นักลงทุนผวา สงครามการค้าทรัมป์ อาจลุกลามสู่สงครามค่าเงิน
หลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในวงกว้าง นักลงทุนทั่วโลกเริ่มกังวลว่าสงครามการค้าครั้งใหม่อาจลุกลามกลายเป็น "สงครามค่าเงิน"
มีการจับตาว่า ดอลลาร์สหรัฐยังไม่รอดพ้นจากความผันผวนอย่างรุนแรงที่ครอบงำตลาดการเงินในปีนี้ โดยเฉพาะหลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่าอาจเกิดภาวะค่าเงินเท่ากันระหว่างดอลลาร์กับยูโร
อย่างไรก็ตาม ภายในกลางเดือนมีนาคม ยูโรกลับฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.094 ต่อดอลลาร์ ข่าวล่าสุดที่ส่งแรงกดดันมาสู่ตลาดคือการประกาศนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก
ปัจจุบันดอลลาร์ซื้อขายอยู่ที่ระดับ 1.10 ดอลลาร์ ต่อยูโร ถือเป็นการอ่อนค่าลง 6.25% เทียบกับยูโรนับตั้งแต่ต้นปี
แรงขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังความผันผวนนี้มีหลายปัจจัยสำคัญ ได้แก่ มาตรการภาษีที่ทรัมป์เสนอ ความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการประกาศใช้จ่ายภาครัฐอย่างไม่ธรรมดาในเยอรมนีและชาติยุโรปอื่น ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางทหาร ปัจจัยเหล่านี้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของเยอรมนีพุ่งขึ้นจาก 2.35% เมื่อต้นปี มาอยู่ที่ 2.73%
Ignacio Dolz de Espejo ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของบริษัท Mutuactivos เตือน หากไม่มีภาวะถดถอย การตั้งกำแพงภาษีควรจะทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งควรส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตลาดกำลังประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอลงอย่างรุนแรง หากดอลลาร์กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง คงได้เห็นทรัมป์ออกมาส่งสัญญาณกดค่าเงินของตัวเอง
Aiman Shanks จาก Schroders เห็นด้วยว่า ในทางทฤษฎีภาษีและเศรษฐกิจแข็งแกร่งควรเป็นผลดีต่อดอลลาร์ แต่ความไม่แน่นอนจากคำสั่งฝ่ายบริหารที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและวุ่นวายตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม บวกกับผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ลดทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์อย่างชัดเจน
ดอลลาร์ยังอาจแข็งค่าได้ หากมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย และหากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงจนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้อย่างจริงจัง
คำถามที่นักวิเคราะห์หลายคนตั้งขึ้นก็คือ ทรัมป์ต้องการให้ดอลลาร์เลิกเป็นสกุลเงินสำรองของโลกหรือไม่ Benjamin Dubois หัวหน้าฝ่ายบริหารความเสี่ยงจาก Edmond de Rothschild AM ชี้ว่าได้ส่งผลกระทบสำคัญอย่างหนึ่งแล้ว นั่นคือ ราคาทองคำที่พุ่งขึ้น ซึ่งได้กลายเป็นสินทรัพย์สำรองหลักแทนที่เงินตรา เพราะไม่มีสกุลเงินไหนสามารถเป็นทางเลือกที่แท้จริงแทนดอลลาร์ได้
ประเด็นนี้มีนัยสำคัญอย่างมาก Juan Ignacio Crespo นักคณิตศาสตร์และนักวิเคราะห์ชี้ว่า ครึ่งหนึ่งของโลกกำลังจับตามอง ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งหวาดหวั่นว่าดอลลาร์ในฐานะเสาหลักของระบบการเงินโลกจะเกิดอะไรขึ้น
ปัจจุบันประมาณ 70% ของธุรกรรมระหว่างประเทศใช้ดอลลาร์ และการครองความเป็นใหญ่ของดอลลาร์นี้ทำให้สหรัฐฯ สามารถจัดหาเงินทุนได้ง่ายและถูกกว่าที่ควรจะเป็น หากไม่มีสถานะสกุลเงินสำรองโลก
การอ่อนค่าล่าสุดของดอลลาร์อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มที่ลึกกว่านั้น และในวาระที่สองของทรัมป์ ดอลลาร์อาจสูญเสียสถานะผู้นำที่ครองมาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
Benjamin Dubois อธิบาย กระบวนการปรับโครงสร้างนี้ ซึ่ง Stephen Miran ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทรัมป์เป็นผู้เสนอ ทฤษฎีว่าดอลลาร์ต้องอ่อนค่าเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ โดยภาษีคือหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์นี้ และยังเป็นเครื่องมือกดดันให้ประเทศอื่นๆ ยอมตกลงเรื่องค่าเงินร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้รู้จักกันในชื่อข้อตกลง Mar-a-Lago เปรียบได้กับข้อตกลงก่อนหน้าที่ตั้งชื่อตามสถานที่ลงนาม เช่น Bretton Woods (1944), Plaza (1985) และ Louvre (1987)
