"ไทย" เตรียมยื่นสหรัฐ ลดดุลการค้าเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ใน 5 ปี
"ไทย" เดินหน้าสร้างสมดุลการค้าใหม่กับสหรัฐตั้งเป้าลดการเกินดุลลง 50% ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันได้ดุล 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มนำเข้าสินค้า ไทยลงทุนเพิ่ม "พิชัย" เผยอาเซียนไม่ใช้มาตรการภาษีตอบโต้
การค้าระหว่างไทยและสหรัฐในปี 2568 ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐประมาณ 45,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ไทยขยับขึ้นเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่เกินดุลการค้าสหรัฐมากสุดในโลกและถูกจับตามอง
ประธานาธิบดีสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร โดยเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกในอัตรา 10% ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.2568 สำหรับไทย ซึ่งได้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเป็น 36% มีผลบังคับใช้วันที่ 9 เม.ย.2568 แต่ก่อนมีผลบังคับใช้ได้ประกาศเลื่อนไป 90 วัน สำหรับประเทศที่ไม่ตอบโต้สหรัฐทำให้ไทยมีเวลาในการเจรจากับสหรัฐเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ให้เหตุผลการขึ้นภาษีไทยอัตราสูงเพราะไทยเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าของสหรัฐในอัตราที่สูงถึง 72% แม้ข้อมูลดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการและอาจเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ตรงประเด็นก็ตาม และล่าสุด ทรัมป์ได้ระงับการขึ้นภาษี 90 วัน สำหรับประเทศที่ไม่ตอบโต้ แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายภาคส่วน รัฐบาลและภาคเอกชนไทยจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขและปรับตัวเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า แนวทางการเจรจาการค้ากับสหรัฐของไทยได้จัดทำเป็นข้อเสนอที่จะเสนอให้สหรัฐ ผ่านทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) โดยเน้นวางกรอบแนวทางความร่วมมือกับสหรัฐเพื่อปรับสมดุลความสัมพันธ์ทางการค้ามากกว่าที่จะลดภาษี
ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าลดการเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐลง 50% ภายใน 5 ปี จากในปี 2567 ที่ไทยได้ดุลการค้า 35,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ไทยลดได้ดุลการค้าสหรัฐลงเหลือประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ และมีเป้าหมายสร้างสมดุลการค้ากับสหรัฐภายใน 10 ปี
โดยที่ผ่านมาไทยเกินดุลการค้าสหรัฐถึง 300% ของมูลค่านำเข้าจากสหรัฐซึ่งในส่วนนี้ทำให้ไทยถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐเพราะตัวเลขการเกินดุลการค้าค่อนข้างสูง
สำหรับแนวทางประกอบด้วย 5 เสาหลัก ซึ่งมีรายละเอียดที่จะต้องทำงานต่อในแต่ละด้านค่อนข้างมากได้แก่
(1)ความร่วมมือในธุรกิจอาหารแปรรูปไทยและสหรัฐฯ จะใช้ศักยภาพร่วมกัน โดยเฉพาะการนำวัตถุดิบทางการเกษตรของสหรัฐมาปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ ส่งออกสู่ตลาดโลก รวมถึงยกระดับมาตรฐานเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแปรรูปของภูมิภาค
(2)เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยไทยจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เช่น น้ำมัน LNG อุปกรณ์ไอที เครื่องบิน และผลิตภัณฑ์เกษตรอย่า ข้าวโพดและถั่วเหลือง
(3)เปิดตลาด-ลดภาษีการค้า มีการปรับลดภาษีนำเข้าเฉลี่ย 14% จากสินค้ากว่า 11,000 รายการ(MFN applied rate) พร้อมลดขั้นตอนและอุปสรรคด้านศุลกากร เช่น การเร่งรับรอง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยอยู่ในเกณฑ์เปิดตลาดเพิ่มได้
(4)การยกระดับคุมเข้มกฎหมายการอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า โดยรัฐบาลจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้า-ส่งออก ป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิด พร้อมเร่งรัดการรับรองสินค้าที่ส่งออกจากไทยไปสหรัฐ
(5)ส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนนโยบาย ย้ายฐานผลิตกลับสหรัฐฯ (re-shoring) ของประธานาธิบดีทรัมป์
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทไทย 70 แห่ง ที่ลงทุนรวมกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ และจ้างงาน 1.6 หมื่นตำแหน่ง โดยในระยะต่อไปรัฐบาลไทยผลักดันให้ภาคเอกชนไทยที่มีความสามารถและศักยภาพไปลงทุนในสหรัฐเพิ่มมากขึ้น
“แนวทางนี้จะช่วยให้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ มีเสถียรภาพ และเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อทั้งสองประเทศต่อไป” แหล่งข่าว ระบุ
“อาเซียน” ถกด่วนตั้งรับภาษีสหรัฐ :
