"ททท." หนุนจัด "เอ็กซ์คลูซีฟ อีเวนต์" อาวุธใหม่ท่องเที่ยวไทย ปั้นรายได้ปี 68
"เอ็กซ์คลูซีฟ อีเวนต์" (Exclusive Event) ขาย "ความพิเศษ" มีเฉพาะในไทย! คือ "อาวุธใหม่" ของภาคการท่องเที่ยวไทย ในการดึงชาวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากจุดหมายปลายทางอื่นๆ
จิระวดี คุณทรัพย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า ตามแผนการโปรโมต “สินค้าด้านการท่องเที่ยว” ของ ททท. นอกเหนือจากการมุ่งขยายฐานตลาด “นิชมาร์เก็ต” ให้ตรงตามความสนใจเฉพาะเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ “กลุ่มใช้จ่ายสูง” เฉลี่ยเกือบ 80,000 บาทต่อคนต่อทริป ให้เดินทางเข้าไทยมากขึ้น โฟกัส 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism), กลุ่มท่องเที่ยวเชิงหรูหรา (Luxperience), กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) และกลุ่มโรมานซ์ (Romance) คู่รักหรือคู่ฮันนีมูนแล้ว
ในระยะสั้น 1-3 ปีนับจากนี้จะเน้นส่งเสริมการจัดงานลักษณะ “เอ็กซ์คลูซีฟ อีเวนต์” จากทุกตลาด เช่น กีฬา ดนตรี และคอนเสิร์ต อย่างต่อเนื่องด้วย โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) เป็นผู้ศึกษาความคุ้มค่าในการดำเนินการเรื่องนี้ หลังเล็งเห็นศักยภาพของการจัดงานระดับโลกจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงได้เป็นอย่างดี
หรือแม้แต่ “อีเวนต์กีฬา” ในลักษณะเวิลด์ซีรีส์ (World Series) อย่างที่ผ่านมามีการแข่งขันวิ่งเทรล “HOKA CHIANG MAI THAILAND BY UTMB® 2024” เมื่อวันที่ 5-8 ธ.ค. ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นรายการเวิลด์เมเจอร์ มีนักวิ่งเข้าร่วมกว่า 7,000 คน พบว่ากว่า 70% เป็นชาวต่างชาติ หนุนสร้างรายได้รวมมากกว่า 800 ล้านบาท
รวมถึงรายการ “Amazing Thailand Marathon Bangkok 2024” ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 3 งานแข่งวิ่งมาราธอนดีที่สุดในเอเชีย โดยมีนักวิ่งมาราธอนชื่อก้องโลก “เอเลียด คิปโชเก” มาเป็นทูตการท่องเที่ยวและกีฬา และร่วมวิ่งในงานนี้ด้วย ส่วนจำนวนนักวิ่งมาราธอนเข้าร่วมงานทั้งหมด ทุบสถิติมากเป็นประวัติการณ์ด้วยตัวเลข 33,712 คน เป็นชาวต่างชาติ 30% จาก 77 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้หมุนเวียน 660 ล้านบาท ทั้งนี้ “สรวงศ์ เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีนโยบายให้ดึงสปอนเซอร์ระดับโลกเข้ามาร่วมสนับสนุนงานในปี 2568 เพื่อดึงดูดนักวิ่งจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น
ส่วนการจัดกิจกรรมอีเวนต์ด้านประเพณีต่างๆ นอกจากงานเคานต์ดาวน์ ตรุษจีน สงกรานต์ และลอยกระทง ที่ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างจัดอย่างยิ่งใหญ่อยู่แล้ว ทำให้ ททท.ต้องมีนวัตกรรมใหม่ในการทำงาน เพื่อสร้างจุดขายให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว ด้วยการยกระดับอีเวนต์ที่มีศักยภาพให้เป็น “อีเวนต์ประจำปี” สู่การเป็น “อีเวนต์ระดับเรือธง” (Flagship Event) ในอนาคต!
เฉกเช่น “วิจิตรเจ้าพระยา” งานแสดงแสงสีริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปีนี้จัดเป็นปีที่ 3 แล้ว (ตั้งแต่ 16 พ.ย.-15 ธ.ค.) ได้สร้างปรากฏการณ์! เห็นพัฒนาการชัดเจนว่าเป็นงานที่ผู้คน “เอ็นจอย” อย่างมาก ทั้งเอ็นจอยกับการแสดงโชว์ ประเมินว่าจะมีผู้ชมสองฝั่งแม่น้ำไม่น้อยกว่า 5 แสนคน และเอ็นจอยกับรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ใกล้บริเวณจัดงานซึ่งกระจายหลากจุด หลายชุมชน ร้านค้าร้านอาหาร เศรษฐกิจฐานรากได้ประโยชน์ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท คุ้มค่ากับงบลงทุนไป 58 ล้านบาทสำหรับงานนี้
“ททท.มองเรื่องการพัฒนางานประเพณีที่สามารถต่อยอดเป็นจุดขายใหม่ๆ เช่น ประเพณีไหลเรือไฟ จ.นครพนม สามารถขายการท่องเที่ยวเชื่อมสู่ลาว หรือกระจายไปยังเมืองน่าเที่ยวอื่นๆ ในไทยได้ เพราะเส้นทางท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางที่ชาวต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้ว หรือแม้แต่งานแห่ดาวคริสต์มาส จ.สกลนคร หรืองานเทศกาลด้านครีเอทีฟ เช่น เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week 2024) ตั้งแต่วันที่ 7-15 ธ.ค. ก็เป็นกิจกรรมที่ ททท.สามารถพัฒนาเพื่อสร้างจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้าพื้นที่ได้มากขึ้นเช่นกัน”
นอกจากนี้ ททท.ยังส่งเสริมเทศกาลดนตรีนานาชาติ การประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ การแข่งขันกีฬาหรู เช่น การแข่งเรือยอชต์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นสถานที่จัดงานแฟชันโชว์ ขณะเดียวกันได้มุ่งเน้นสร้างความร่วมมือกับ “แบรนด์หรู” ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แฟชัน สปา และโรงแรมหรู เพื่อสร้างประสบการณ์ที่โดดเด่นและน่าประทับใจแก่นักท่องเที่ยว “กลุ่มลักชัวรี” โดย ททท.จะรุกทำการตลาดในประเทศที่มีศักยภาพด้านลักชัวรี อาทิ สหรัฐ จีน และตะวันออกกลาง เพื่อนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยวตอบโจทย์กับกลุ่มเป้าหมาย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 11 ธันวาคม 2567