"เจรจาให้แม่น ปรับตัวให้เร็ว" คาถาส่งออกไทยฝ่าวิกฤต "ภาษีทรัมป์"
บิ๊กเอกชนชี้ 4 ปีนโยบายภาษีทรัมป์ ไทยไม่เพียงแค่ต้องรอดจากวิกฤต แต่ต้องใช้โอกาสนี้สร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน แนะตั้งรับอย่างมีชั้นเชิง และรุกอย่างมีแบบแผนใน 4 เรื่อง เน้นเจรจาให้แม่น ปรับตัวให้เร็ว
นโยบายการค้าที่แข็งกร้าวของสหรัฐอเมริกาในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังป่วนโลกในเวลานี้ แม้ด้านหนึ่งถูกมองจะเป็นวิกฤตของภาคการส่งออกไทย แต่อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยที่มองเห็นโอกาสเช่นกัน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานอาวุโส หอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วง 4 ปีของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประเทศไทยต้องไม่เพียงแค่ต้องรอดจากวิกฤต แต่ต้อง “สร้างโอกาสใหม่ ๆ” เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการหวนคืนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2568 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภูมิทัศน์การค้าโลก ภายใต้นโยบาย “America First” ที่ชัดเจนและแข็งกร้าวกว่าเดิม ส่งผลให้หลายประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ตกเป็นเป้าหมายของมาตรการทางภาษี โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับประเทศไทยเองก็ไม่พ้นจากแรงกระแทกครั้งนี้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ประกาศใช้มาตรการ Reciprocal Tariffs หรือภาษีศุลกากรแบบตอบโต้กับประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง โดยประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 36-37% ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในภูมิภาค
หอการค้าไทยและศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกรวมของไทยถึง 359,104 ล้านบาท หรือคิดเป็น -1.93% ของ GDP โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังสหรัฐฯ แม้ภาพรวมจะสะท้อนความเสี่ยงที่ชัดเจนแต่หากพิจารณาอย่างรอบด้านนโยบายการค้าของทรัมป์ในวาระที่สองนี้ยังแฝงด้วยโอกาสสำหรับประเทศไทยเช่นกัน
ที่ผ่านมา ภาคเอกชนไทยได้เตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำการบ้านเชิงข้อมูล การหารือกับภาครัฐ และการวางแนวทางการเจรจาแบบทวิภาคีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของและที่สำคัญคือ ภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้อง “ตั้งรับอย่างมีชั้นเชิง และรุกอย่างมีแบบแผน” เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางความไม่แน่นอน ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
(1)การปรับกลยุทธ์ตลาด กระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาสหรัฐฯ วันนี้ภาคธุรกิจควรเร่งสำรวจตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา อินเดีย และประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดหลัก พร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีอยู่แล้วให้เกิดผลเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง
(2)ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในภาวะที่ต้นทุนอาจสูงขึ้นจากภาษีนำเข้า การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนจึงเป็นทางรอดที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยี AI, IoT, ระบบอัตโนมัติ หรือเทคนิคการจัดการสมัยใหม่ ภาคธุรกิจต้องกล้าเปลี่ยน กล้าปรับ และกล้าลงทุนใน “คุณภาพ”
(3)เร่งขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและบทบาทของไทยบนเวทีโลก รัฐบาลไทยควรร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในระดับทวิภาคีและเวทีการเจรจาทางเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ เพื่อแสดงจุดยืนว่าไทยไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่สหรัฐฯ
ควรส่งเสริม
(4)ติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด ควรติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และการค้าระดับโลกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถคาดการณ์แนวโน้มได้แม่นยำ และพร้อมปรับตัวได้เร็วเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง
“วันนี้ ทรัมป์อาจเป็นผู้เปลี่ยนกฎ แต่ผมเชื่อว่าเราเลือกวิธีเล่นได้ แม้นโยบายการค้าภายใต้ทรัมป์ 2.0 จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันภาคส่งออกไทยอย่างชัดเจน แต่ในอีกด้านหนึ่งนี่อาจเป็นบททดสอบเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดของภาคธุรกิจไทยในรอบทศวรรษ การมองภาพใหญ่ให้ชัด เจรจาให้แม่น และปรับตัวให้เร็วจะเป็นคำตอบว่า ไทยจะ “อยู่รอด” หรือ “ก้าวกระโดด” ท่ามกลางเกมการค้าโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง” นายสนั่น กล่าว
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 5 พฤษภาคม 2568