รัฐบาล wait & see ยิ่งล่าช้าเศรษฐกิจยิ่งเสี่ยง
สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ เมื่อสหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นในอัตรา 36%
ซึ่งเป็นอัตราที่สูงอย่างมีนัยสำคัญและส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย ในขณะที่รัฐบาลเลือกใช้นโยบาย “รอดูท่าที” (wait and see) ในการเจรจากับสหรัฐ ซึ่งตั้งคำถามว่าจังหวะก้าวเช่นนี้คือทางออกที่เหมาะสมหรือไม่ ในภาวะที่ผู้ประกอบการไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักและหลายชาติเดินหน้าเจรจากับสหรัฐ
การรอคอยในสถานการณ์เร่งด่วนเช่นนี้อาจนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงเกินกว่าจะเยียวยาในภายหลัง เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐที่มีสัดส่วน 19% ของมูลค่าการส่งออกรวมของประเทศ ผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นถึง 36% จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อผู้ผลิต ผู้ส่งออก แรงงาน และท้ายที่สุดคือเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาจะทำให้สินค้าไทยถูกแทนที่ด้วยคู่แข่งจากประเทศอื่นที่ไม่ถูกกำแพงภาษีในระดับเดียวกัน
วันที่ 7 ก.ค.2568 เป็นวันที่ครบกำหนด 90 วัน ของการเลื่อนการบังคับใช้อัตราภาษีนำเข้าใหม่ นับดูแล้วประเทศไทยเหลือเวลาประมาณ 60 วัน สำหรับการเจรจากับสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเชิงรุกมากกว่าการรอดูท่าที จำเป็นต้องนัดเข้าเจรจาอย่างจริงจังกับสหรัฐ เพื่อบรรเทาอัตราภาษีที่จะถูกจัดเก็บ พร้อมกับการวางแผนรองรับในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ การหาตลาดทดแทน หรือการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อลดต้นทุนและรักษาความสามารถในการแข่งขัน
ขณะเดียวกันภาครัฐควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างกว้างขวาง เช่น กลุ่มเกษตรกร เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง และเป็นการสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยมีความพร้อมและจริงจังในการแก้ไขปัญหา ความล่าช้าในวันนี้อาจหมายถึงการสูญเสียโอกาสจากการที่ประเทศคู่แข่งสามารถบรรลุการเจรจากับสหรัฐได้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าประเทศได้บรรลุการเจรจาได้
นอกเหนือจากการส่งออกที่มีทิศทางแย่ลงในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 ในด้านการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวสุดท้ายกำลังมีปัญหาจากจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เศรษฐกิจไทยจึงมีความเสี่ยงอย่างยิ่ง ในขณะที่รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวออกมาที่ชัดเจน ความล่าช้าเชิงนโยบายย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหญ่หลวงในระยะต่อไป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 5 พฤษภาคม 2568