ระดมกำลังปั้นแลนด์มาร์กระดับโลก กระตุ้นท่องเที่ยวไทย
ปี 2568 ประเทศไทยประกาศตัวเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค "Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025"
องค์ประกอบสำคัญที่ขับเคลื่อนคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว ทั้งด้านบุคลากร คุณภาพของการบริการ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การจัดกิจกรรมนานาชาติ หรืออีเวนต์ขนาดใหญ่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมทั้งการสร้างแหล่งท่องเที่ยวแบบ Man-made ที่จะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ “Jurassic World : The Experience” ของบริษัท แอสเสทเวิรด์ แอทแทรคชั่น แอนด์ รีเทล จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร
โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท บนพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยบริษัทจะพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าวให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพฯและประเทศไทย
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุ โครงการนี้ถือเป็นการลงทุนสร้างศูนย์กลางการท่องเที่ยวและความบันเทิงระดับโลกโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากแฟรนไชส์ภาพยนตร์ชื่อดัง “Jurassic World” จาก Universal Pictures และ Amblin Entertainment ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก
มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างไดโนเสาร์แอนิมาทรอนิกส์ที่มีการเคลื่อนไหวเสมือนจริง ใช้นวัตกรรมการออกแบบ 3 มิติ และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมการเคลื่อนไหว เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่สมจริงมากที่สุด ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะแฟนคลับคนรักไดโนเสาร์ที่มีอยู่ทั่วโลก ถือเป็นประสบการณ์ความบันเทิงรูปแบบอิมเมอร์ซีฟที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก และเป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้าน บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด โดย วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ยังเปิดตัว MEGA HARBORLAND บนพื้นที่กว่า 11,000 ตร.ม. ที่มีทั้ง HARBOR ISLAND สวนน้ำลอยฟ้าใหญ่ที่สุดในไทย และ HARBORLAND สนามเด็กเล่นในร่มในระดับเวิลด์คลาส บริเวณชั้น 3 ของเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย เดอะมอลล์ กรุ๊ป ร่วมกับ ฮาร์เบอร์แลนด์ กรุ๊ป ผู้ประกอบการสวนน้ำและสนามเด็กเล่นในร่มรายใหญ่ในไทย
ปราการ นกหงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาร์เบอร์แลนด์ จำกัด ระบุ ได้ทุ่มงบกว่า 500-600 ล้านบาท สร้าง HARBOR ISLAND สวนน้ำลอยฟ้าระดับเวิลด์คลาสใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ AQUA WORLD มหานครหฤหรรษ์ มหัศจรรย์ใต้สมุทร สาขาแรกและสาขาเดียว โดยมีความพิเศษการรวมสนามเด็กเล่นในร่ม และสวนน้ำลอยฟ้าไว้ในบริเวณชั้นเดียวกัน มีบริการที่ครบวงจรและมีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย
ประกอบด้วย 7 โซน ได้แก่ SUPER ISLAND กับ AQUA TOWER ขนาดยักษ์ พร้อมหอคอยสไลด์ลอยฟ้า มีสไลด์ถึง 18 แบบ, LITTLE ISLAND SPARY PARK ที่ออกแบบเครื่องเล่นมาให้สนุกกันได้ทั้งครอบครัว โดยเฉพาะคุณหนูๆ, LAZY ISLAND ผจญภัยกับสายน้ำแห่งความสนุก พร้อม FX น้ำหลากหลายรูปแบบ, JUNGLE ISLAND สนามเด็กเล่นกลางแจ้งให้เด็กๆ ผจญภัย
SKY RIDER ท้าทายความกล้า เหินเวหาเหนือขอบฟ้า กับ ROLLING ZIPLINE บนความสูงกว่า 8 เมตร ระยะทางกว่า 100 เมตร ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เหมาะสำหรับเด็กความสูงตั้งแต่ 120 ซม., TOYS ISLAND โชนของเล่นน้ำ เสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก และ ART ISLAND สนุกกับงานศิลปะ ที่เสริมสร้างสมาธิและความคิดสร้างสรรค์
ปัจจุบันเปิดสวนสนุกฮาร์เบอร์แลนด์กับกลุ่มเดอะมอลล์ทั้งหมด 5 สาขา และเตรียมพบกับ HARBOR ISLAND สาขาใหม่ ที่เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางแค เร็วๆ นี้
ผลจากการลงทุนจากภาคเอกชนคาดว่าจะทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวไทยคึกคัก
ล่าสุด เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ระบุถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือนมกราคม 2568 (สำรวจระหว่างวันที่ 8-27 มกราคม 2568) ผู้ตอบแบบสำรวจ 109 แห่ง พบธุรกิจโรงแรมปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือนมกราคม 2568 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 74% จากเดือนเดียวกันปีก่อน
ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ประเมินว่า ใน Q1/68 จำนวนลูกค้าต่างชาติจะเพิ่มขึ้น และราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวันมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างน้อย 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น และการแข่งขันด้านราคาระหว่างธุรกิจยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้ของธุรกิจโรงแรมในระยะต่อไป
เทียนประสิทธิ์ย้ำว่า แนวโน้มการเติบโตด้านการท่องเที่ยวยังเป็นไปในทิศทางบวก สะท้อนจากความสำเร็จของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่ยังมีปัจจัยที่ยังต้องติดตามคือ ผลกระทบจากค่าฝุ่น PM2.5
ตลอดจนการแข่งขันเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงขึ้นจากการออกมาตรการฟรีวีซ่าในหลายประเทศ
รวมถึงภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย ซึ่งทางหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ต้องอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
รวมถึงเทรนด์ท่องเที่ยวปี 2568 การเดินทางท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับโรงแรมและธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับโรงแรมที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรป เนื่องจากรับรู้ถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อน โรงแรมต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวสู่การใสใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อรองรับระเบียบข้อบังคับใหม่ของโลกด้านความยั่งยืนที่จะบังคับใช้ชัดเจนในปี 2569
เทียนประสิทธิ์ทิ้งท้ายว่า เชื่อมั่นแผนการท่องเที่ยวของภาครัฐที่บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน การเพิ่มความถี่เที่ยวบินให้เพียงพอต่อการเดินทาง ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว
จะผลักดันให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวยกระดับมาตรฐานความยั่งยืน!!
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568