ส.อ.ท.ชี้สหรัฐ จีนถอยสัญญาณดี ห่วงไทยได้ลดภาษีน้อยกว่าเวียดนาม
ส.อ.ท.ชี้การที่สหรัฐและจีนยอมถอยเป็นสัญญาณที่ดี ห่วงหลังพ้น 90 วันไทยได้ลดภาษีน้อยกว่าเวียดนาม แนะรัฐบาลทำการบ้านรอบครอบก่อนเจรจา
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงประเด็นจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ล่าสุดทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงลดภาษีนำเข้าระหว่างกัน (สหรัฐลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนเหลือ 30% จีนลดภาษีให้สหรัฐเหลือ 10%) เป็นระยะเวลา 90 วัน โดยระบุว่า หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นบิ๊กเซอร์ไพรซ์ แต่ในมุมมองของส.อ.ท. และนักธุรกิจมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่เริ่มมีการประนีประนอมกัน
เนื่องจากแต่เดิมยังมองไม่ออกว่าการที่สหรัฐฯเก็บภาษีจากจีนสูงถึง 145% ขณะที่จีนเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ 125% ซึ่งเป็นการตอบโต้ที่ดุเดือด และสะเทือนไปถึงทุกประเทศที่เป็นคู่ค้าว่าจะมีทางออกอย่างไร

โดยมองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ หรือยุทธวิธีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเชี่ยวชาญจากการเป็นนักเจรจา ซึ่งผ่านการคำนวณมาแล้วว่าสินค้าจีนที่ต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐฯจำนวนมาก จะทำให้จีนต้องตกเป็นรองและเร่งมาขอเจรจา
ด้านจีนเองก็มีการคำนวณและทำการบ้านมาค่อนข้างดี โดยมองว่าแม้ตลาดใหญ่ของจีนจะเป็นสหรัฐฯ แต่สินค้าเกือบทุกหมวดต้องนำเข้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้ที่เดือดร้อนคือประชาชนจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น เช่นเดียวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และสินค้าจะขาดตลาด ทำให้ประชาชนต้องออกมาเดินขบวนประท้วงในท้ายที่สุด ทำให้เกิดการวัดใจระหว่างกัน
“จะเห็นได้จากในช่วงแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะกล่าวอยู่เสมอว่านายสิ จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนติดต่อเข้ามาขอเจรจา มีการหารือกันแล้ว เพื่อเป็นการบลัฟ หรือต้องการจะบอกว่าแผนการดังกล่าวประสบความสำเร็จ แต่ท้ายที่สุดจีนก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยมีการขอเจรจา หรือโทรหาทั้งสิ้น จนสหรัฐฯต้องเปลี่ยนมาบอกว่ากำลังรอจีนติดต่อเข้ามาเพื่อขอเจรจา ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายรู้เท่าทันกัน“
ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ในสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน จะทำให้เกิดความตรึงเครียด เพราะเวลาที่ชะลอการตอบโต้ทางภาษีเป็นเวลา 90 วันจะสิ้นสุดลงวันที่ 7 ก.ค. 68 ซึ่งปัจจุบันเหลือแค่ 60 วัน ปัญหาหลังจากนี้คือไทยเองถูกเรียกเก็บภาษีที่ 36% และยังไม่ได้มีการตอบรับวันนัดเจรจาที่ชัดเจน หรือเรียกว่าถูกกดดันทุกประเทศ
อย่างไรก็ดี จากการที่ล่าสุดได้มีการนัดหมายเจรจาของตัวแทนทั้งจากสหรัฐ และจีนในประเทศที่ 3 ได้แก่สวิตเซอร์แลนด์ และผลการเจรจาออกมาด้วยดี เพราะมีข้อสรุปในการลดภาษีดังกล่าว ซึ่งหากเป็นประเทศที่ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรมาก เช่น ญี่ปุ่น เวียดนามจะต้องเข้าไปพบที่ทำเนียบขาว
“การเจรจาในประเทศที่ 3 ใช้เวลาหลายชั่วโมง แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งทำให้ทุกประเทศดีใจ เนื่องจากเป็นบิ๊กเซอร์ไพรซ์ เพราะมีข้อสรุปในระดับต้นคือสหรัฐจะลดภาษีจาก 145% เหลือ 30% ขณะที่จีนจะลดจาก 125% เหลือ 10%”
