ระเบียบโลกใหม่หลัง Reciprocal Tariff: ทางรอดสำหรับเศรษฐกิจไทย
โลกหลังวันที่ 2 เม.ย.2568 ไม่มีวันจะเหมือนเดิม เพราะเป็นวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศนโยบายภาษีตอบโต้หรือ Reciprocal Tariff อย่างเป็นทางการ โดยกำหนดภาษีนำเข้าขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้าจากทั่วโลก (ยกเว้นแคนาดาและเม็กซิโกตามข้อตกลง USMCA) โดยประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลสูงกับสหรัฐ โดยเฉพาะในเอเชีย จะต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงขึ้นมาก เช่น เวียดนามที่ 46% ไต้หวัน 32% ไทย ที่ 36% มาเลเซีย ที่ 32% และอินโดนีเซีย ที่ 32% ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ตามการประเมินของ Bloomberg ภาษีเฉลี่ยที่สหรัฐเก็บกับทั่วโลกอาจสูงถึง 28% ในขณะที่ผู้เขียนคาดการณ์ว่า หลังการเจรจา อัตราภาษีเฉลี่ยอาจลดลงมาอยู่ที่ 15% แต่ก็ยังส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงกว่า 0.8% โดยบางประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกรุนแรง เช่น เวียดนามและไทย อาจเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงรุนแรง
ขณะที่ในฝั่งของสหรัฐอาจเผชิญภาวะ Stagflation โดยเศรษฐกิจชะลอลงแต่เงินเฟ้อสูง ทำให้ธนาคารกลาง (Fed) ลดดอกเบี้ยได้ยากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ก็จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการส่งออกที่มีปัญหา และการบริโภคและลงทุนในประเทศที่ชะลอลง
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่การเจรจากับประเทศขนาดใหญ่ เช่น ยุโรปอาจประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีแต้มต่อ เช่น การที่สหรัฐพึ่งพาการส่งออกภาคบริการในยุโรปในระดับสูง ทำให้สหรัฐอาจไม่กล้าขึ้นภาษีมากนัก ขณะที่ในจีน มาตรการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนก็จะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจจีนอาจไม่ขยายตัวชะลอลงมาก
ในส่วนของไทย ผู้เขียนมองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะชะลอตัวลงรุนแรง จากภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและสงครามการค้าที่จะกระทบภาคส่งออก โดยคาดว่าในครึ่งปีหลัง GDP จะชะลอแรง ทำให้ทั้งปีขยายตัวประมาณ 1.4% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 2.5% ด้านการส่งออกที่เคยขยายตัวได้เกือบ 10% ในไตรมาสแรกจากการเร่งส่งออกก่อนสงครามการค้าจะปะทุ อาจหดตัวถึงระดับสองหลักในไตรมาส 4 ทำให้ทั้งปีหดตัวประมาณ 3%
ขณะที่การบริโภคและการลงทุนก็จะหดตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดียวกัน ส่วนด้านนโยบายการเงิน ผู้เขียนคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 3 ครั้งในปี 2568 แต่ก็ไม่สามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้มากนัก
ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่บนสมมุติฐานว่า (1) ไทยเจรจากับสหรัฐสำเร็จ และสามารถลดทอนภาษีลงจาก 36% สู่ 15%
(2) ประเทศอื่น ๆ มุ่งเน้นที่จะเจรจากับสหรัฐเป็นหลัก และไม่ตอบโต้ด้วยการขึ้นกำแพงภาษี เพราะหากทำเช่นนั้น อาจนำไปสู่การตอบโต้กันไปมา และทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวรุนแรงระดับ 10% ต่อปีต่อเนื่อง 3-4 ปี และเงินเฟ้อสูงมาก และทำให้เกิดความเสี่ยงสงครามจริง ๆ เช่นเดียวกับยุค The great depression สมัยช่วงปี 1930 ได้
ในภาพใหญ่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวบ่งชี้ว่า สหรัฐกำลังถอยห่างจากการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ดังนี้
1)เร่งเจรจาการค้ากับพันธมิตรใหม่ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป โดยที่ผ่านมา การเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 4 ของไทยหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 จากประเด็นเชิงเทคนิคหลายประการ อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ทั้งสองฝ่ายกลับมาเจรจาอีกครั้ง โดยทางการของทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นให้การเจรจาเร็วขึ้น และอาจจบภายในปลายปีนี้เพื่อทดแทนการค้ากับสหรัฐที่จะลดลง ซึ่งหากการเจรจาประสบความสำเร็จ ผู้เขียนคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปได้ประมาณ 15-20% ในระยะกลาง (3-5 ปี)
