สึนามิภาษี "ทรัมป์" ส่งออกไทยจ่อวูบ 1 ล้านล้าน เกษตร-อาหารอ่วม!
โลกรุมต้าน "ทรัมป์" จุดชนวนภาษีการค้า หลายชาติฮึ่ม! พร้อมตอบโต้ นักวิชาการ-เอกชนประเมินผลกระทบทุบส่งออกไทย 1 ล้านล้าน เศรษฐกิจโลกวูบ ขยายตัวไม่เกิน 3% จี้รัฐบาลเร่งเจรจาต่อรองก่อนเส้นตาย 9 เม.ย. สินค้าเกษตร อาหาร ข้าว ไก่ ระงมกระทบเต็มๆ
“โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐ ประกาศวันปลดปล่อยอเมริกา ยุติการค้าที่ไม่เป็นธรรม ดีเดย์ปรับขึ้นภาษีนำเข้าพื้นฐาน(Baseline Tariff) ในอัตรา 10% กับทุกประเทศที่สหรัฐมีการนำเข้าสินค้า มีผลบังคับใช้ 5 เมษายน และจะเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Trade and Tariff) กับสินค้านำเข้าจากประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า ซึ่งรวมถึงไทยที่ล่าสุดจะถูกเก็บภาษีที่ 37% ในทุกสินค้า มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 โดยสหรัฐมุ่งหวังการปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ จะทำให้มีประเทศมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประกาศดังกล่าวสร้างความตกตะลึง และมึนงงให้กับภาครัฐและผู้ส่งออกของไทย เพราะเดิมทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้ากับประเทศในอัตรา 10-25% ซึ่งการปรับขึ้นภาษีครั้งนี้สูงจากที่ประกาศไว้ถึง 3 เท่าตัว หลายประเทศที่เป็นคู่ค้า และพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส รวมถึงหลายประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศที่จะเจรจาต่อรอง รวมถึงจะใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐ

ทุบส่งออกไทยดิ่ง 1 ล้านล้าน :
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับหลายสิบประเทศในอัตราการตอบโต้(Reciprocal Trade and Tariff) ในครั้งนี้ของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่จะถูกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 37% ซึ่งเหนือความคาดหมาย เพราะอัตราภาษีดังกล่าวสูงกว่าที่โดนัลด์ ทรัมป์เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ถึง 3 เท่า
ก่อนหน้านี้ได้ประเมินผลกระทบทางการค้าที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย กรณีสหรัฐจะเก็บภาษีสินค้าไทย 10% จะกระทบการส่งออกไทยไปสหรัฐลดลงประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท การปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้เป็น 37% คาดจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐลดลงในปีนี้มากกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากอัตราภาษีที่ปรับขึ้น ทำให้ไทยส่งออกได้ลดลง
อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ของสหรัฐกับสินค้าจากหลายประเทศทั่วโลกที่ได้ดุลหรือเกินดุลการค้าสหรัฐในอัตราเฉลี่ย 30-40% คาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว โดยในปีนี้เศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัวได้เพียง 2.5-3% จากที่คาดการณ์ไว้เดิม 3.3% หรือขยายตัวลดลงประมาณ 1% กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ประเมินโดยภาพรวมการปรับขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐต่อสินค้าไทยเป็น 37% จะส่งผลกระทบทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐรวมถึงตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกลดลงประมาณ 7 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาทในปีนี้
“ผลพวงยังกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกจากต้นปีที่ทำนายไว้จะขยายตัวได้ 2.4% คาดจะลดลงเหลือประมาณ 2% และจะยังขยายตัวตํ่ารั้งท้ายอาเซียนต่อไป
รวมถึงจะกระทบทำให้สินค้าจีนจะทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น และกระทบผู้ประกอบไทยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีไทยยังพอมีเวลาเจรจากับสหรัฐ เพราะจะปรับขึ้นภาษีในวันที่ 9 เมษายน สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเร่งคือ การนัดหมายเพื่อเจรจาต่อรองกับสหรัฐ นอกจากนี้ต้องมีฉากทัศน์การเจาะตลาดรายสินค้า รายประเทศ เพื่อชดเชยตลาดสหรัฐที่จะหายไป”
สหรัฐลดภาษี 72% เหลือ 37% :
