ผู้ส่งออก หวั่นออร์เดอร์สะดุด ผู้นำเข้าสหรัฐยื้อจ่ายค่าสินค้า
"พิชัย" นำทีมเจรจาการค้าสหรัฐ เตรียมบินหารือรัฐบาล-เอกชนอเมริกัน "แพทองธาร" ประชุม 8 เม.ย.เคาะมาตรการรับมือ "ผู้ส่งออก" คาดส่งออกไปสหรัฐไตรมาส 2 สะดุด ผู้นำเข้ายื้อ
ความคืบหน้าการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯของรัฐบาล หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทย 36% เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2568
ล่าสุดในแถลงการณ์ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ออกเมื่อวันนี้ 5 เม.ย.2568 มีความชัดเจนขึ้นเรื่องคณะเจรจาการค้ากับสหรัฐที่ก่อนหน้านี้ไม่ชัดเจนว่าใครจะทำหน้าที่ โดยมีข่าวทั้งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเอง หรืออาจเป็นนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรืออาจเป็นนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ
น.ส.แพทองธาร ระบุในแถลงการณ์ ว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปหารือกับหลายภาคส่วนในสหรัฐทั้งภาครัฐ เอกชนและผู้ที่มีส่วนได้เสียจากการเปลี่ยนแปลงการค้าที่สำคัญของรัฐบาลสหรัฐ สำหรับสิ่งที่จะสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐ คือ ไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่คือพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐเชื่อถือได้ระยะยาว
ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุว่า วันนี้ไทยกำลังเผชิญมาตรการการขึ้นภาษีต่อสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐในอัตรา 36% อีกทั้งหลายประเทศตกอยู่ใสถานการณ์เดียวกันกับไทยและต่างเตรียมมาตรการรับมือ ซึ่งเชื่อว่าทั่วโลกกำลังเห็นการตอบโต้อย่างหนักหน่วงผ่านเครื่องมือทางภาษี และหลายประเทศตัดสินใจเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลสหรัฐ
"จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครได้ข้อสรุปการเจรจาแต่อย่างใด ในส่วนของไทยมาตรการนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าของเราโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และสินค้าเกษตร"
ขณะนี้รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในด้านพลังงาน อากาศยานและสินค้าเกษตร โดยไทยมีแผนที่สร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่นที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐ รวมทั้งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก
นอกจากนี้ ขอให้มั่นใจว่าข้อเสนอเหล่านี้คำนึงถึงประโยชน์ของไทยเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนี้ไทยจะเจรจาการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐและลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรครวมถึงการปราบปราม การสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐ โดยจะนัดประชุมคณะทำงานการค้าสหรัฐฯร่วมกับหน่วยงานราชการในวันที่ 8 เม.ย.2568 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
พาณิชย์พร้อมเจรจาสหรัฐลดผลกระทบ :
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายการค้า สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า อัตราภาษีที่ได้ถูกเก็บคำนวณโดยนำตัวเลขการขาดดุลและมูลค่าการนำเข้าทางการค้าของสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้ามาคำนวณ ซึ่งในส่วนของไทยคำนวณออกมาแล้วมีอัตราภาษี 36% ดังนี้
