จีนลั่น! ไม่ยอมโดน "แบล็กเมล์" หลังทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีอีก 50%
จีนลุกโต้ "ทรัมป์" ลั่นไม่ยอมต่อแบล็กเมล์ทางการค้า หลังสหรัฐฯ ขู่ขึ้นภาษีอีก 50% ด้านอียูเตรียมสวนกลับ นักลงทุนหวั่นเศรษฐกิจโลกถดถอย
สงครามการค้าโลกปะทุเดือดอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลจีนออกโรงประณามนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นการ “แบล็กเมล์” พร้อมประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ หลังทรัมป์ขู่จะขึ้นภาษีสินค้าอีก 50% เพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวของจีนที่เพิ่งประกาศเก็บภาษีตอบโต้ 34% เมื่อสัปดาห์ก่อน
“การขู่เพิ่มภาษีของสหรัฐฯ ถือเป็นความผิดพลาดซ้ำซ้อน และเป็นการแสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของการใช้แบล็กเมล์ทางการค้า” กระทรวงพาณิชย์ของจีนระบุ พร้อมเสริมว่า “หากสหรัฐฯ ยังคงยืนกรานเดินหน้าแนวทางนี้ต่อไป จีนก็พร้อมสู้จนถึงที่สุด”
สงครามภาษีครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สหรัฐฯ และจีนเท่านั้น เมื่อสหภาพยุโรป (EU) ก็เริ่มออกมาตอบโต้นโยบายภาษีของทรัมป์เช่นกัน โดยคณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้มีการเก็บภาษีตอบโต้ในอัตรา 25% สำหรับสินค้าสหรัฐฯ หลายรายการ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง และไส้กรอก แม้สินค้าบางชนิดอย่างวิสกี้บูร์บงจะยังไม่ถูกบรรจุในรายชื่อก็ตาม
ขณะที่ตลาดทุนทั่วโลกต่างอยู่ในภาวะผันผวนอย่างหนักตลอดหลายวันก่อนหน้า ดัชนีหุ้นหลายแห่งดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบหลายปี นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามองผลกระทบจากมาตรการภาษีที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจลุกลามสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
อย่างไรก็ดี สัญญาณบวกเริ่มปรากฏให้เห็นเล็กน้อยในตลาดหุ้นเอเชียเมื่อวันอังคาร โดยดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่นดีดตัวขึ้น 6% หลังจากร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง โดยนักลงทุนรับข่าวดีจากการเจรจาทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์กับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชิเงรุ อิชิบะ ที่ตกลงจะเปิดโต๊ะพูดคุยทางการค้า ขณะที่หุ้นกลุ่มบลูชิปของจีนขยับขึ้น 0.7% ฟื้นตัวเล็กน้อยจากการดิ่งลงกว่า 7% เมื่อวันก่อน ส่วนฮ่องกงก็พลิกกลับมาเพิ่มขึ้น 2% หลังเผชิญวันที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตปี 1997
แม้ตลาดหุ้นจะเริ่มตั้งหลักได้บ้าง แต่หลายฝ่ายยังคงวิตกกังวล โดยเฉพาะในอินโดนีเซียที่เปิดตลาดอีกครั้งหลังวันหยุดยาว กลับต้องเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก ดัชนีหุ้นร่วงถึง 9% ขณะที่ค่าเงินรูเปียดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ทรัมป์ยังคงยืนยันในแนวทางการใช้มาตรการภาษี โดยระบุว่านี่คือ “โอกาสเดียว” ที่สหรัฐฯ จะสามารถฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เสื่อมถอยจากการเปิดเสรีทางการค้าหลายทศวรรษ “ไม่มีประธานาธิบดีคนไหนกล้าทำแบบที่ผมทำ หรือแม้แต่จะคิดทำ” ทรัมป์กล่าว
ในฝั่งยุโรป เจ้าหน้าที่ของอียูระบุว่าพร้อมจะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหาทางออกที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย โดย มารอช เชฟโชวิช กรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรปกล่าวว่า “ไม่ช้าก็เร็ว เราจะต้องนั่งโต๊ะเจรจากับสหรัฐฯ และหาข้อตกลงที่เหมาะสมร่วมกัน”
แต่ความไม่แน่นอนยังคงปกคลุมอยู่ โดยนักลงทุนและผู้นำทางการเมืองยังคงตั้งคำถามว่า มาตรการภาษีของทรัมป์จะเป็นการใช้กลยุทธ์กดดันเพื่อให้ได้ข้อเสนอทางการค้าที่ดีขึ้น หรือจะกลายเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจระยะยาวอย่างถาวร
รายงานจาก Politico ระบุว่า รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สก็อตต์ เบสเซนต์ ได้เข้าพบทรัมป์ที่ฟลอริดาในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อขอให้เขาเน้นการทำข้อตกลงทางการค้ากับพันธมิตร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตลาดว่ารัฐบาลมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีจุดจบที่เป็นไปได้
ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวก็ย้ำว่าทรัมป์กำลังทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในการยุติยุคการค้าเสรีที่ทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดย เควิน แฮสเซตต์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำทำเนียบขาวกล่าวว่า “เขากำลังเดินหน้าในสิ่งที่เขาเชื่อว่ามีผล และจะเดินหน้าต่อไป...แต่ถ้าคู่ค้าทางการค้าเสนอข้อตกลงที่ดีต่อเกษตรกรและผู้ผลิตของสหรัฐฯ เขาก็พร้อมจะฟัง”
อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจจากภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยผู้นำในวอลล์สตรีตอย่าง เจมี ไดมอน CEO ของ JPMorgan Chase ออกมาเตือนว่า มาตรการภาษีอาจสร้างผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจ ด้านบิล แอ็คแมน ผู้จัดการกองทุนชื่อดัง ถึงขั้นเปรียบเทียบว่านี่อาจนำไปสู่ “ฤดูหนาวนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ”
แม้กระทั่งผู้สนับสนุนทรัมป์อย่าง อีลอน มัสก์ ยังออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกภาษีทั้งหมดระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป แต่กลับถูกที่ปรึกษาการค้าของทรัมป์ ปีเตอร์ นาวาร์โร สวนกลับทันทีว่า “ก็แค่คนประกอบรถ”
นักลงทุนในตอนนี้เริ่มคาดการณ์ว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่สูงขึ้น อาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดอัตราดอกเบี้ยลงตั้งแต่เดือนหน้า แม้ประธาน Fed อย่างเจอโรม พาวเวลล์ จะยังไม่ส่งสัญญาณชัดเจนก็ตาม
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 8 เมษายน 2568