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เวลานี้ทุกประเทศที่จะถูกขึ้นภาษีต่างวางแผนเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐ ในส่วนของประเทศไทยก็เช่นกัน ทั้งนี้การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐในอัตราตอบโต้ ในส่วนของประเทศไทยสหรัฐคิดจากการเกินดุลการค้าของไทยที่มีต่อสหรัฐ (ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐในลำดับที่ 11 ในปี 2567) รวมถึงผลจากที่สหรัฐกล่าวหาไทยมีการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs) กีดกันสินค้าจากสหรัฐ ซึ่งในข้อเท็จจริงรวมในทั้งสองส่วน สหรัฐจะเก็บภาษีไทยที่ 72% แต่ได้ลดลงครึ่งหนึ่งเพื่อความเป็นมิตร จึงลดเหลือที่ 37%
“ภาครัฐและเอกชนเคยคุยกัน หากสหรัฐเก็บภาษีเราที่ 11% เหมือนที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย 7-8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.7-2.8 แสนล้านบาท แต่พอปรับเพิ่มเป็น 37% หรือขึ้นไปกว่า 3 เท่าคาดจะมีความเสียหายเป็น 2-3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวเป็นการคิดแบบหยาบ ๆ ตามอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบที่แท้จริงคงต้องลงลึกในรายละเอียดอีกครั้ง ในเรื่องนี้ไทยต้องเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐ เพราะเวลานี้ทุกคนยังงงและช็อกมากกับตัวเลขที่ออกมา”
พาณิชย์ช็อกกระทบหนัก 15 สินค้า :
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวยอมรับว่าค่อนข้างตกใจ ที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งตนได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา และได้ติดต่อไปทางสหรัฐแล้วว่า ไทยอยากเข้าไปเจรจา ยํ้าว่า “ไม่ได้นิ่งนอนใจ”
อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกไทยที่จะได้รับผลกระทบการออกมาตรการภาษีตอบโต้( Reciprocal Tariff ในอัตรา 37% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568 มีอย่างน้อย สินค้า 15 รายการได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ,ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ยางรถยนต์, เซมิคอนดักเตอร์, หม้อแปลงไฟฟ้า, ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์, ชิ้นส่วนรถยนต์, อัญมณี, เครื่องปรับอากาศ, กล้องถ่ายรูป, เครื่องปริ้นเตอร์, วัตถุดิบอาหารสัตว์, แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์, ข้าว และตู้เย็น
ลามกระทบการท่องเที่ยว :
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ล่าสุด จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย ซึ่งยังต้องจับตามองใน 2 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 ตลาดนักท่องเที่ยวสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐมีการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก การขึ้นภาษีจะทำให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของชาวอเมริกันสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะเดียวกันสินค้าที่สหรัฐอเมริกาขาย ก็อาจจะขายได้ลำบากขึ้น เพราะส่วนประกอบต่าง ๆ ในการผลิตก็มาจากทั่วโลก เมื่อขึ้นภาษี ต้นทุนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
“ดังนั้นชาวอเมริกันอาจมองการท่องเที่ยวเป็นรายจ่ายรอง ลดการเดินทางไกล หรือ อาจเลือกท่องเที่ยวในประเทศ หรือจุดหมายใกล้ ๆ แทน ซึ่งจะกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาที่เดินทางมาเที่ยวไทย”
ประเด็นที่ 2 ผลต่อเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าจะลามกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลต่อการจ้างงานและรายได้ การท่องเที่ยวในภาพรวมทั่วโลก ก็จะได้รับผลกระทบเมื่อผู้คนมีรายได้ลดลง
อย่างไรก็ตามผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการท่องเที่ยวไทย มองว่าระยะสั้น (1-6 เดือน) นี้อาจจะยังไม่เห็นผลชัดเจน เพราะนักท่องเที่ยวมีการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวไทยล่วงหน้าแล้ว แต่อาจจะมีผลในระยะกลาง หลัง 6 เดือนไปแล้ว หรือหลังจากเดือนกันยายนไปแล้ว เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจชัดเจนขึ้น หากมีการเลิกจ้างงานในวงกว้าง
กังวลนักท่องเที่ยวสหรัฐหดหาย :
นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เผยว่า การประกาศขึ้นภาษีทรัมป์ จะมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านการส่งออก แล้วส่งผลต่อการใช้กำลังการผลิต และการจ้างงาน ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นประเทศไทย ควรจะต้องเจรจาต่อรอง ลดผลกระทบโดยตรง การหาตลาดทางเลือกรองรับ ตลาดส่งออกทดแทน และร่วมกับประเทศที่มีผลกระทบ ทำเครือข่าย ต่อรองร่วมกัน เพื่อให้มีนํ้าหนักการเจรจาที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (1 ม.ค.-31 มี.ค.2568) นักท่องเที่ยวสหรัฐเดินทางมาเที่ยวไทย ติดอันดับ 8 โดยอยู่ที่ 320,631 คน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยทั้งหมดอยู่ที่ 9.5 ล้านคน
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐส่งผลกระทบต่อการผลิตโดยตรง แต่ในแง่ของการท่องเที่ยวยังคงต้องจับตามอง แต่ททท.ก็มองในมุมบวกว่า ต่อไปสินค้าไทยในสหรัฐอเมริกาก็จะแพงขึ้น ดังนั้นหากนักท่องเที่ยวสหรัฐ และนักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ เดินทางมาพักผ่อนท่องเที่ยวในไทย ก็จะ Value of Money จากการจับจ่ายซื้อสินค้า และใช้บริการต่าง ๆ ได้อย่างคุ้มค่าเงิน
สินค้าเกษตร-ข้าว ผวากระทบ :
นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยว่า ได้สั่งการให้ส่วนการต่างประเทศ ของสภาเกษตรฯ ศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากการประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐ 37% ว่ามีผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า หลังจากทราบผลประกาศของสหรัฐประเทศไทยจะถูกเรียกเก็บสูงถึง 37% ถือว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก และจะส่งผลต่อตลาดข้าวไทยในสหรัฐ เฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิไทยที่มีสัดส่วนในตลาดสหรัฐปี 2567 สูงกว่า 850,000 ตัน จากปกติเฉลี่ยราคาตันละ 900-1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
แต่เมื่อสินค้าไทยถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 37% จะทำให้ราคาข้าวหอมมะลิไทยในตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันทันที ถือว่าสูงมาก เทียบกับข้าวหอมจากเวียดนามที่จะถูกเรียกเก็บภาษีสูงกว่าไทยที่ 46% แต่ราคาข้าวหอมเวียดนามเฉลี่ยตันละ 600-700 ดอลลาร์เท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคน่าจะลดการซื้อข้าวหอมมะลิไทยและหันไปซื้อข้าวหอมเวียดนามแทนก็ได้
“ไก่”พะวงผลกระทบทางอ้อม :
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า การส่งออกไก่ไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ แต่อาจจะมีผลกระทบข้างเคียง ซึ่งต้องไปพิจารณารายประเทศว่ามีประเทศใดที่ได้รับผลกระทบบ้าง จากการขึ้นภาษีในครั้งนี้ แล้วก็ต้องลุ้นว่าคู่ค้าจะหันมาซื้อประเทศไทยหรือไม่ ยกตัวอย่าง สหรัฐฯ ส่งสินค้าไปจีน จีนก็จะขึ้นภาษีตอบโต้ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ จีนอาจจะหันมาซื้อสินค้าไทยทดแทนสินค้าจากสหรัฐ เป็นต้น
ไทยอ่วมเผชิญศึกทั้งสหรัฐฯ-จีน :
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า ภาษีที่สหรัฐประกาศภาษีออกมาถือว่าเกินกว่าที่ไทยได้คาดการณ์ไว้มากพอสมควร และอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ หากเทียบกับในอาเซียนภาษีไทยจะน้อยกว่าเวียดนาม และกัมพูชา สิ่งที่เป็นกังวลในระยะสั้นคือการส่งสินค้าจากไทยไปสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร
ทั้งนี้ ผู้นำเข้าจากสหรัฐฯจะเจอกับสถานการณ์ภาษีและเกิดเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากการขึ้นภาษี ส่งผลกระทบกับไทยโดยตรง เช่น ส่วนแบ่งตลาดข้าวของไทยในสหรัฐฯ ที่สูงถึง 53.6% เป็นเบอร์ 1 จากส่วนแบ่งตลาดรวมจากทุกประเทศที่ส่งข้าวเข้าสหรัฐฯ รองลงมาจะเป็นอินเดีย จีน ปากีสถาน และเวียดนาม
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่ถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีสูง จะกลายมาเป็นคู่แข่งไทย การขายตัดราคาจะรุนแรงขึ้น โดยระยะเวลาปรับตัวสำหรับภาษีใหม่นี้ ค่อนข้างกระชั้นชิดในการมีผลบังคับใช้ และไทยก็อาจจะปรับตัวได้ช้า ปลายทางของไทยจะสามารถเจรจาคู่ค้าได้มากน้อยแค่ไหน ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป และรัฐบาลจะเจรจาอย่างไรเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบหนักต่อประเทศไทย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 4 เมษายน 2568