สารพัดปัจจัยลบกระทบ "ค้าปลีก" สินค้าจ่อ "ขึ้นราคา" ซ้ำเติมกำลังซื้อ
อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาท เผชิญมรสุมลูกใหญ่ทั้งเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ทำให้ลูกค้าต่างระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่เศรษฐกิจโลกซบเซา โดยเฉพาะ "จีน" ยังไม่ฟื้นตัวเร็วตาม
ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาเยือนไทยต่ำเป้าหมาย กระทบต่อภาคค้าปลีกไทยเช่นกัน ปัจจัยลบยังถาโถมอย่างต่อเนื่องทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหว สงครามการค้า นโยบายทรัมป์ 2.0 ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 36% ซ้ำเติมความเชื่อมั่น
อธิพล ตีระสงกรานต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมกำลังซื้อไตรมาสแรก ชะลอตัวลง สะท้อนจากยอดขายของฟู้ดแลนด์ หดตัว 10% และจากสถานการณ์รุมเร้าต่างๆ ยังประเมินไม่ได้ว่าตลาดหลังจากนี้จะกลับมาฟื้นตัวช่วงเวลาใด
จากปัจจัยที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ในปี 2568 “ฟู้ดแลนด์” ได้ชะลอแผนขยายสาขาขนาดใหญ่ ส่วนสาขาขนาดเล็ก เปิด 2 สาขาตามแผนเน้นทำเลคอนโดมิเนียม ปัจจุบัน ฟู้ดแลนด์ มีสาขาเปิดให้บริการรวม 24 สาขาทั่วประเทศ
“สหรัฐเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทย กระทบการค้าทั่วโลก ทำให้บริษัทอาจพิจารณานำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น ในยุโรป ออสเตรเลีย พร้อมร่วมดูแลต้นทุนภายในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
ขณะที่ สมหวัง เดชศิริอุดม กรรมการผู้จัดการ เล้งเส็ง กรุ๊ป ค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ใน จ.สกลนคร กล่าวว่า ภาพรวมกำลังซื้อเดือน เม.ย. อยู่ในภาวะทรงตัว ลูกค้าระวังการใช้จ่ายสูง จากเศรษฐกิจชะลอตัว ความไม่แน่นอนภายนอกประเทศทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การเตรียมปรับขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐมาไทย แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครคิดมาก่อนสร้างกังวลให้คนในประเทศ
“เศรษฐกิจไทยนับจากนี้ไปอาจจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ เพราะไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้น รวมถึงมีสินค้าอีกหลายรายการที่เตรียมปรับขึ้นราคา ทั้งกาแฟสำเร็จรูป โกโก้ เป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องจากช่วงต้นปีมีการปรับขึ้นราคาไปแล้ว 8-10% ของแบรนด์กาแฟสำเร็จรูปในตลาด ตามต้นทุนตลาดโลกที่สูงขึ้น”
ปัจจัยในประเทศยังต้องติดตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลงหรือไม่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจโดยรวม แนวโน้มค่าแรงจะทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้น เป็นต้นทุนที่กระทบต่อผู้ประกอบการ รวมถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รอบใหม่จะเป็นอย่างไร ส่วนภาพรวมการแข่งขันค้าปลีกต่างจังหวัดรุนแรงต่อเนื่อง รายใหญ่รุกขยายสาขาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นเพราะเป็นตลาดที่สำคัญมีฐานประชากรจำนวนมาก
สำหรับ “เล้งเส็ง” เน้นบริหารความเสี่ยงของธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ เพื่อให้กระบวนการทำงานมีความคล่องตัว เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น “ลีน” ธุรกิจให้ได้มากที่สุด ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ใช้ ดาต้า อะนาไลซิส ประเมินลูกค้าและนำเสนอสินค้าต่างๆ ให้ตรงกลุ่มมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันลูกค้าหลักจะเป็นผู้ประกอบการ B2B
ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายปัจจัยเข้ามากระทบภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย ทั้งภาษีทรัมป์ เหตุการณ์แผ่นดินไหว
“แม้จะมีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน แต่ที่ผ่านมาคนไทยผ่านวิกฤติมาหลายครั้งแล้ว จึงเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะปรับตัวดีขึ้นได้ แต่อยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินการ คือการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดทุน และ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ”
ทางด้าน มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธาน กรรมการผู้จัดการบริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่ในจ.อุดรธานี กล่าวว่า กำลังซื้อไตรมาสแรกที่ผ่านมาเข้าขั้นแย่มาก สินจำเป็นไม่ดี ทำให้ช่วงที่เหลือของปีผู้ประกอบการร้านค้าต้องประคองตัวในการค้าขาย
"ความคืบหน้าโครงการเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต เฟสใหม่ ที่จะกระตุ้นกำลังซื้อคนรุ่นใหม่ยังไม่มีความชัดเจน ครึ่งปีหลังสถานการณ์กำลังซื้อไม่ไหว ก็ต้องไหว แผนรับมือของร้านค้าที่ไม่มีเงินมากนัก แต่ก็ต้องอัดโปรโมชัน การสต๊อกสินค้าคงคลังต้องลด ประคองจนกว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย ตอนนี้ยอดขายสินค้าจำเป็นตกทุกตัว หวังว่าจะเชิดหัวขึ้นในระยะยาว แสงสว่างปลายอุโมงค์ตอนนี้ต้องทำธุรกิจตัวเองให้แข็งแรง ทำใจต้องสู้ และหวังว่ารัฐจะเลิกทำเพื่อตัวเอง หันมาทำเพื่อประชาชน แก้ไขปัญหาปากท้อง”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 เมษายน 2568