อย่างไรก็ตาม การลดภาษีนำเข้าดังกล่าวเป็นเพียงแค่ระยะเวลาชั่วคราว โดยจะครบกำหนดในวันที่ 9 ส.ค. 68 ดังนั้น เวลาที่เหลือหลังจากนี้ทั้งสหรัฐและจีนจะต้องมีการทำการบ้านอย่างหนักในรายละเอียดอีกมากที่มีการต่อรองกันอยู่และยังไม่มีคำตอบ เช่น การที่สหรัฐต้องการให้จีนเปิดตลาดให้กับสินค้าและบริการให้มากกว่าที่เป็นอยู่
แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือ สหรัฐไม่ค่อยมีสินค้าที่จะเข้าจีน ยกตัวอย่างเช่น ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) แบรนด์เทสล่า (Tesla) ก็มีฐานการผลิตอยู่ที่จีน อีกทั้งสินค้าของสหรัฐจะเป็นพวกเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่จีนก็จะระบุว่าสหรัฐมีการปิดกั้นการเข้าถึงชิป หรือเทคโนโลยีสำคัญที่จีนต้องการซื้อ
นอกจากนี้ สหรัฐเองก็ต้องการให้จีนเปิดตลาดออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวกับภาคบริการ เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถใช้ไลน์ กูเกิ้ล และเฟสบุ๊กในจีนไม่ได้ ต้องเป็นระบบของจีนเท่านั้น ขณะเดียวกันจีนก็มีการส่งออกติ๊กต๊อก (Tiktok) รวมถึงเตมู (Temu) และแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยที่สหรัฐต้องการให้จีนขาย เพราะถือว่าเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ทั้ง 2 ประเทศต้องไปเจรจากันเพิ่มเติมใน 90 วันนี้ต่อไป
“ภาพรวมถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งหมายความว่ามีการประณีประนอม การเจรจาได้ข้อยุติ และทั้ง 2 ประเทศมีทางลงที่ไม่เสียหน้าทั้งคู่”
นายเกรียงไกร กล่าวงอีกว่า สิ่งที่ต้องติดตามก็คือการเจรจาใน 90 วันจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าบรรยากาศมีการคลี่คลายสำหรับประเทศที่กำลังเจาจรอยู่ เนื่องจากจีนที่ถือว่าเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐยังลดภาษีลงมาเหลือแค่ 30% และประเทศอื่นมีแนวโน้มที่จะได้ปรับลดลงด้วย แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการเจรจาและต่อรอง เพราะแต่ละประเทศก็มีสถานะที่แตกต่างกับจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจและสหรัฐต้องพึ่งพาสินค้าอุปโภค บริโภคส่วนใหญ่จากจีน
“ประเทศอื่นซึ่งไม่ได้มีสถานะแบบจีน จะต้องการบ้านอย่างหนัก เพื่อหาวิธีในการเจรจา รวมถึงประเทศไทยซึ่งขณะที่ยังรอว่าจะได้คิวในการเจรจาเมื่อไหร่ และต้องมีศึกษาจากบทเรียนดังกล่าวเหล่านี้ เพื่อหาจุดที่จะไปต่อรอง เพื่อให้ได้อัตราภาษีที่ลดแล้วดีขึ้นมากที่สุด”
อย่างไรก็ดี หากถามว่ามีความเป็นห่วงไทยอย่างไรบ้างนั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าไม่ได้มีอะไรที่น่าห่วง เพราะยังมีอีกระดับ หรืออีกเทียร์ (Tier) หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงเวียดนามที่ถูกเก็บภาษีนำเข้า 46% อินโดนีเซีย และไทยในภูมิภาคดังกล่าวที่ถูกอ้างจากสหรัฐว่า เป็นทางผ่านให้สินค้าจีนสวมสิทธิ์ ทำให้ในภูมิภาคมีอัตราภาษีที่ถูกเรียกเก็บสูงกว่าภูมิภาคอื่น
ดังนั้น เมื่อจีนได้ลดเหลือ 30% ไทยซึ่งเป็นเพียงระดับรองลงมาก็มีโอกาสที่ดี โดยเชื่อว่าจากระดับ 36% น่าจะได้ปรับลดลงมา แต่จะลดเหลือเท่าไหร่ ยังไม่สามารถระบุได้ในเวลานี้ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ เมื่อได้ลดแล้วหากจะให้ดีที่สุดไทยจะต้องต่ำกว่าเวียดนาม แต่หากเวียดนามเจรจาได้ดี อาจจะได้เรทใกล้เคียงกันในภูมิภาค ก็ยังไม่ได้เปรียบเสียเปรียบ ไทยก็ยังสามารถแข่งขันได้
“สิ่งที่กังวลคือ หากมีการเจรจาแล้วสหรัฐมีการปรับลดภาษีของเวียดนามจาก 46% เหลือ 25-26% ขณะที่ประเทศไทยได้ลดจาก 36% เหลือแค่ 30% หรือลดแล้วยังสูงกว่าเวียดนามจะเป็นสิ่งที่น่ากังวล แต่หากลดเท่ากันก็ไม่มีอะไรที่น่ากังวล หรือลดในสัดส่วนที่ไทยได้ต่ำกว่าก็จะยิ่งเป็นเรื่องที่ดี”
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 13 พฤษภาคม 2568