อัปเดตประเทศไหน เจรจา "ภาษีทรัมป์" แล้วบ้าง ไทยติดกลุ่มรั้งท้าย ยังไม่มีคิว
"สงครามการค้าโลก" ที่มีสหรัฐเป็นผู้ชี้ชะตาและคุมเกมได้ขยายวงลุกลาม หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศใช้อัตราภาษีศุลกากรพื้นฐาน กับประเทศคู่ค้า กว่า 180 ประเทศทั่วโลก ในอัตรา 10% มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2568
ในจำนวนประเทศเหล่านี้ สหรัฐยังประกาศจะเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับกว่า 60 ประเทศ ที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ ในอัตราภาษีตั้งแต่ 11-50% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 แต่สุดท้ายทรัมป์กลับลำ ประกาศชะลอการขึ้นภาษีส่วนนี้ออกไป 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนด ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศได้เจรจาต่อรองกับสหรัฐ
อย่างไรก็ดีล่าสุดสหรัฐอเมริกาได้บรรลุผลการเจรจาข้อตกลงการค้ากับจีน ที่เป็นประเทศที่ได้ดุลการค้ามากที่สุด โดยสหรัฐสร้างเซอร์ไพรส์ ประกาศลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนลงจาก 145% ลงเหลือ 30% ขณะที่จีนจะลดภาษีสินค้าให้สหรัฐ จากอัตรา 125% คงเหลือ 10% เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน นับจากวันที่ 14 พฤษภาคม 2568

เรื่องดังกล่าวสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับประเทศผู้ส่งออกรายอื่น ๆ ที่ส่งสินค้าไปขายในสหรัฐ เพราะหากที่สุดแล้วเขาจะถูกสหรัฐเก็บภาษีตอบโต้ ในอัตราภาษีที่สูงกว่าสินค้าจีน ที่เวลานี้มีความได้เปรียบเรื่องราคาประเทศอื่น ๆ อยู่แล้ว จะยิ่งได้เปรียบมากขึ้นไปอีก
แต่อีกด้านหนึ่งได้จุดประกายความหวังให้ประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ของสหรัฐมองทิศทางสถานการณ์ด้านภาษีที่สหรัฐจะเก็บจากประเทศคู่ค้าจะผ่อนคลายหรือผ่อนปรนมากขึ้น โดยทุกประเทศมุ่งหวังให้สหรัฐลดภาษีลงเหลือในอัตราต่ำเหมือนที่ประเทศจีนได้รับ
ทั้งนี้ก่อนเส้นตาย 90 วันที่สหรัฐได้ชะลอการเก็บภาษีตอบโต้ (รวมถึงไทย) ทุกประเทศต่างต้องเร่งการเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับสหรัฐเพื่อให้ได้รับการลดภาษีในอัตราต่ำสุด
“ ฐานเศรษฐกิจ” อัปเดตล่าสุด ว่าประเทศไหนที่เป็นคู่แข่งสำคัญของสินค้าไทยได้คุยกับสหรัฐแล้วบ้าง โดยมุ่งเน้นไปยังประเทศในเอเชียและอาเซียน
เวียดนาม :
นาย โฮดึ๊ก ฟุค (Ho Duc Phoc) รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้เดินทางไปยังกรุงวอชิงตันดี.ซี. เพื่อหารือกับสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และฮาวเวิร์ด ลัทนิค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐในรอบแรกเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเริ่มต้นการเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคี
ล่าสุดวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา เหงียน ฮ่อง เดียน รัฐมนตรีพาณิชย์ของเวียดนามได้สนทนาทางโทรศัพท์กับเจมีสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่เหมาะสมในเร็ว ๆ นี้
มาเลเซีย :
นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ระบุว่ารัฐบาลสหรัฐตกลงที่จะเจรจากับมาเลเซีย และมีความเป็นไปได้ที่อัตราภาษีศุลกากรจากสหรัฐจะลดลง ซึ่งมาเลเซียได้เปิดกว้างในการเจรจากับสหรัฐทั้งในเรื่องการลดการเกินดุลการค้าของมาเลเซียต่อสหรัฐ และการขจัดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี
อินโดนีเซีย :