การครองความเป็นใหญ่ของดอลลาร์มีพื้นฐานจากความเชื่อมั่นของโลกว่าเป็นสกุลเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ยูโรแม้ถือกำเนิดมานาน 25 ปี ก็ยังไม่สามารถสวมบทบาทนี้ได้ ขณะที่ความพยายามของกลุ่ม BRICS ในการสร้างสกุลเงินทางเลือกก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
Philippe Waechter หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Ostrum AM มองว่าเป็นภาพที่น่าวิตกอย่างยิ่ง ระบบการเงินที่ไม่มีดอลลาร์เป็นศูนย์กลางจะสร้างความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสภาพคล่อง และอาจทำให้การเติบโตและการจ้างงานทั่วโลกต้องเผชิญกับการปรับตัวที่เจ็บปวดและยืดเยื้อ
ความสูญเสียความเชื่อมั่นในดอลลาร์เป็นผลจากนโยบายของทำเนียบขาว ซึ่งไม่อาจกลายเป็นกรอบระบบใหม่ได้โดยอัตโนมัติ กระบวนการจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และมีความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้ง เนื่องจากการไม่ปรับตัวในแต่ละภูมิภาคจะก่อให้เกิดความตึงเครียดที่อาจทวีความรุนแรงจนน่าหวาดหวั่น การเปลี่ยนแปลงของสหรัฐฯ มุมมองอำนาจนิยม และแนวโน้มการแยกตัวออกจากโลก ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในสินทรัพย์ของสหรัฐฯ และในตัวดอลลาร์ แต่การเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ จะนำไปสู่ความโกลาหล
“วันแห่งการปลดปล่อย” โลกได้เข้าสู่สงครามการค้าทั่วโลก :
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าในอัตรา 10% แบบครอบคลุม โดยกำหนดอัตราที่สูงยิ่งกว่าสำหรับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ สหภาพยุโรปเผชิญกับภาษี 20% ขณะที่จีนเจอภาษีสูงถึง 34% มาตรการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเหล่านี้ ซึ่งอ้างเหตุผลด้านการค้าที่ยังเป็นที่กังขา ได้เขย่าหลายตัวชี้วัดเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดเงินตราต่างประเทศ การคาดการณ์ค่าเงินยูโรเทียบดอลลาร์ก่อนหน้านี้จึงหมดความหมายลงไปแล้ว
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ยูโรกำลังแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์ วันถัดจากการประกาศ ยูโรแสดงผลงานดีที่สุดเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2015 แม้จะแข็งค่ามาแล้ว
นักวิเคราะห์จาก Citi ยังคงมองว่ายูโรมีช่องให้แข็งค่าต่อ การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอลง คาดว่าจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องลดดอกเบี้ยอย่างจริงจังมากขึ้น
ในมุมของจีน สงครามการค้าระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกยังไม่มีทีท่าจะชะลอตัวลง จีนให้คำมั่นว่าจะ "ต่อสู้จนถึงที่สุด" ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเกือบสองเท่า
ผู้เชี่ยวชาญกังวลถึงความรวดเร็วของเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาล ธุรกิจ และนักลงทุนมีเวลาไม่เพียงพอที่จะปรับตัวหรือเตรียมพร้อมรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก
Roland Rajah นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจาก Lowy Institute กล่าวว่า ไม่เหมือนกับสงครามการค้ากับจีนในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งวาระแรก เขากล่าวเสริมว่า จีนมีชุดเครื่องมือที่กว้างขวาง สำหรับการตอบโต้ เช่น การทำให้สกุลเงินของตนอ่อนค่าลงเพิ่มเติม หรือการปราบปรามบริษัทของสหรัฐฯ
Bloomberg รายงานว่า วันที่ 8 เมษายน 2025 ธนาคารกลางจีน (PBOC) ลดอัตราอ้างอิงเฉลี่ยค่าเงินหยวนเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ (Daily Midpoint) มาอยู่ที่ 7.2038 หยวนต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่อ่อนค่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2023
การอ่อนค่าเงินหยวนเป็นทางเลือกที่รัฐบาลจีนใช้เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของภาคเศรษฐกิจจีนที่กำลังเผชิญความตึงเครียดทางการค้าอยู่ในอย่างไรก็ตาม การตัดสินใจอ่อนค่าเงินหยวนอาจทำให้เกิดผลกระทบขาลงทางเศรษฐกิจตามมาได้ เช่น เงินทุนไหลออกเพิ่มมากขึ้น หรือสร้างความขุ่นเคืองให้แก่สหรัฐ จนหมดความหวังที่จะมีการเจรจาทางการค้าใด ๆ เกิดขึ้น
Becky Liu หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์มหภาคจีน Standard Chartered Bank กล่าวว่า จีนกำลังอนุญาตให้การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อบรรเทาแรงกดดันท่ามกลางการขึ้นภาษีที่รุนแรง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 10 เมษายน 2568