการเงินข้ามชาติ ANZ กล่าวว่า “ถ้อยคำในแถลงการณ์ของโปลิตบูโรครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่ชัดเจนว่า จีนจะขยายการใช้จ่ายภาครัฐอย่างแข็งขัน ลดอัตราดอกเบี้ยในวงกว้าง และอาจซื้อสินทรัพย์ด้วย นโยบายที่เข้มแข็งเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า จีนมีความมั่นใจในการรับมือกับภัยคุกคามทางการค้าจากสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์ ที่ประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนถึง 60%”
ทั้งนี้ ค่าเงินหยวนในตลาดต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น 0.1% สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ลดลงเหลือ 1.938% อีกทั้งสกุลเงินในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.3% ก็ได้รับผลบวกจากข่าวนี้เช่นกัน
ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนขนาดใหญ่ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม ภาษีนำเข้าจากสหรัฐที่คาดว่าจะบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ กำลังเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของจีน และสร้างความกังวลว่า เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกจะต้องเผชิญกับผลกระทบจากสงครามการค้า
แม้ว่าจีนจะผ่านทั้งช่วงเวลาการเข้มงวดและผ่อนคลายนโยบายการเงินหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงยึดมั่นกับนโยบายในลักษณะ “รอบคอบ” นับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งในเวลานั้น รัฐบาลจีนเคยใช้นโยบายการเงินแบบ “ผ่อนคลายปานกลาง” ที่เคยใช้ในช่วงวิกฤติการเงินโลก เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
สำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายล่าสุดนี้ สะท้อนถึงความเร่งด่วนในการเพิ่มมาตรการผ่อนคลายที่ธนาคารกลางได้ใช้ หลังจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19 ไม่เป็นไปตามที่คาด ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ลดทั้งอัตราดอกเบี้ยและลดอัตราส่วนเงินสำรองหลายครั้ง
แม้ว่าทางการจะพบว่าการกระตุ้นการกู้ยืมนั้นทำได้ยาก
ในการประชุมใหญ่ประจำเดือนธันวาคม มักจะกำหนดวาระสำหรับการประชุมงานเศรษฐกิจกลางประจำปี ซึ่งเป็นการประชุมที่กำหนดลำดับความสำคัญสำหรับปีถัดไป และคาดว่าเจ้าหน้าที่จีนจะหารือเกี่ยวกับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2568
บรูส ผาง นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ประจำภูมิภาคจีนแผ่นดินใหญ่ของบริษัท Jones Lang LaSalle กล่าวว่า “เราคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไว้ที่ประมาณ 5%
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 9 ธันวาคม 2567