ไทย-ลาว ต่อยอดการหารือผู้นำ จัดสัมมนาทางธุรกิจ ดันท่องเที่ยว – ส่องโอกาสลงทุน
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ในงานสัมมนาทางธุรกิจไทย-ลาว เบิ่งโอกาส สานประโยชน์ ก้าวสู่ความรุ่งโรจน์ร่วมกัน ที่ห้องบอลรูม โรงแรมอนันตรา กรุงเทพฯ ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีภาครัฐและภาคเอกชนจากไทยและลาว รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ในช่วงพิธีกล่าวเปิดงาน ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและ สปป. ลาว สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนานและความตั้งใจในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ พร้อมกล่าวว่า สปป. ลาวถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ EXIM BANK ให้การสนับสนุนโดยมีโครงการลงทุนในการผลิตไฟฟ้า พลังน้ำและพลังงานทางเลือกเป็นสัดส่วนที่สำคัญ อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับธนาคารการค้าต่างประเทศลาวมหาชน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนใน สปป. ลาว โดยเฉพาะการทำ ‘kip utilization’ ในการดำเนินกิจการเป็นงานสกุลลาวด้วย
“EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจให้ขยายไปในกลุ่มประเทศ CLMV อันได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาและเวียดนามและตลาดใหม่ร่วมกันอย่างมีศักยภาพ เพื่อต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค สร้างโอกาสการเติบโตของภาคธุรกิจในทุกระดับ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน รวมถึงการอนุรักษทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” ดร. รักษ์กล่าว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย กล่าวเปิดการสัมมนาธุรกิจไทย-ลาว ว่า การสัมมนาถือเป็นการต่อยอดประเด็นจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยและลาวให้เกิดเป็นผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรม สำหรับความร่วมมือด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ ไทยและ สปป. ลาวมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด มีสะพานมิตรภาพร่วมกัน 4 แห่ง และกำลังมีแห่งที่ 5 ในปีนี้ และแห่งที่ 6 ในอนาคต กว่า 80% ของการค้าและการขนส่งระหว่างไทย-ลาว ใช้สะพานเหล่านี้
นายสุริยะระบุด้วยว่า มีการลงนาม technical agreement ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยและวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งผู้โดยสารและการใช้โครงข่ายรถไฟไทย-ลาว เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้ง สำหรับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ในปี 2567 ไทยเป็นตลาดท่องเที่ยวอันดับ 1 ของ สปป. ลาว โดยมีนักท่องเที่ยวไทยกว่า 1.2 ล้านคน ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวลาวเดินทางมาที่ไทยกว่า 1.1 ล้านคน
“ท่านนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวระหว่างกันให้ถึง 3 ล้านคนในปีนี้ ทั้งยังจะร่วมมือในโครงการ Six Countries One Destination เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนอกภูมิภาคและเชื่อมโยงตลาดท่องเที่ยว” นายสุริยะกล่าวเสริม
ด้านนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว กล่าวว่า ไทยและลาวเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง และมีความผูกพันธ์ในหลากหลายด้าน สองรัฐบาลได้ตกลงที่จะสร้างปัจจัยและเงื่อนไขเอื้ออำนวยในการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเชื่อมต่อและการท่องเที่ยว การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนให้มากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเส้นทางคมนาคมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากนั้น มีการลงนามในเอกสารและสัญญาหลายฉบับเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้วย
ไทยเป็นผู้ร่วมพัฒนาที่สำคัญของลาวในหลายด้าน ตั้งแต่การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ไทยและลาวยังมีกลไกความร่วมมือในระหว่างภาครัฐ และภาคธุรกิจด้วยกัน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง วัฒนธรรมและสังคม พร้อมกล่าวอีกว่า นับตั้งแต่ที่ สปป. ลาวได้เปิดการลงทุนจากต่างประเทศถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าไปลงทุนทั้งหมด 675 โครงการ ถือเป็นอันดับ 2 ใน 53 ประเทศที่มีการลงทุนใน สปป. ลาว ด้วย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน กล่าวว่า ปัจจุบัน สปป. ลาวถือเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของไทย โดยไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆ ของลาว ขณะที่ลาวเป็นตลาดสำคัญของสินค้าและการบริการของไทย ในด้านการลงทุน ไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในลาว โดยเฉพาะทางด้านกลุ่มพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ด้านอุตสาหกรรม และเกษตรแปรรูป ขณะที่ลาวมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานสะอาดของภูมิภาค โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่สามารถส่งออกไฟฟ้ามายังประเทศไทย
“การพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์และการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและลาวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทั้งสองประเทศ โครงการรถไฟไทย-ลาว-จีน ที่สามารถเชื่อมโยงมายังไทย รวมถึงโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้เติบโตต่อไป” นายเกรียงไกรกล่าว
ต่อมา นายอุเดด สุวันนะวง ประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางด้านการทูตระหว่างไทยและลาวดำเนินมายาวนานกว่า 75 ปี ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่ขยายตัวขึ้น แสดงให้เห็นว่า การลงทุน การค้าและการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยและลาวมีอัตราการเติบโตมากขึ้น พร้อมกล่าวด้วยว่า ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจในเรื่องการลงทุน และมีพบปะแลกเปลี่ยนกันหลายครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสของสองประเทศในการขยายเศรษฐกิจด้วย
เสร็จจากนั้น มีการอภิปรายเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงไทย – ลาว โดยมีผู้กล่าวอภิปราย ได้แก่ ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย นายธนวัฒน์ จิตบันเทิงพันธ์ กรรมการสายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายดาวจินดา สีหาราด ผู้อำนวยการใหญ่การรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว และนายอนงค์เดช เพชรไกรสร รองผู้อำนวยการทางรถไฟลาว-จีน ร่วมกล่าวอภิปราย
นอกจากนั้น ยังมีการสนทนาในหัวข้อ การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนไทย-ลาว โดยมีนายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวแห่งประเทศ นายธเนศ วรศรัณย์ กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวคุณภาพสูง วันทนา นอนิลทา หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการลงทุนกระทรวงแผนการและการลงทุน พรวลี อินทพงษ์ หัวหน้ากรมพัฒนาการท่องเที่ยวกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สปป. ลาว และอินที เดือนสะหวัน คณะบริหารงานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาวและผู้ก่อตั้งบริษัทอินทรา ร่วมพูดคุย
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568