ห่วงโซ่อุปทาน "เวียดนาม" เปลี่ยนโฉมตลอดกาล
คงเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดใจไม่น้อยสำหรับเวียดนาม หลังโดนสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 46% มากเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งมาตรการภาษีครั้งล่าสุดนี้จะทำให้เวียดนามลำบากมากขึ้นและส่งออกได้ยากกว่าเดิม เพราะต้องเผชิญกับอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง
แม้ว่าที่ผ่านมา เวียดนามจะคอยเอาใจสหรัฐ ผ่านมาตรการจูงใจต่าง ๆ ตั้งแต่ลดอัตราภาษีนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) และรถยนต์บางรุ่น ตลอดจนผ่อนเกณฑ์ภาษีสินค้าเกษตรอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล อัลมอนด์ และเชอรี่ รวมถึงอนุญาตให้สตาร์ลิงก์เปิดบริการในประเทศเวียดนามแล้วก็ตาม แต่มาตรการเหล่านั้นกลับเหมือนไม่ได้รับการตอบแทนเลย
เวียดนามต้องคอยเอาใจสหรัฐขนาดนี้เป็นเพราะ เวียดนามพึ่งพาการส่งออกอย่างมาก โดยการส่งออกคิดเป็นเกือบ 90% ของขนาดจีดีพีในปี 2024 ด้วยมูลค่ามากถึง 405,503 ดอลลาร์สหรัฐ เติบโตกว่า 14.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YOY) ที่สำคัญกว่านั้นคือ สหรัฐเป็นตลาดปลายทางที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเวียดนามเกินดุลสหรัฐกว่า 123,500 ล้านดอลลาร์ มากสุดเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเม็กซิโก
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามกลายเป็นแหล่งทางเลือกสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
เวียดนามกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุปกรณ์กีฬาแบรนด์ชั้นนำ ทั้งไนกี้ อาดิดาส และออน ที่มีฐานผลิตรองเท้าในเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 50% 39% 90% ตามลำดับ ส่วน วีเอฟ คอร์ปอเรชัน เจ้าของแบรนด์เครื่องแต่งกายอย่าง นอร์ทเฟซ, ทิมเบอร์แลนด์ และแวนส์ ก็พึ่งการผลิตในเวียดนามถึง 17%
ขณะที่เด็กเกอร์ส แบรนด์ บริษัทแม่ของโฮก้า รองเท้าวิ่งเจ้าดังก็ยังพึ่งพาซัพพลายเออร์ในเวียดนามกว่า 68 ราย เป็นรองเพียงจีนที่พึ่งพากว่า 125 ซัพพลายเออร์
ด้านอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ก็หันมาใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตด้วยเช่นกัน โดยในปี 2023 สหรัฐนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากเวียดนาม คิดเป็น 26.5% ของการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ ตามหลังจีนที่ 29% ซึ่งหมายความว่าจีนและเวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดเฟอร์นิเจอร์นำเข้าในสหรัฐสูงถึง 55.5%
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทของเล่นชั้นนำจากสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น แฮสโบร, แมทเทล และเครโยลา ต่างทำงานร่วมกับ จีเอฟที กรุ๊ป ซึ่งมีโรงงานผลิตของเล่น 5 แห่งอยู่ที่เวียดนาม และมีแรงงานกว่า 15,000 คน
เวียดนามยังเป็นฐานการผลิตสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งแอปเปิล อิงก์ ซึ่งมีฐานผลิตไอแพดในเวียดนามราว 20% รวมถึงการผลิต แอปเปิล วอตช์ อีกกว่า 90%
มาตรการภาษีครั้งใหม่ทำให้บริษัทเอกชนต่าง ๆ อาจต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐ ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกต้องปรับรูปแบบอีกครั้ง
ไมเคิล แมทเธียส ซีเอฟโอของอเมริกัน อีเกิล เอาท์ฟิตเตอร์ส แบรนด์กางเกงยีนส์ชั้นนำจากอเมริกา กล่าวว่า ปัจจุบันฐานผลิตในจีนและเวียดนาม มีสัดส่วนประมาณ 10-20% ซึ่งบริษัทจะมุ่งลดตัวเลขดังกล่าวลงให้เหลือหลักเดียว
“จิ่ญ เหงวียน” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากแนติซิส (Natixis) ในฮ่องกง มองว่ามาตรการภาษีครั้งล่าสุดถือเป็นหายนะต่อเวียดนาม ไม่เพียงเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศเท่านั้น แต่ยังอาจหมายถึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในอนาคตที่จะลดลง
หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เวียดนามอาจพึ่งพาสหรัฐน้อยลง และหันไปสร้างความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้นแทน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 6 เมษายน 2568