"สหรัฐ" ฟาดหนัก ไทยกีดกันการค้า ฟันธงขึ้นภาษีแน่ 2 เม.ย
สหรัฐฟาดแรง ไทยกีดกันการค้า ยก 6 ประเด็นอ้างความชอบธรรมขึ้นภาษี ทั้งสร้างอุปสรรคนำเข้าอาหาร ระบบศุลกากรไม่โปร่งใส ไม่ยอมเปิดตลาดหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง และยังละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เชี่ยวชาญชี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ฟันธงขึ้นภาษีไทยแน่ 2 เม.ย. จับตาขึ้น 2 ขยัก เปิดทางต่อรอง
ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-สหรัฐกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่ท้าทาย หลังสหรัฐเผยรายงานอุปสรรคทางการค้าระบุไทยยังมีอุปสรรคการค้าหลายประเด็น ทั้งมาตรการที่มิใช่ภาษี มาตรการสุขอนามัย ทรัพย์สินทางปัญญา บริการและการลงทุน ข้อจำกัดการถือหุ้นของต่างชาติ แรงงาน
ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะประกาศแผนการเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าสูงสุด 15 ประเทศ ในวันที่ 2 เมษายนนี้ ซึ่งทรัมป์ขนานนามว่าเป็น “วันปลดปล่อยอเมริกา” นั้น รายงานอุปสรรคทางการค้าต่างประเทศล่าสุดของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยภาพรวมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ ที่ยังคงมีประเด็นขัดแย้งหลายประการ
รายงานดังกล่าวระบุว่า ไทยและสหรัฐฯ มีข้อตกลงกรอบการค้าและการลงทุน (TIFA) ที่ลงนามตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นกลไกหลักสำหรับการหารือประเด็นการค้าและการลงทุนทวิภาคี อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศยังคงมีอุปสรรคสำคัญหลายประการ
ไทยถูกจับตาเข้มงวดนำเข้า :
รายงานชี้ว่า อัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ยแบบ MFN (Most-Favored-Nation) ที่ไทยใช้อยู่ที่ 9.8% ในปี 2566 โดยแบ่งเป็นอัตราภาษีเฉลี่ย 27.0% สำหรับสินค้าเกษตร และ 7.1% สำหรับสินค้าที่ไม่ใช่เกษตร ซึ่งไทยได้ผูกพันพิกัดภาษีศุลกากร 76.9% ของรายการสินค้าทั้งหมดในองค์การการค้าโลก (WTO) โดยมีอัตราภาษีผูกพันเฉลี่ยอยู่ที่ 26.6%
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังแสดงความกังวลต่อมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) ของไทย ได้แก่
(1)การห้ามและจำกัดการนำเข้า โดยเฉพาะการจำกัดการนำเข้าเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง แม้ไทยจะมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 20 ปี (2561-2580) ก็ตาม ทั้งนี้ไทยไม่ได้อนุมัติใบอนุญาตนำเข้าเอทานอลสำหรับเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2548

(2)การออกใบอนุญาตนำเข้า ที่ไทยกำหนดให้การนำเข้าสินค้าหลายรายการต้องมีใบอนุญาตนำเข้า เช่น ไม้ ปิโตรเลียม เครื่องจักรอุตสาหกรรม สิ่งทอ เภสัชภัณฑ์ เครื่องสำอาง อาหาร และสินค้าเกษตร
(3)ค่าธรรมเนียมการนำเข้า โดยไทยเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารในรูปแบบค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าสำหรับการขนส่งเนื้อสัตว์ทุกครั้ง
(4)อุปสรรคด้านศุลกากร โดยไทยให้แรงจูงใจแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ริเริ่มการสืบสวนหรือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าไทยเป็นหนึ่งในพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ เพียงไม่กี่รายที่ยังคงมีระบบจูงใจดังกล่าว
อุปสรรคด้านเทคนิค-SPS คลุมเครือ :
รายงานยังระบุถึงประเด็นที่สหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับอุปสรรคด้านเทคนิคต่อการค้า (TBT)และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช(SPS) ของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์นม ในรายงานระบุว่า ในเดือนมิถุนายน 2567 ไทยได้แจ้งต่อคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าของ WTO เกี่ยวกับร่างกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับข้อจำกัดการตลาดอาหารสำหรับเด็ก
