"หนังไทยมาแรง ครองใจคนจีน" เผยโอกาสการลงทุน-ร่วมผลิตภาพยนตร์ไทย-จีน
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย หนึ่งในซอฟท์พาวเวอร์ไทยที่กำลังเป็นที่พูดถึง ด้วยความโด่งดังและกระแสการตอบรับที่ต้านไม่อยู่ของภาพยนตร์ "หลานม่า" ซึ่งครองใจทั้งคนไทยและต่างประเทศ ทำให้วงการหนังไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น พร้อมดึงดูดเหล่าผู้ผลิตและนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่มีความต้องการที่จะต่อยอดธุรกิจร่วมกัน เพื่อส่งเสริมโอกาสในการขยายตลาด รวมถึงการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศกับจีนในด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 สถานกงสุลใหญ่กว่างโจว เล็งเห็นแนวทางการร่วมมือการประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์กับประเทศไทย จึงจัดการสัมมนา เรื่อง “Decoding Thai Films in Chinese Market” โดยมีหัวข้อการพูดคุย 2 ช่วงด้วยกัน ได้แก่ ข้อได้เปรียบและศักยภาพคอนเทนต์ไทยในตลาดจีน รวมถึงกลไกและโอกาสการร่วมผลิตภาพยนตร์ระหว่างไทย-จีน โดยได้นักเขียนบท ผู้กำกับ บริษัทผู้ผลิตและผู้นำเข้าภาพยนตร์ทั้งไทยและจีนมาร่วมกันถอดรหัสการลงทุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในตลาดจีน
ก่อนการสัมมนา นายเฉิน จี้หยาง ผู้อำนวยการสำนักงานภาพยนตร์ของมณฑลไห่หนาน ได้กล่าวเปิดงานสัมมนาและต้อนรับท่านกงสุลใหญ่ ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้างานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติไห่หนาน ครั้งที่ 7 (The 7th Hainan Island International Film Festival: HIIFF) ที่จะจัดขึ้นปลายปี 2025 เข้าร่วมชิงรางวัล และร่วมกิจกรรมอีกมากมาย นอกจากนี้ยังถือโอกาสพิเศษในการฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน
โดยจะมีการจัดแสดงฉายภาพยนตร์ไทยในหัวข้อ Forum “การพัฒนาความร่วมมือด้านลิขสิทธิ์ภาพยนตร์จีน-ไทย” ซึ่งเป็นนี้ยังส่งเสริมนโยบายของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการพัฒนามณฑลไห่หนานให้เป็นเขตการค้าเสรี ผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์หลายด้านและการลงทุนที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของจีน ทั้งนี้ ไทยและไห่หนานยังสามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรซึ่งกันและกัน ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนในไห่หนานและความร่วมมือด้านการผลิตภาพยนตร์ และร่วมกันเล่าเรื่องความเป็นเอเชียและส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์เอเชียต่อไป
ข้อได้เปรียบและศักยภาพของคอนเทนต์ไทยในตลาดจีน :
เริ่มต้นการพูดคุยผ่านมุมมอง นายสวี ข่ายหลง ผู้ก่อตั้งบริษัท Wiseup Media บริษัทนำเข้าและส่งออกภาพยนตร์สัญชาติจีน ได้มาเล่าประสบการณ์การนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามายังประเทศจีน พร้อมยังเสนอแนวทางการเพิ่มโอกาสการร่วมผลิตระหว่างไทย-จีนให้เกิดผลสำเร็จ โดยเริ่มแรกต้องทำให้ภาพยนตร์ไทยเป็นที่ยอมรับในจีนผ่านการพิจารณาหลายด้าน เช่น ปัจจัยด้านนโยบายของหนังละครสั้น (micro drama) ที่เป็นที่นิยมในจีน ปัจจัยด้านค่ายผลิต ที่เป็นค่ายผลิตเดียวกับเรื่องฉลาดเกมส์โกง (2017) และหลานม่า (2024)