(1)ช่วงแรก สหรัฐจะเริ่มเก็บภาษีเพิ่มตั้งแต่เวลา 00:01 น.ของวันที่ 5 เม.ย. 2568 (เวลาสหรัฐ) ในอัตรา 10% กับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากทุกประเทศ ส่วนสินค้าที่ขนลงเรือหรือยานพาหนะแล้วและอยู่ระหว่างเดินทางมายังสหรัฐก่อนเวลาดังกล่าวยังไม่ถูกเก็บภาษีดังกล่าว ก่อนเวลา 00.01 ของวันที่ 27 พ.ค. 2568
ทั้งนี้ ภาษี 10% จะเป็นการเก็บเพิ่มจากอัตราภาษีที่เรียกเก็บอยู่แล้ว (MFN apply rate) รวมทั้งอากร ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่แต่ละประเทศถูกจัดเก็บอยู่เดิม
(2)ช่วงที่สอง ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 9 เม.ย.2568 สหรัฐฯ ก็จะเริ่มเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ตามอัตราเฉพาะที่กำหนดสำหรับแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36% โดยเก็บเพิ่มจากอัตราภาษีที่เรียกเก็บอยู่แล้ว (MFN apply rate)รวมทั้งอากร ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ประเทศนั้นถูกจัดเก็บอยู่เดิม
อย่างไรก็ดีสำหรับสินค้าที่ขนลงเรือหรือยานพาหนะแล้วและอยู่ระหว่างเดินทางมายังสหรัฐฯ ก่อนเวลาดังกล่าว ก็จะยังได้รับยกเว้นไม่ถูกเก็บภาษี 36% ดังกล่าว
ทั้งนี้ อัตราภาษีต่างตอบแทนข้างต้นจะไม่ใช้กับสินค้าที่สหรัฐเคยประกาศใช้มาตรการไปก่อนหน้านี้ คือ วันที่ 12 มี.ค. 2568 สินค้าเหล็กและอลูมิเนียม ถูกจัดเก็บอัตราภาษีเฉพาะที่25% และวันที่ 3 เม.ย.2568 สินค้ารถยนต์และชิ้นส่วน ถูกจัดเก็บอัตราภาษีเฉพาะที่ 25%
นอกจากนี้ ภาษีต่างตอบแทนดังกล่าวยังจะไม่ใช้กับสินค้าประเภททองแดง ยาและเวชภัณฑ์ เซมิคอนดักเตอร์ ไม้แปรรูปแร่ธาตุสำคัญบางประเภท พลังงานและผลิตภัณฑ์พลังงาน เนื่องจากสหรัฐฯ อาจจะมีการประกาศใช้ภาษีเฉพาะกับสินค้าดังกล่าวในภายหลัง ซึ่งคาดว่าจะเก็บเพิ่มในอัตรา 25% ซึ่งยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้คำสั่งบริหารนี้จะกำหนดอัตราภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทนเป็นรายประเทศ แต่เปิดให้เจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการค้าให้เท่าเทียมและเป็นธรรมขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาข้อเสนอของคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ เพื่อนำไปสู่การเจรจาปรับลดยกเว้นอัตราภาษีต่างตอบแทนดังกล่าวที่สหรัฐเรียกเก็บจากไทย
ส่งออกไตรมาส2สะดุดรอผลเจรจา :
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า การที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าไทย 36 %โดยมีผลในวันที่ 9 เม.ย.2569 โดยไม่มีการเจรจาต่อรองหรือขอเลื่อนระยะเวลาการใช้มาตรการดังกล่าวออกไปจะมีผลต่อคำสั่งซื้อสินค้าไทย
ทั้งนี้สินค้าที่ลงเรือภายในวันที่ 4 เมย.2568 ยังคงถูกจัดเก็บภาษีในอัตราเดิม ส่วนสินค้าที่ลงเรือวันที่ 5 เม.ย.2568 จะถูกเก็บภาษีอัตราปกติเดิมที่เก็บไทย 5% รวมกับฐานภาษีใหม่ที่เก็บจากสินค้าทุกประเทศ 10% รวมเป็น 15% และสินค้าที่ลงเรือตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2568 จะถูกเก็บภาษีอัตราปกติเดิมที่เก็บกับไทย 5% รวมกับภาษีตอบโต้การค้าสำหรับไทย 36% รวมเป็น 41%
ขณะที่รายการสินค้าที่ยกเว้น ซึ่งบางรายการถูกเรียกเก็บก่อนหน้านี้แล้ว คือ 1.สินค้าภายใต้ 50 USC 1702(b) 2.เหล็กและอลูมิเนียม รวมถึงรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ (Section 232) 3.ทองแดง, ยา, เซมิคอนดักเตอร์และไม้ 4.สินค้าที่อาจถูกเก็บภาษีตาม Section 232 ในอนาคต 5.ทองคำ 6.พลังงานและแร่ที่สหรัฐไม่มีการผลิต
นอกจากนี้ ผลกระทบจากการขึ้นภาษีดังกล่าวจะมีผลต่อผู้ส่งออกไทยสามารถประเมินได้ 2 รูปแบบ คือ