ทั้งนี้อุตสาหกรรมสหรัฐ แสดงความกังวลว่าข้อจำกัดที่เสนอไม่ได้ให้ความชัดเจนเพียงพอ และขอบเขตของอาหารที่ครอบคลุมอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์นมหลากหลายประเภทของสหรัฐ ไปยังไทย โดยสหรัฐฯ ยังกังวลว่ากฎระเบียบนี้ได้รับการสรุปและแจ้งต่อราชกิจจานุเบกษาของไทยก่อนที่ช่วงเวลาแสดงความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะสิ้นสุด โดยกฎระเบียบนี้มีกำหนดมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2568
ด้านเนื้อหมู แม้ในปี 2555 ไทยจะระบุว่าจะยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศที่อนุญาตให้ใช้แรกโตพามีน (สารเร่งเนื้อแดง) แต่ไทยยังไม่ได้กำหนด MRLs สำหรับแรกโตพามีนในเนื้อหมู ซึ่งทำให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อหมูของสหรัฐฯ เป็นไปไม่ได้อย่างมีประสิทธิผล เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในประเด็นนี้ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 สหรัฐฯ จึงได้เพิกถอนสิทธิพิเศษทางภาษีปลอดภาษีของไทยประมาณ1 ใน 6 ภายใต้โครงการระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ
รายงานยังระบุถึง ประเด็นสัตว์ปีก ว่าตั้งแต่ปี 2557 ไทยได้ห้ามการนำเข้าสัตว์ปีกมีชีวิตและเนื้อสัตว์ปีกของสหรัฐฯ เป็นครั้งคราว และล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากการปรากฏตัวเป็นครั้งคราวของไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง (HPAI) ในสหรัฐฯ การห้ามนำเข้านี้ใช้กับผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ ทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงแนวทางขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (WOAH) ที่แนะนำให้ประเทศผู้นำเข้าแบ่งเขตการห้ามนำเข้าของตน
ไทยยังละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา :
ไทยยังคงอยู่ในบัญชีจับตามอง (Watch List) ในรายงานพิเศษ 301 ปี 2567 แม้ว่าไทยจะมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในด้านการคุ้มครองและการบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (IP) แต่สินค้าปลอมและการละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงมีให้บริการอย่างสะดวก โดยเฉพาะทางออนไลน์ รายงานตลาดที่มีชื่อเสียงในด้านการปลอมแปลงและการละเมิดลิขสิทธิ์ปี 2567 (Notorious Markets List) ได้รวมศูนย์การค้า MBK Mall เป็นตลาดทางกายภาพที่มีสินค้าปลอมจำนวนมากในกรุงเทพฯ
ข้อกังวลอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาได้แก่ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์โดยอุปกรณ์และแอปพลิเคชันที่อนุญาตให้ผู้ใช้สตรีมและดาวน์โหลดเนื้อหาที่ไม่ได้รับอนุญาต, กระบวนการที่กำหนดโดยการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ปี 2565 ที่อาจนำไปสู่ข้อยกเว้นมาตรการป้องกันทางเทคโนโลยีที่กว้างเกินไป, องค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต, การใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีใบอนุญาตในภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง, ปริมาณงานคงค้างในการยื่นขอสิทธิบัตรยาที่รอการพิจารณา, กระบวนการบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญาทางแพ่งที่ยาวนาน, ค่าเสียหายทางแพ่งที่ต่ำ
อุปสรรคด้านบริการ-การลงทุน :
รายงานยังระบุถึงอุปสรรคด้านบริการที่สหรัฐฯ กังวล อาทิ ในภาคบริการโสตทัศน์ บริการทางการเงิน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์/การค้าดิจิทัล โดยเฉพาะข้อจำกัดการถือหุ้นของต่างชาติในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA) ห้ามไม่ให้คนที่ไม่มีสัญชาติไทยและนิติบุคคลที่มีต่างชาติถือหุ้นข้างมากถือครองเกินกว่า 50% ในหลายภาคส่วน
