เอกชนเร่งปั๊มส่งออก ก่อนเส้นตาย 90 วันภาษีตอบโต้ทรัมป์
ส.อ.ท.เผยผู้ส่งออกไทยเร่งเพิ่มกำลังผลิต ส่งออกช่วง 90 วันก่อนสหรัฐฯ บังคับใช้ภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบ ผู้ส่งออกข้าวเผยเทรดเดอร์สหรัฐฯ สั่งซื้อเพิ่ม 2-3 เท่า แนะเอ็กซิมแบงก์ตั้งวงเงินช่วยเหลือเพิ่ม 1.5 เท่า ขณะที่ WHA เผยนักลงทุนจีนรายใหญ่เดินหน้าลงทุนในไทย
ภาคธุรกิจไทยกำลังเร่งปรับตัวหลังสหรัฐฯ ประกาศชะลอการปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้รายประเทศออกไป 90 วัน ขณะที่ยังคงเก็บภาษีชั้นต่ำทุกประเทศเพิ่ม 10% ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย
ส่งออกไทยเร่งรับออเดอร์ช่วง 90 วัน :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การชะลอการปรับขึ้นภาษีออกไป 90 วัน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีเวลาในการตั้งรับมากขึ้น แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนหลังครบกำหนดระยะเวลาผ่อนปรน โดยก่อนหน้านี้หลายโรงงานมีการวางแผนลดคนงาน ลดกำลังการผลิต แต่ในช่วง 90 วันนี้ ต้องมีการรับออเดอร์ให้ได้มากที่สุด มีการเพิ่มกำลังการผลิต มีการนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพราะไม่มั่นใจว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

ประธาน ส.อ.ท. มองว่า ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสของไทยและทุกประเทศที่เป็นฐานการผลิต เนื่องจากจีนเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้รับการผ่อนปรน โดยสหรัฐฯ ยังคงเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 145% ทำให้อัตราภาษีแตกต่างกันมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น นอกจากนี้ ไทยยังได้เปรียบเวียดนามเนื่องจากถูกจัดเก็บภาษีน้อยกว่าประมาณ 10% (ไทย 36% เวียดนาม 46%)
“นี่คือภาพแรกที่อาจเกิดขึ้น ไทยยังโดนเก็บภาษี 36% เวียดนามโดน 46% จีนโดน 145% ไทยจะได้แต้มต่อจากเวียดนาม 10% และจีนมากกว่า 100% ซึ่งอาจจะทำให้ไม่มีการย้ายฐานการผลิต” นายเกรียงไกรระบุ
อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาส่งผลให้นโยบายเปลี่ยนแปลงเป็นการเจรจารายประเทศ เช่น ลดภาษีให้เวียดนาม เหลือ 25% แต่ไม่ลดภาษีให้ไทย ก็จะทำให้ไทยเสียเปรียบ
แนะเอ็กซิมแบงก์ตั้งวงเงินช่วยผู้ส่งออกเพิ่ม :
ด้านแผนการรับมือ นายเกรียงไกรกล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนจะวางแผนและหารือกับภาครัฐคือ การให้เอ็กซิมแบงก์ตั้งวงเงินช่วยผู้ประกอบการในการส่งออก เนื่องจากช่วงนี้ผู้ประกอบการอาจต้องซื้อวัตถุดิบมากและต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมาก เพื่อรองรับออเดอร์ในช่วง 90 วัน
“เอ็กซิมแบงก์น่าจะต้องตั้งวงเงินช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น โดยอย่างน้อยต้องตั้งเผื่อไว้ให้ทุกรายอีก 1 เท่าตัวจากวงเงินเดิม หรืออาจจะเพิ่มเป็น 1.5 เท่า” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งนำเข้าและส่งออกในช่วงนี้คือ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯ ยกเว้นภาษีนำเข้าเพียง 20 รายการจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาร์ทโฟน แผงโซลาร์ แท็บเล็ต และเซมิคอนดักเตอร์
WHA เผยนักทุนยังมั่นใจลงทุนในไทย
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยว่า จากการสอบถามข้อมูลกับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีการทำสัญญาจอง (LOI) ไว้ล่วงหน้ากว่า 200 ราย พบว่ามากกว่าครึ่งยังคงสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยต่อไป
“เท่าที่สอบถามจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังมีแผนลงทุนในไทยต่อ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีลูกค้าจีนรายใหญ่ที่ต้องการที่ดินมากกว่า 500 ไร่ ส่วนลูกค้าเดิมที่มีการลงทุนในนิคมฯ อยู่แล้วก็ไม่ได้มีท่าทีที่จะออกหรือย้ายการลงทุนไปประเทศอื่น” นางสาวจรีพรกล่าว