(1)ผู้นำเข้าสั่งสินค้าและชำระค่าค่าสินค้าแล้ว ซึ่งลักษณะนี้ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะผู้ส่งออกได้รับการชำระค่าสินค้าแล้ว
(2)ลูกค้ายังไม่จ่ายเงิน เมื่อสินค้าถึงปลายทางแล้วมีปัญหาทั้งลูกค้าและผู้ส่งออกต้องต้องร่วมกันหาทางแก้ไขแต่หากเป็นลูกค้าขาจรก็อาจมีการปฏิเสธสินค้าได้
ประเมินออร์เตอร์ส่งมอบไตรมาส 3 ไม่ได้ :
สำหรับคำสั่งซื้อสินค้าสำหรับการส่งมอบในไตรมาส 2 ที่มีการสั่งซื้อไปก่อนหน้านี้แล้วและทยอยส่งมอบ ซึ่งคาดว่าน่าจะชะลอตัวจนกว่าจะมีความชัดเจนว่าเจรจากันเพื่อลดภาษีได้แค่ไหน โดยเฉพาะภาษีนำเข้าของประเทศคู่แข่งมีผลมากกับไทย และถ้าประเทศคู่แข่งเจรจาได้จะทำให้ไทยเสียเปรียบ โดยขึ้นอยู่หมวดสินค้าที่เป็นคู่แข่งไทย เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ที่มีสินค้าเหมือนกัน
นอกจากนี้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรยังมีประเทศในภูมิภาคอื่นที่ผลิตเหมือนไทย เช่น บราซิลหรือประเทศในอเมริกาใต้ โดยเมื่อภาษีนำเข้าต่ำกว่าไทย 20-30 % แน่นอนว่าสินค้าไทยเสียเปรียบทำให้ทำไทยเสียส่วนแบ่งตลาดไป แต่หากภาษีต่ำกว่าไม่มากก็ต่อรองราคาได้
“สินค้าที่ส่งมอบในไตรมาส 2 กว่า 50% สั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว แต่พอเจอสหรัฐขึ้นภาษีอาจชะลอการนำเข้าเพื่อรอท่าทีและความชัดเจนด้านภาษีว่าต้องเสียภาษีเท่าไร“ นายวิศิษฐ์ กล่าว
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนไตรมาส 3 การประเมินคำสั่งซื้อสินค้าไม่สามารถทำได้เลย เพราะภาษีมีผลต่อการตัดสินใจการสั่งซื้อสินค้ามาก โดยเฉพาะปรับขึ้นถึง 36% มีผลต่อราคาขายปลายทางมาก
ส่งออกไทยทั้งปีเสี่ยงลดลง1% :
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน กล่าวว่า การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐคิดจากภาษีและที่มิใช่ภาษีโดยภาษีนำเข้าเป็นเท่าไรนั้น คิดจากตัวเลขการนำเข้าและการขาดุลการค้าของสหรัฐกับประเทศต่างๆ โดยใช้ตัวเลขในปี 2024
ทั้งนี้ มีหลักคิด คือ การลดการขาดดุลการค้า โดยมีสูตรการคิด คือ อัตราภาษีนำเข้า (%) เท่ากับมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐกับประเทศนั้นๆ หารด้วยมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐกับประเทศนั้นๆ คูณ 100 และอัตราภาษีนำเข้า (%) ที่เก็บเท่ากับอัตราภาษีนำเข้า (%) หาร 2
กรณีประเทศไทย พบว่า สหรัฐขาดดุลการค้ากับไทยในปี 2024 มูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์ และสหรัฐนำเข้าสินค้าจากไทย 63,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเข้าสูตร คือ อัตราภาษี 36% และเมื่อบวกกับ Non Tariff อีก 1% ทำให้สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากไทยเท่ากับ 37%
สำหรับผลการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ทำให้การส่งออกไทยปี 2025 เจอ คือ ภาษีสหรัฐ 37% และเศรษฐกิจโลกลดลงไปอีก 1% ส่งผลกระทบการส่งออกไทยลดลงไป 7 แสนล้าน ถึง 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของการส่งออกไทยโอกาสที่ส่งออกไทยมีโอกาสติดลบ 1 ถึงบวก 1% ในขณะที่ GDP มีโอกาสขยายตัว 1.8-2.4%
ทั้งนี้มี 3 แนวทางที่ต้องดำเนินการคือ
(1)เจรจานำเข้าสินค้าที่ไทยต้องนำเข้าอยู่แล่ว จากประเทศอื่น แต่หันมานำเข้าจากสหรัฐ แทน เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด เป็นต้น
(2)ดึงทุนด้านเทคโนโลยีสหรัฐ เข้ามาลงทุนในไทย
(3)ทำ Export Map เพื่อชดเชยสินค้าที่ไม่สามารถส่งไปชายสหรัฐ แล้วหันไปกระจายในตลาดอื่นแทน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 เมษายน 2568