"พจน์" เตรียมนำทัพธุรกิจไทย ขยายลงทุนสหรัฐ ลดแรงกดดัน "ทรัมป์"
"พจน์" ประธานหอการค้าฯ คนใหม่ สั่งลุยขยายการค้า การลงทุน ดันสินค้าเกษตรและอาหาร ท่องเที่ยวและบริการ พ่วง AI และเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับธุรกิจไทย เตรียมนำทัพบิ๊กธุรกิจดูช่องทางการลงทุนไทยในสหรัฐ ลดแรงกดดันนโยบายภาษี "ทรัมป์"
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ (คนที่ 26) เปิดเผยในการแถลงนโยบายว่า ในปี 2568 เป็นปีแห่งความท้าทาย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเข้ามารับตำแหน่งประธานหอการค้าไทยในปีนี้ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้ตนพร้อมที่จะสานต่อการทำงานภายใต้แนวคิดนโยบายของอดีตประธานหอการค้าฯ ที่ผ่านมา รวมทั้งนโยบายของนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนก่อนในเรื่อง “Connect the Dots” ที่ให้หอการค้าให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อมุ่งยกระดับเศรษฐกิจไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและในครั้งนี้ตนจะต่อยอดเป็นนโยบาย“Unlocking New Growth: ศักยภาพใหม่ แห่งการเติบโต” ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์หลักของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกช่วง 2 ปีนับจากนี้
ดังนั้นจึงได้ปรับโครงสร้างหอการค้าไทยให้ทันสมัยและตอบโจทย์ เศรษฐกิจใหม่เพื่อให้หอการค้าไทยสามารถเป็นผู้นำในการผลักดันเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน โดยหอการค้าฯ ได้กำหนด 5 เสาหลัก ในการดำเนินงาน จากเดิมที่มี 3 เสาหลัก ได้แก่
(1)การค้าและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการค้าชายแดน
(2)เกษตรและอาหารแปรรูป ผลักดันเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming), Future Food, Halal และการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร และพร้อมที่จะเป็น Foods hub ของโลก
(3)ท่องเที่ยวและบริการ ยกระดับธุรกิจท่องเที่ยวด้วย การท่องเที่ยวคุณภาพสูง เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ
ในครั้งนี้ได้เพิ่มเติมอีก 2 เสาหลัก ได้แก่
(4)AI, Robot, Digital Technology และ Innovation โดยส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสนับสนุน Startup & Deep Tech เป็นต้น
(5)ความยั่งยืน (Sustainability) ผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยก้าวสู่ Net Zero Economy ด้วยการนำหลัก ESG พลังงานทดแทน การลดโลกร้อนมาใช้เป็นมาตรฐานในการทำธุรกิจ
“จะเน้นการทำงานในเชิงรุกมากกว่ารับ โดยจะร่วมกับภาครัฐในการผลักดันในทุกสถานการณ์การค้า การลงทุนโลกเพื่อรักษาการผลิตของประเทศ และพร้อมที่จะรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลง”
นอกจากนี้ จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และการขับเคลื่อนการค้า การลงทุนของไทย ให้สอดคล้องกับซัพพลายเชนของโลก จากปัจจุบันความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้า ส่งผลโดยตรงต่อการการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรมของไทย
ที่ผ่านมาได้มีการตั้งกลไกความร่วมมือไทย-จีน และความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เช่น ไทย-สหรัฐ,ไทยสหภาพยุโรป (อียู),ไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น และตั้งทีมพิเศษกับภาครัฐเพื่อจับตาการค้าโลก การผลักดัน FTA และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้า เพื่อแสวงหาโอกาสให้กับภาคธุรกิจไทย รวมทั้งการสนับสนุนการลงทุนของไทยในต่างประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น บีโอไอ เป็นต้น
“วันนี้การส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยโดยให้เขา(ต่างชาติ)เข้ามาอย่างเดียวไม่ง่าย ดูอย่างสหรัฐนอกจากเราขายสินค้าให้เขาแล้ว เขาก็อยากขายให้เราเช่นกัน และเขายังต้องการให้เราไปลงทุนด้วย ซึ่งต้องสร้างความสมดุลให้ได้ แม้ไม่สามารถเท่ากันได้ในระดับไซซ์เดียวกันก็ตาม แต่เราต้องออกไปลงทุนในประเทศเขาบ้าง”
โดยวันที่ 9-14 พฤษภาคมนี้ จะนำทีมหอการค้าไทย และสมาชิกที่มีความพร้อมและสนใจอยากจะลงทุนในสหรัฐร่วมหอการค้าอเมริกาในไทย และทีมรัฐบาลเพื่อเข้างาน SelectUSA ที่ทุกมลรัฐของอเมริกาได้เชิญชวนไปลงทุน ซึ่งตนจะนำผู้บริหารของบริษัทที่มีศักยภาพไปดูลู่ทางเพื่อขยายการลงทุนในครั้งนี้ เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย หลังมีความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ
อนึ่ง ข้อมูล ณ ปี 2564 มีบริษัทขนาดใหญ่ของไทยลงทุนในสหรัฐแล้ว อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 2 เมษายน 2568