เนื่องจากทำรายได้ไว้สูงและเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ผู้ชมชาวจีน ปัจจัยด้านประเภทหนัง เช่น หนังวัยรุ่น ความรัก และระทึกขวัญของไทยที่กำลังเป็นที่นิยมในจีน ต่อมาปัจจัยด้านนักแสดงที่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ชมชาวจีน รวมถึงช่องทางการเผยแพร่และโปรโมทภาพยนตร์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Weibo, BiliBili, หรือ TikTok ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนมีผลต่อความชื่นชอบในหมู่ผู้ชมชาวจีน พร้อมเสริมว่า การดูกระแสความนิยมของประเทศจีนเป็นช่วงๆ รวมถึงการสนับสนุนทุนด้านการพัฒนาภาพยนตร์หรือการซื้อลิขสิทธิ์ ก็อาจแก้ปัญหากระแสความนิยมภาพยนตร์ให้มีระยะยาวขึ้นไปได้เช่นเดียวกัน
ด้าน ดร.สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ และอาจารย์ธนพล เชาวน์วานิชย์ นักเขียนบทชาวไทย ได้มาถอดรหัสว่าทำไมภาพยนตร์ไทยจึงครองใจชาวจีน โดยได้กล่าวว่ามีปัจจัยหลายด้าน เช่น ปัจจัยด้านเทคโนโลยีอย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ ปัจจัยด้านวัฒนธรรมร่วมของไทยและจีนอันมีรากฐานความเชื่อในปรัชญา “ขงจื๊อ” ที่ตีแผ่ผ่านภาพยนตร์ไทยซึ่งตราตรึงใจคนจีน เช่น ฉลาดเกมส์โกง ตีแผ่เรื่องความซื่อสัตย์ และวัฒนธรรมการสอบของคนเอเชีย หรือ หลานม่า ตีแผ่เรื่องความกตัญญูและถ่ายทอดให้เห็นถึงสังคมผู้สูงวัย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัจจัยด้านความคิดสร้างสรรค์ของผู้กำกับไทย ที่ได้นำเสนอประเด็นของกลุ่มคนหลายประเภทออกมาได้อย่างโดดเด่นผ่านการเล่าเรื่องราวหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเล่าเรื่องแบบคู่ตรงข้าม หรือ แนวคิดหยินและหยาง เช่น การนำเสนอเรื่องความกตัญญูกับความอกตัญญู หรือ เรื่องกลุ่มคนสูงวัยกับคนหนุ่มสาวใน “หลานม่า” เหล่านี้สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างลึกซึ้งและยังเป็นจุดร่วมระหว่างไทยและจีน นอกจากนี้ภาพยนตร์ไทยที่ประสบผลสำเร็จ ต่างใช้กลวิธีการมีประสบการณ์ร่วมของความเป็นครอบครัวคนเอเชีย รวมถึงพล็อตเรื่องที่มีความเป็นสากลอีกด้วย
อาจารย์ธนพลให้ความเห็นว่า “ตอนที่เราเขียนบท ถ้าเราเข้าใจตัวละครและเรื่องราวที่ดำเนินไป รวมถึงการพยายามสร้างความรู้สึกร่วมกับผู้ชม นี่อาจจะเป็นเคล็ดลับหนึ่งที่ทำให้คอนเทนต์ไทยเป็นที่นิยมกับคนจีน”
นายเฉิน ไป่ฉี ผู้ริเริ่มเทศการภาพยนตร์ควันเถียว (KwanTeo Film Festival) ได้มาอธิบายถึงความสัมพันธ์ด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระหว่างไทยและจีนว่ามีความเชื่อมโยงกันมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่การเข้ามายังประเทศไทยของคนแต้จิ๋ว จนเกิดทายาทสืบสานวัฒนธรรมและภาษาแต้จิ๋วมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนการใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ตั้งแต่สมัยก่อน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่มีรากฐานวัฒธรรมไทยและจีนแต้จิ๋วผสมผสานกันอยู่ ทั้งนี้ การที่ภาพยนตร์ไทยเป็นที่โด่งดังในจีน ล้วนแล้วถูกกำกับโดยลูกหลานชาวแต้จิ๋ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทำให้หนังไทยครองใจคนจีนคงจะเป็นความรู้สึกร่วมของครอบครัวชาวจีนที่ถูกตีแผ่มาจากผู้กำกับชาวไทยเชื่อสายจีนนั้นเอง
กลไกและโอกาส การผลิตภาพยนตร์ร่วมกับประเทศไทย :