ทั้งนี้แม้นักลงทุนสหรัฐฯ ที่จดทะเบียนภายใต้สนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ-ไทย (AER) โดยทั่วไปจะได้รับการยกเว้นจากข้อห้ามเหล่านี้ แต่สิทธิพิเศษภายใต้ AER ไม่ได้ยกเว้นการลงทุนของสหรัฐฯ จากข้อห้ามเกี่ยวกับการถือหุ้นข้างมากของต่างชาติในด้านสำคัญหลายด้าน เช่น โทรคมนาคม การขนส่ง การธนาคาร และการแสวงหาประโยชน์จากที่ดินหรือทรัพยากรธรรมชาติ
ประเด็นแรงงานยังไม่ได้รับการแก้ไข :
ในเดือนเมษายน 2563 สหรัฐฯ ได้ระงับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของไทยบางส่วนภายใต้โครงการ GSP เนื่องจากไทยไม่ได้ดำเนินการให้คนงานในไทยได้รับสิทธิแรงงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเสรีภาพในเรื่องมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยยังไม่ได้ผ่านกฎหมายใหม่ใดๆ เพื่อแก้ไขข้อกังวลเกี่ยวกับเสรีภาพดังกล่าว แม้ว่าในเดือนมีนาคม 2567 ไทยได้อนุมัติมติเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ขณะนี้ร่างแก้ไขกำลังอยู่ระหว่างการทบทวนภายในประเทศ ซึ่งการแก้ไขเหล่านี้อาจแก้ไขประเด็นที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
สหรัฐขึ้นภาษีไทยแน่ 2 เม.ย. :
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และอาเซียน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า รายงานของสหรัฐฯใน 6 ประเด็นข้างต้นมองว่าเป็นเหตุผลเพิ่มเติมที่สหรัฐจะใช้ในการปรับขึ้นสินค้าไทย ซึ่งทั้ง 6 ประเด็นไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นประเด็นที่ไทยมีปัญหากับสหรัฐมานานแล้ว ขณะที่เหตุผลเดิมที่เป็นเหตุผลหลักที่สหรัฐจะใช้เป็นข้ออ้างในการขึ้นภาษีสินค้าไทยคือการเกินดุลการค้าของไทยที่มีต่อสหรัฐมาก เพื่อหาทางลดการนำเข้าสินค้าจากไทย และลดการขาดดุลการค้า
“ในวันที่ 2 เมษายนนี้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐขึ้นภาษีตอบโต้อยู่แล้ว เนื่องจากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐมาก โดยในปีที่ผ่านมาไทยเกินดุลมากกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งใน 6 ประเด็นข้างต้นเป็นเหตุผลเพิ่มเติม เพราะในช่วงที่ผ่านมาในการเปิดตลาดของไทยให้กับสินค้าและบริการจากสหรัฐ เราก็ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจของเขาอย่างเต็มที่ เพราะเกรงจะกระทบกับผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้บริโภคในประเทศ”
อย่างไรก็ดีในการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐที่มีต่อไทยในครั้งนี้ มองว่าอาจจะขึ้นเป็น 2 ขยัก โดยขยักแรกในวันที่ 2 เม.ย.อาจจะขึ้นภาษีสินค้าไทย 10% โดยอ้างการทำการค้าที่ไม่ธรรมกับสหรัฐ ใน 6 ประเด็นข้างต้น และขยักที่ 2 (รอบถัดไป) อาจปรับขึ้นอีก 5% รวมเป็น 15% โดยอ้างเหตุผลเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐและผลจากอุปสรรคการค้าในภาพรวม ซึ่งการขึ้นภาษีอาจพิจารณาเป็นรายสินค้าในสินค้าที่ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐมากเป็นหลัก
เลียนโมเดลจีนลดพึ่งตลาดสหรัฐ :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ภาครัฐและเอกชนไทยคงต้องเร่งหาตลาดใหม่ ๆ มาชดเชยตลาดสหรัฐที่มีความเสี่ยงไทยอาจส่งออกไปได้ลดลง ดังตัวอย่างประเทศจีน ที่เคยพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐเป็นอันดับ 1 ของการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการส่งออกจีน แต่ปัจจุบันจีนได้หาตลาดใหม่ อาเซียนได้กลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน ขณะที่ตลาดตามหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน(BRI) ทั้งอเมริกากลาง ยุโรป เอเชีย ตะวันออกกลาง และอื่น ๆ ปัจจุบันมีสัดส่วนต่อการส่งออกของจีนมากกว่า 50%
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 2 เมษายน 2568