ลูกค้าชาวจีนจากการอัปเดตเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 ยังยืนยันที่จะเดินหน้าลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากหากเทียบอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เก็บจากจีน 145% เทียบกับเวียดนาม 46% และไทย 36% ไทยยังคงได้เปรียบอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานผลิตไปยังประเทศที่ถูกคิดภาษีที่ถูกกว่า เช่น แถบอเมริกาใต้ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และต้องใช้เวลาในการสร้างโรงงานประมาณ 2-4 ปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ทรัมป์อาจหมดวาระแล้ว
ผู้ส่งออกเร่งส่งสินค้าออกก่อนถูกเก็บภาษี
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเร่งส่งออกสินค้าตามออเดอร์เก่าที่ค้างไว้ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมาก โดยสินค้าต้องไปถึงสหรัฐก่อนวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 เพื่อจะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้า 10%
ปัญหาคือ เรือสินค้าที่เดินทางไปท่าเรือชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาเดินทาง 50 วัน ผู้ประกอบการต้องนำสินค้าลงเรือไม่เกินวันที่ 10-15 พฤษภาคม 2568 เพื่อที่จะได้เสียภาษีนำเข้าเพียง 10% ส่วนผู้ส่งออกไปยังชายฝั่งตะวันตกต้องนำสินค้าลงเรือไม่เกินวันที่ 25 พฤษภาคม 2568
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางผู้เข้าสหรัฐฯ มีการต่อรองให้ผู้ส่งออกไปลดราคาสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯลง เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ออ่นค่า และยังไม่ความไม่ชัดเจนในราคาสินค้าที่จะนำไปขายในสหรัฐฯ หรือภาษีที่ต้องจ่าย
เทรดเดอร์ ฉวยจังหวะทอง เร่งตุนข้าวไทย
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การที่ทรัมป์ขยายระยะเวลาการขึ้นภาษีศุลกากรออกไปอีก 90 วัน ทำให้เกิดความไม่แน่นอน ซึ่ง “การค้า” เกลียดความไม่แน่นอนมากที่สุด
โดยขณะนี้ทางเทรดเดอร์บริษัทผู้นำเข้าสหรัฐอเมริกา ฉวยจังหวะช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงรอยต่อ 90 วัน เร่งสั่งนำเข้าข้าวไทยให้มากที่สุด จากปกตินำเข้า 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ก็ต้องการนำเข้าเพิ่ม 20-30 ตู้ ทางฝ่ายผู้ส่งออกก็ต้องชั่งใจว่าที่ฝั่งผู้ซื้อถึงเวลาจ่ายเงินทันไหม แต่ปัญหาของไทยตอนนี้ คือเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะทรัมป์ทำให้ความมั่นใจในเงินดอลลาร์สหรัฐตกต่ำลง
เมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนาม ซึ่งส่งข้าวไปสหรัฐฯ ปีละ 3 หมื่นตัน ขณะที่ไทยส่งออกปีละ 8 แสนตัน จึงเห็นได้ว่าเวียดนามไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับไทย และการที่จะให้ผู้ส่งออกไทยไปหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องยาก เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดพรีเมียม
กนอ.ห่วง 80 สินค้าได้รับผลกระทบ :
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ล่าสุด กนอ. ได้สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการต่อกรณีที่ไทยจะถูกเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ที่ 36% ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายยืนยันถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยสินค้าส่งออกกว่า 80 ประเภทจะได้รับผลกระทบ เช่น อะไหล่เครื่องจักร ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ อุปกรณ์กีฬา เคมีภัณฑ์ ผ้าเบรก แม่พิมพ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก และอลูมิเนียม
จากการสำรวจ มูลค่าความเสียหายของผู้ประกอบการมีตั้งแต่ระดับหลักล้านถึงพันล้านบาท เช่น ผลกระทบสูงสุดกว่า 1.7 พันล้านบาท, รายได้ลดลงกว่า 600 ล้านบาทต่อปี, ขาดทุนโดยตรง 3,000 ล้านบาท และขาดทุนทางอ้อม 2,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการหลายรายระบุว่า อาจต้องย้ายฐานการผลิตออกจากไทย หรือต้องปิดกิจการหากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ
“กนอ. ได้ประเมินผลกระทบ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ มี 4 เรื่องหลัก ได้แก่
1)ส่งเสริมตลาดทางเลือกใหม่/จับคู่ธุรกิจ
2)ให้ข้อมูลภาษี/กฎหมายระหว่างประเทศ
3) สนับสนุนเงินทุน หรือสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในประเทศ และ
4)ช่วยเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศ หรือพาณิชย์” นายยุทธศักดิ์กล่าว
โอกาสของธุรกิจไปรษณีย์และอีคอมเมิร์ซ :
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) เปิดเผยว่า มาตรการภาษีของทรัมป์ทำให้รูปแบบการนำเข้าและส่งออกเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับไปรษณีย์ไทย “เช่น จีน จากเดิมส่งสินค้าไปยังประเทศอเมริกา แต่ตอนนี้รูปแบบการขนส่งไม่เหมือนเดิมแล้ว ไปรษณีย์ไทยจะเน้นจุดที่ถูกเปลี่ยนผ่านการขนส่งด้วยการออกแคมเปญเข้ามาสนับสนุน” นายดนันท์กล่าว
สำหรับสินค้าที่ซื้อผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ คาดว่าปริมาณในการส่งสินค้าจะมีจำนวนมากขึ้น ไปรษณีย์ไทยจึงเตรียมประสานงานกับตัวแทนของเทมู (แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากประเทศจีน) เพื่อนำสินค้าที่ซื้อขายผ่านออนไลน์เข้ามาใช้ช่องทางไปรษณีย์
คาดการลงทุนชะลอตัวถึงสิ้นปี :
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ เลขาธิการสมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งเอเชียแปซิฟิก (FARPA) กล่าวว่า การเลื่อนจัดเก็บภาษีตอบโต้ออกไปนั้น จะส่งผลให้ภาคการลงทุนชะลอการลงทุนยาวต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้ประเมินสถานการณ์ได้ยาก หากภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบ มีการส่งออกลดลง ผลิตน้อยลง ลดการจ้างงาน คนก็จะขาดรายได้ กำลังซื้อก็ลดลง จะกระทบเป็นห่วงโซ่อุปทาน
อย่างไรก็ดี เขามองว่าไทยควรใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส ด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาภาคเกษตรและอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม หันไปเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่ผลิตน้อยแต่ทำรายได้สูง เพิ่มการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับโปรดักทิวิตี้ และเน้นจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวและซอฟท์พาวเวอร์
รัฐบาลส่งทีมเจรจาสหรัฐฯ 23 เม.ย. :
สำหรับการเดินทางเจรจาการค้ากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาของทีมไทยแลนด์ นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา และ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ มีคิวเข้าพบกับนายสก็อตต์ เบสเซนต์ ในวันที่ 23 เม.ย.นี้
นายชัย วัชรงค์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับทีมไทยแลนด์เพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนเดินทางเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องแนวทางการนำเข้าสินค้าเพื่อลดการขาดดุลการค้าในสินค้าที่จำเป็น โดยที่ผ่านมาได้คุยกันบ้างถึงแนวทางการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ว่าจะมีตัวไหนบ้างที่ซื้อแล้วเป็นประโยชน์กับเรา เช่น กากถั่วเหลือง ที่ไทยต้องนำเข้า 3-4 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากบราซิลก็อาจพิจารณาไปนำเข้าจากสหรัฐฯ บางส่วน หรือข้าวโพด ที่ต้องนำเข้าเช่นเดียวกัน
ในส่วนของสินค้าปศุสัตว์ ไทยสามารถพิจารณานำเข้าเนื้อวัวระดับพรีเมียมจากสหรัฐฯ ได้เพิ่มเติม เนื่องจากเนื้อวัวเกรดสูงส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังอาจพิจารณานำเข้าพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์วัวจากสหรัฐฯ เพื่อยกระดับคุณภาพวัวเนื้อในประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้แทนการค้าไทยมองว่าไม่ควรนำเข้าเนื้อหมูในขณะนี้ เพราะจะกระทบต่อตลาดในประเทศ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 18 เมษายน 2568