ภาพดังกล่าวทำให้สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10-15% ของการส่งออกทั้งหมด ทดแทนตลาดสหรัฐที่จะลดลง นอกจากนั้น รัฐบาลควรเร่งขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐและจีน โดยเฉพาะเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
2)กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยในภาวะที่การค้าระหว่างประเทศเผชิญความไม่แน่นอน การหันมาเน้นการเติบโตจากภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับที่จีนกำลังทำผ่านการกระตุ้นการบริโภคในประเทศและเยอรมนีที่จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ไทยควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ประมาณ 4 ล้านล้านบาท หรือ 22% ของ GDP ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยลงทุนทั้ง
2.1 โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Hard infrastructure) เช่น ระบบราง ถนนและทางหลวง ท่าเรือ (โดยเฉพาะในฝั่งอันดามันที่ทำให้ไทยสามารถส่งออกไป เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปได้ง่ายขึ้น) สนามบิน ระบบบริหารจัดการน้ำและชลประทาน และพลังงานและสาธารณูปโภคอื่นๆ รวมถึงด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคม
2.2 โครงสร้างพื้นฐานเชิงสถาบัน (Soft infrastructure) เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบภาครัฐ ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน ลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ผ่าน Regulatory Guillotine การลงทุนนี้จะเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้น 1.5-2.0% ต่อปี ทำให้ GDP เติบโตรวมเป็น 3.0-3.5% ต่อปี ผ่านผลกระทบทางตรงจากการลงทุนและการจ้างงาน ผลกระทบทางอ้อมจากการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน และผลกระทบเชิงกระตุ้นจากการลงทุนภาคเอกชนที่ตามมา
3)เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์การค้าโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง จากสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้หลายกรณี ตั้งแต่กรณีดีที่สุด (ภาษีสหรัฐลดลงเหลือ 10% ทั่วโลก) ไปจนถึงกรณีฝันร้าย (ทุกประเทศต่างขึ้นภาษีต่อกันคล้ายช่วง The Great Depression) ซึ่งไทยควรมีมาตรการเตรียมพร้อมดังนี้ :
3.1 เร่งเจรจาทางการค้ากับสหรัฐ เพื่อลดทอนผลกระทบจาก Reciprocal Tariffs โดยอาจต้องลดทอนภาษีนำเข้าจากสหรัฐในประเทศไทย และเจรจานำเข้าสินค้าสหรัฐมากขึ้น
3.2 ออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจฉุกเฉินจากทางการไทย โดยเฉพาะจากกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องเร่งเจรจาการค้า กระทรวงการคลังที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อาจต้องพิจารณาลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นและมากขึ้น
เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองโลกกำลังเข้าสู่ภาวะระเบียบโลกใหม่ (New world order) ที่จะยุ่งเหยิงและปั่นป่วน เป็นโอกาสสำหรับไทยที่จะทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หากดำเนินการอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ไม่เพียงแต่บรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าโลก ไทยยังสามารถใช้ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เป็นโอกาสในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งและยั่งยืนขึ้นในระยะยาว
แต่หากทำไม่ได้ ไทยก็จะตกเป็นเหยื่อแห่งสงครามการค้านี้ และยากที่จะฟื้นกลับมาดังเดิม
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ (ผู้เขียน ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์)
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 เมษายน 2568