อียูผนึกกำลังลงมติตอบโต้ภาษีทรัมป์
สมาชิกอียูเตรียมเสนอแนวทางเอกภาพรับมือภาษีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมอนุมัติมาตรการชุดแรกเล่นงานสินค้าอเมริกัน 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน 27 ชาติสหภาพยุโรป (อียู) ถูกสหรัฐเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมและรถยนต์ ในอัตรา 25% ไปแล้ว และตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. จะถูกเก็บภาษี “ตอบโต้” ในอัตรา 20% จากสินค้าอื่นๆ เกือบทั้งหมด
ดึกวันจันทร์ (7 เม.ย.) คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรประสานนโยบายการค้าอียูเตรียมเสนอบัญชีรายชื่อสินค้าสหรัฐที่จะถูกเก็บภาษีพิเศษตอบโต้การเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ครอบคลุมสินค้าสหรัฐหลายชนิด อาทิ เนื้อ, ซีเรียล, ไวน์, ไม้, เสื้อผ้า, หมากฝรั่ง, ไหมขัดฟัน, เครื่องดูดฝุ่น และกระดาษชำระ ยังไม่ใช่การเก็บภาษีตอบโต้ reciprocal tariff ที่ทรัมป์เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน
ความเคลื่อนไหวของอียูเท่ากับเป็นการผสมโรงจีนและแคนาดา เก็บภาษีตอบโต้สหรัฐ ที่บางคนเกรงว่าอาจขยายวงเป็นสงครามการค้าโลก ทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย
ที่ผ่านมาทรัมป์เก็บภาษีครอบคลุมสินค้าส่งออกจากอียูไปยังสหรัฐแล้วราว 70% มูลค่ารวมในปีก่อน 5.32 แสนล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเก็บภาษีทองแดง ยา เซมิคอนดักเตอร์ และไม้ซุงตามมาด้วย
ผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ถูกจับตามากและสมาชิกอียูยังมีความเห็นไม่ตรงกันคือเบอร์เบิน อีซีเก็บภาษีเบอร์เบิน 50% ทำให้ทรัมป์ต้องขู่ว่า ถ้าเดินหน้าเก็บจริงสหรัฐจะตอบโต้เก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากอียู 200%
ผู้ส่งออกไวน์ฝรั่งเศสและอิตาลีต่างวิตกกังวลกันมาก อียูเองที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพาการค้าเสรีจากมั่นใจได้ว่า การตอบโต้ใดๆ จะคงแรงกดดันให้ทรัมป์ยอมเจรจาในที่สุด
สำหรับกำหนดการในวันจันทร์ อียูจะจัดประชุมรัฐมนตรีการค้ากันก่อน เป็นการประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีเป็นวงกว้าง ให้รัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนทัศนะถึงผลกระทบและหามาตรการตอบโต้ที่ดีที่สุด
นักการทูตอียูหลายรายเผยว่า วัตถุประสงค์หลักของการประชุมคือได้สารอันเป็นเอกภาพถึงความปรารถนาเจรจากับรัฐบาลวอชิงตันให้ยกเลิกภาษี แต่ถ้าไม่สำเร็จก็พร้อมตอบโต้
“สิ่งที่เรากลัวมากที่สุดหลังเบร็กซิทคือการทำข้อตกลงทวิภาคี และการทำลายเอกภาพ แต่ตลอดเวลาที่เจรจากันมาสามถึงสี่ปีก็ไม่เคยเกิดขึ้น แน่นอน วันนี้เรื่องราวแตกต่างออกไป แต่ทุกคนสามารถเห็นผลประโยชน์ในนโยบายการค้าร่วมกันได้” นักการทูตอียูรายหนึ่งกล่าว
ในบรรดาสมาชิกอียู ความเห็นเรื่องมาตรการตอบโต้ยังแตกต่างกันไป ฝรั่งเศสกล่าวว่า อียูควรทำเป็นแพ็กเกจนอกเหนือจากภาษี ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง เสนอว่า บริษัทยุโรปควรระงับการลงทุนในสหรัฐไปก่อนจนกว่า “สิ่งต่างๆ เกิดความชัดเจน”
ไอร์แลนด์ ที่ส่งออกไปสหรัฐเกือบหนึ่งในสามของการส่งออกทั้งหมด เรียกร้องการตอบโต้ “สมเหตุสมผลและชี้วัดได้” ขณะที่อิตาลีผู้ส่งออกไปสหรัฐรายใหญ่เป็นอันดับสามของอียู ตั้งคำถามว่าอียูควรตอบโต้หรือไม่
“หาสมดุลยาก มาตรการต้องไม่อ่อนเกินไปจนสหรัฐไม่เจรจา แต่ต้องไม่แรงเกินไปจนทำให้บานปลาย” นักการทูตอียูอีกรายให้ความเห็น
นับถึงขณะนี้การเจรจากับวอชิงตันยังไม่เกิดประโยชน์โพดผล นายมารอส เซฟโควิก หัวหน้าฝ่ายการค้าอียูเล่าถึงการพูดคุยสองชั่วโมงกับฝ่ายสหรัฐเมื่อวันศุกร์ว่า เป็นไปอย่าง “จริงใจ” เขาแจ้งว่า ภาษีสหรัฐ “สร้างความเสียหาย ไม่เป็นธรรม”
อย่างไรก็ตาม หากอียูมีมาตรการภาษีตอบโต้ออกมาก็ต้องนำมาลงมติกันในวันพุธ (9 เม.ย.) และจะผ่านความเห็นชอบยกเว้นในกรณีที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ คือ สมาชิกอียู15 ประเทศซึ่งเป็นตัวแทน 65% ของประชากรอียูคัดค้าน
จากนั้นจะเข้าสู่การบังคับใช้สองระยะ ส่วนที่เล็กกว่าเริ่ม 15 เม.ย. ที่เหลือบังคับใช้ในหนึ่งเดือนต่อมา
นอกจากนี้นางเออร์ซูลา วอน เดอ ไลเอิน ประธานอีซีจะแยกหารือกับผู้บริหารภาคส่วนเหล็ก รถยนต์ และยาในวันจันทร์และอังคาร (8 เม.ย.) เพื่อประเมินผลกระทบจากภาษีและตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 เมษายน 2568