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดพิเศษ ผ่านระบบทางไกล กับรัฐมนตรีเศรษฐกิจจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และติมอร์-เลสเต โดยมีนายเตงกู ซาฟรุล เตงกู อับดุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศเป็นประธาน
เพื่อกำหนดแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียนในการรับมือกับนโยบายใหม่ของสหรัฐที่เริ่มใช้มาตรการจัดเก็บภาษีแบบตอบโต้กับหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาค ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานโลก และการดำเนินธุรกิจของเอกชน โดยเฉพาะ SMEs และเกษตรกรของ โดยที่ประชุมใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง
นายพิชัย กล่าวภายหลังการประชุม จากการหารือร่วมกันรัฐนตรีการค้าอาเซียน ที่ประชุมมีความกังวลต่อนโยบายการขึ้นภาษีตอบโต้ของของสหรัฐ โดยเห็นว่าจะกระทบต่อการค้าระหว่างอาเซียนและสหรัฐ ที่มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ อาเซียนได้ยืนยันจุดยืนร่วมในฐานะ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” กับสหรัฐฯ พร้อมเสนอการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ภายใต้กรอบ ASEAN-US Trade and Investment Framework Agreement (TIFA)
ยันเจรจาแลกเปลี่ยนไม่ตอบโต้สหรัฐ :
และ Expanded Economic Engagement (E3) Workplan เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยอาเซียนจะเดินหน้าสร้างความร่วมมือในสาขาศักยภาพสูง เช่น ดิจิทัล AI อาหาร พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมขั้นสูง รถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ สุขภาพ โลจิสติกส์ รวมถึงเกษตรกรรม เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ภูมิภาค
“สมาชิกอาเซียน เห็นตรงกันว่า อาเซียนจะไม่ใช้วิธีการตอบโต้ทางภาษีกับสหรัฐฯเพราะเข้าใจถึงเหตุผลในการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า โดยเน้นแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน แต่จะใช้วิธีการเจรจาที่แตกต่างกัน โดยมี 2 รูปแบบ คือเจรจารายประเทศและเจรจาในนามกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับสหรัฐ “นายพิชัยการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมออกแถลงการณ์ร่วม 8 ข้อ เพื่อกำหนดท่าทีต่อนโยบายทรัมป์ ได้แก่ เน้นความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ อาเซียนมีความกังวลต่อมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐ สนับสนุนการเจรจาแบบพหุภาคี อาเซียนจะร่วมมือเจรจากับสหรัฐ อาเซียนจะปกป้องผลประโยชนอาเซียนเป็นหลัก
รวมทั้งอาเซียนพร้อมร่วมมือผลักดันเศรษฐกิจกับสหรัฐตั้งคณะทำงานASEAN Geoeconomics Task Force ทำหน้าที่ติดตาม ประเมิน และเสนอแนะนโยบายในการรับมือและใช้ประโยชน์จากทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอาเซียน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทั้งระดับรัฐและเอกชน
ส่วนกรณีที่ทรัมป์เลื่อนใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษีกับประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ ไป 90 วัน ทำให้ทุกประเทศมีเวลาเตรียมตัวและสามารถเจรจากับสหรัฐได้
คาดภายในเดือนนี้เจรจา USTR :
นายพิชัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้นตน ได้ติดต่อกับนายจามิสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐในเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน USTR ได้ตอบรับที่จะหารือกับไทยแล้วคาดว่าภายในเดือนนี้ โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างนัดหมายวันประชุม พร้อมยืนยันว่า สิ่งที่ไทยจะนำไปเจรจานั้นเป็นสิ่งที่สหรัฐต้องการซึ่งอยู่ใน 5 มาตรการที่รัฐบาลได้แถลงไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้
ทั้งนี้ สหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้ารวมในปี 2567 ราว 476,800 ล้านดอลลาร์ โดยอาเซียนส่งออกสินค้าสำคัญไปสหรัฐ 5 อันดับแรก คือ ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง รองเท้า เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร และนำเข้าจากสหรัฐ 5 อันดับแรก คือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักร วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และยานยนต์ ชิ้นส่วน และเครื่องยนต์
สำหรับไทย สหรัฐ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 โดยในปี 2567 ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับสหรัฐฯ อยู่ที่ 74,484 ล้านดอลลาร์ ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 54,956 ล้านดอลลาร์ และนำเข้า 19,528 ล้านดอลลาร์ เกินดุลการค้ากว่า 35,427 ล้านดอลลาร์
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 11 เมษายน 2568