นายวสันต์ หอมแสงประดิษฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) และนายหยาง ข่ายหยวน (Tin Tun) ผู้กำกับภายใต้บริษัท ฮอลลีวู้ด จินเล่อ ได้มาเล่าถึงการประกอบธุรกิจการ co-production กับประเทศจีน พร้อมบอกเล่าวิธีการร่วม co-production และ co-investment กับจีนว่า ถึงแม้การร่วมผลิตภาพยนตร์กับจีนถือว่าเป็นเรื่องยาก จากประสบการณ์การผลิตภาพยนตร์เรื่อง From the River (2023) ที่ผลออกมาไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้และคุณภาพ อันเนื่องมาจากบทภาพยนตร์และการใช้นักแสดงทั้งสองประเทศ ทำให้เสน่ห์ของภาพยนตร์หายไป
ถึงอย่างนั้นก็มีอีกหลายวิธีที่จะทำให้การผลิตร่วมและการลงทุนร่วมในจีนนั้นประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะการใช้นักแสดงจีน การเลือกประเภทภาพยนตร์ที่สามารถฉายได้ที่จีน การร่วมลงทุนกับสถานีโทรทัศน์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน เช่น สถานีโทรทัศน์ฉงชิ่ง หรือ iQIYI (อ้ายฉีอี้) การทำละครสั้น ที่ได้รับความนิยมในจีน รวมถึงการซื้อนวนิยายจีนมาสร้างเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์อีกด้วย
นายชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้บริหารบริษัท คำม่วน และนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนต์ไทย ได้กล่าวถึงเป้าหมายของสมาคม ถึงการทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์และคอนเทนต์ไทยเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะในจีนหรือภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้นและเปิดโอกาสให้นักธุรกิจชาวจีนหรือผู้ลงทุนชาวจีนมาร่วมลงทุน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยและจีนต่อไป “เข้าใจได้ว่าผู้ชมในคนจีนน่าจะเยอะอยู่แล้ว แต่การมีอีก 600 ล้านคนเพิ่มเข้ามา ก็น่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนเช่นเดียวกัน”
ปิดท้ายด้วย คุณสวี เหวินจวิ้น ผู้จัดการทั่วไปบริษัท Sanya Golden Coconut Film และผู้จัดงาน HIIFF กล่าวขอบคุณทางกงสุลและผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งไทยและจีนที่มาเสวนาการร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยและจีนในอนาคต และงาน HIIFF ครั้งที่ 7 ที่จะเกิดขึ้นปลายปี 2025 นี้ จะเป็นเวทีเชื่อมโยงความสัมพันธ์และขยายโอกาสความร่วมมือในอนาคต ทั้งด้านการถ่ายทำ การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการผลักดันภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดจีน โดยอาศัยสิทธิประโยชน์จากเขตการค้าเสรีในไห่หนาน ทั้งนี้ อนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย-จีน ที่เกิดจากความร่วมมือที่แข็งแกร่งและการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์ จะช่วยขยายตลาดและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับวงการภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ
ด้วยกระแสความโด่งดังที่แทบจะต้านไม่อยู่ของ “หลานม่า” ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย หนึ่งในซอฟท์พาวเวอร์ไทยที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากได้ขยายไปสู่ตลาดจีนแบบเต็มรูปแบบผ่านการร่วมผลิตและการร่วมลงทุนกันระหว่างไทย-จีน ก็นับว่าเป็นการขับเคลื่อนไปอีกขั้นสำหรับวงการภาพยนตร์ไทยอย่างแท้จริง
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 19 มีนาคม 2568