ปัญหาพุ่ง ! ท่องเที่ยวร้อง ลด "วีซ่าฟรี" เหลือ 30 วัน
นโยบายยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้ชาวต่างชาติจาก 93 ประเทศหรือดินแดน โดยให้อยู่ในไทยได้ไม่เกิน 60 วัน เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 อาจไม่ใช่ปัจจัยบวกของภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจของไทยเพียงด้านเดียว
ในทางกลับกันได้กลายเป็นมาตรการที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อเข้ามาทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ
วันนี้แม้ภาคการท่องเที่ยวได้มีการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับลดวันพำนักสูงสุดสำหรับการยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวจาก 60 วันให้เหลือ 30 วัน เพราะกังวลว่าการยกเว้นวีซ่าอาจถูกใช้เป็นช่องทางในการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย
นักท่องเที่ยวอยู่เกิน-ทำธุรกิจผิดกฎหมาย :
“ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) บอกว่าปัจจุบันมีการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายในไทย สร้างความไม่เป็นระเบียบและกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ
โดยเฉพาะการที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มอยู่ในประเทศเกินระยะเวลาที่กำหนด และยังประกอบธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เช่น การทำธุรกิจที่กระทบกับคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและที่พัก
“ในกรณีของนักท่องเที่ยวจีนนั้น แม้รัฐบาลไทยจะร่วมมือกับทางการจีนในการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา แต่สถานการณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น และลดลงจาก 20,000-30,000 คนต่อวัน ในปี 2562 เหลือไม่เกิน 10,000 คนต่อวันในปัจจุบัน
โดยคาดว่าจำนวนการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนในปี 2568 อาจไม่ถึงเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 8.5-9 ล้านคน ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวยังคงอยู่ ประเทศไทยอาจไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนได้ตามที่คาดหวัง และอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนเป็นหลัก
เช่นเดียวกับ “เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ที่บอกว่า อยากเสนอให้รัฐบาลปรับลดระยะเวลาพักสูงสุดสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 60 วันเหลือ 30 วันเช่นกัน เพื่อให้สามารถควบคุมการพำนักของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศได้ดียิ่งขึ้น และสามารถลดปัญหาความมั่นคงและการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย
“ภาคเอกชนท่องเที่ยวเห็นด้วยกับการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 93 ประเทศ แต่มีความกังวลว่าการยกเว้นวีซ่าอาจถูกใช้เป็นช่องทางในการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มอยู่ในประเทศไทยเกินระยะเวลาที่กำหนด หรือเข้ามาทำธุรกิจที่ไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว”
หวั่นกระทบ “ความมั่นคง” :
“เทียนประสิทธิ์” บอกด้วยว่า ตอนนี้เอกชนท่องเที่ยวกังวลถึงสถานการณ์การลงทุนจากชาวต่างชาติในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในไทย โดยเฉพาะการลงทุนที่ไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
เพราะพบว่าปัจจุบันมีการใช้ “นอมินี” เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจในประเทศไทยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่ทั่วถึง
“แม้ว่ากฎหมายไทยกำหนดว่าชาวต่างชาติสามารถลงทุนในธุรกิจได้ แต่ต้องมีผู้ถือหุ้นไทยเกิน 51% แต่ก็ยังพบว่ามีกรณีที่มีการใช้นอมินี หรือผู้ถือหุ้นไทยที่ไม่ได้มีบทบาทจริงในการดำเนินธุรกิจ”
และเสนอว่าการลงทุนจากชาวต่างชาติควรเป็นการลงทุนใหม่ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่แค่การซื้อกิจการหรือเทกโอเวอร์ที่มีอยู่แล้ว
แนะคุมซื้อที่พักอาศัยต่างชาติ :
นายกสมาคมโรงแรมยังบอกด้วยว่า อยากให้รัฐบาลพิจารณาออกกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการซื้อที่พักอาศัยของชาวต่างชาติ โดยจำกัดจำนวนยูนิตที่ชาวต่างชาติสามารถซื้อได้ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทย
โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนจำนวนมาก เช่น ภูเก็ตและพัทยา (ชลบุรี) ซึ่งพบว่ามีการซื้อบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมเกือบทั้งโครงการ เพื่อนำมาปล่อยเช่าต่อ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว
“ที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวเราเจอปัญหาที่เกิดจากการนำคอนโดมิเนียมมาปล่อยเช่ารายวันให้กับนักท่องเที่ยวแบบผิดกฎหมาย และบางกรณีมีนักท่องเที่ยวเช่าและพักอาศัยในจำนวนมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดความไม่สะดวกและสร้างความรำคาญให้แก่ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น ๆ”
พร้อมระบุว่าในปี 2567 ที่ผ่านมาพบปัญหาการปล่อยเช่าคอนโดฯ รายวันผิดกฎหมายมีความรุนแรงขึ้นในจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าตองและบางเทา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโรงแรมและที่พัก
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 13 มีนาคม 2568