เมื่อวันที่ 17 เมษายน คณะผู้แทนรัฐบาลอินโดนีเซียได้เข้าพบเจมิสัน เกรียร์ผู้แทนการค้าสหรัฐ และฮาวเวิร์ด ลัทนิก รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน ในการจะสรุปผลการเจรจาเกี่ยวกับความตกลงทางการค้าภายใน 60 วันข้างหน้า โดยหลังการหารือ อินโดนีเซียประกาศแผนการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐรวมมูลค่าสูงถึง 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมให้สัมปทาน ทางการค้าอื่น ๆ เพื่อแลกกับสหรัฐจะหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ต่ออินโดนีเซีย
ญี่ปุ่น :
ได้มีการเจรจากับสหรัฐสองรอบแล้ว ทั้งนี้นายริโยเสะ อากาซาวะ ผู้แทนการค้าญี่ปุ่นมุ่งหวังให้สหรัฐลดหรือยกเลิกภาษีตอบโต้ที่ 24% เนื่องจากได้สร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและทำให้บริษัทญี่ปุ่นกำลังขาดทุนทุกวันจากภาษีของสหรัฐ จากก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นยังเผชิญกับภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่นไปสหรัฐ
อินเดีย :
ทั้งสองฝ่าย ได้มีการเจรจากันนัดแรกที่อินเดีย โดยเป็นการพบปะกันระหว่าง เจ.ดี.แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐที่ได้เดินทางเยือนอินเดียและได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ซึ่งแวนซ์ ระบุทั้งสองฝ่ายได้บรรลุกรอบอ้างอิงสำหรับการเจรจา ซึ่งถือเป็นบทสำคัญสู่ข้อตกลงสุดท้ายในเร็ว ๆ นี้
ขณะที่อีกหลายประเทศในเอเชียและอาเซียนเพื่อนบ้านของไทยยังไม่มีคิวในการเจรจากับสหรัฐอาทิ
เมียนมา:
ทั้งนี้นายกริช อึ้งวิฑูรย์สถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ระบุการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้เมียนมาของสหรัฐในอัตราสูงถึง 44% จะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมียนมามากนัก เนื่องจากการส่งออกสินค้าของเมียนมาไปสหรัฐมีน้อยมากจนแทบจะไม่มี ดังนั้นเมียนมาจึงไม่ต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มากนัก
สปป.ลาว :
เป็นอีกหนึ่งชาติที่ยังไม่มีคิวที่ชัดเจนในการเจรจากับสหรัฐเช่นกัน ทั้งนี้นายไซบันดิด ลัดโพ รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาวระบุว่า มาตรการภาษีของสหรัฐสร้างความกังวลอย่างมากให้กับภาคการส่งออกของลาว เนื่องด้วยในภูมิภาคอาเซียน ลาวต้องเผชิญกับการขึ้นภาษีศุลกากร(อัตราตอบโต้) สูงมากเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอยู่ที่ 48% โดยเป็นรองเพียงกัมพูชา(จะถูกเก็บภาษี 49%) ทั้งนี้รัฐบาลลาวร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียในแวดวงอุตสาหกรรมจะทำการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างครอบคลุม
ขณะที่ประเทศไทย :
ซึ่งมีตลาดส่งออกอันดับ 1 อยู่ที่สหรัฐอเมริกา โดยในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐสัดส่วนมากกว่า 18% ของการออกส่งในภาพรวม
ล่าสุด (13 พ.ค. 2568) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า การเจรจาภาษีกับสหรัฐ รัฐบาลไทยได้จัดทำข้อเสนอ (Proposal) ในการเจรจาอย่างเป็นทางการของไทยไปยังรัฐบาลสหรัฐแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลกำลังรอระยะเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางเจรจากับสหรัฐ ช่วงระหว่างนี้ ก็มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนของไทยได้หารือกับสหรัฐในหลายระดับนอกรอบ ทั้งการหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ(USTR) และการหารือในระดับรัฐมนตรี
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 14 พฤษภาคม 2568